เชื้ออหิวาฯ ดื้อยาขึ้น โตเร็วขึ้น เพราะโลกร้อน ‘คณะแพทย์ มหิดล’ เผยปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้อหิวาตกโรคระบาดรุนแรงขึ้น
ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เผยแพร่รายงานเรื่อง “อหิวาตกโรค: 7 ระลอกการระบาด 3 ศตวรรษแห่งการต่อสู้ และความท้าทายใหม่จากการกลายพันธุ์ของเชื้อ”
โดยระบุว่าองค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศให้อหิวาตกโรคเป็นภาวะฉุกเฉินครั้งใหญ่ เนื่องจากในปี 2566 มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้น 13% (535,321 ราย) และผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 71% (กว่า 4,000 ราย) โดยเฉพาะในแอฟริกาที่มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นถึง 125% ปัญหาสำคัญคือการขาดแคลนวัคซีนชนิดรับประทานและการเข้าถึงการรักษา
สำหรับในประเทศไทยนั้น ได้เผชิญหน้ากับการระบาดของอหิวาตกโรคมาแล้ว 7 ครั้ง โดยครั้งแรกคือในปี 2363 ทำให้มีผู้เสียชีวิตประมาณ 30,000 คน โดยในสมัยนั้น เรียกว่า “โรคห่า” หรือ “ทรพิษห่า” เนื่องจากเป็นโรคที่ระบาดรุนแรงและมีอัตราการเสียชีวิตสูง
และระลอกล่าสุดนั้น เริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2504 และยังคงดำเนินต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน ซึ่งพบการระบาดเป็นระยะ ๆ ซึ่งทำให้ทางการไทยได้ดำเนินการพัฒนาระบบเฝ้าระวังโรคที่เข้มแข็งขึ้น
อย่างไรก็ดี มีการรายงานการระบาดของอหิวาตกโรคในประเทศไทย พม่า และลาว โดยมีความรุนแรงแตกต่างกัน ในประเทศไทยสามารถควบคุมการระบาดเล็กน้อยได้แล้ว มีผู้ป่วย 4 ราย เป็นคนไทย 2 ราย และพม่า 2 ราย ซึ่งทั้งหมดได้รับการรักษาจนหายดี
ส่วนในเมืองชเวโกโกของพม่า สถานการณ์ดีขึ้น จำนวนผู้ป่วยลดลงจาก 761 รายในปลายธันวาคม เหลือเพียง 40 รายที่กำลังรักษาอยู่ แม้จะดีขึ้น แต่บางเขตใกล้ชายแดนยังคงเป็นพื้นที่เสี่ยงสูงสำหรับผู้ป่วยรายใหม่
ทำให้มีความจำเป็นเร่งด่วนในการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานด้านน้ำ สุขาภิบาล และสุขอนามัย เพื่อป้องกันการระบาดในอนาคตและเสริมสร้างความมั่นคงด้านสุขภาพโลกต่อโรคที่สามารถป้องกันได้นี้
และระบุว่าเชื้ออหิวาตกโรคนั้น ได้มีการกลายพันธุ์เป็นสายพันธุ์ใหม่ BD-1.2 ที่มีความรุนแรงกว่าสายพันธุ์เดิม (BD-2) เนื่องจากมีการกลายพันธุ์ที่ทำให้:
– เชื้อสร้างไบโอฟิล์มได้ดีขึ้น อยู่ในลำไส้ได้นานขึ้น
– ทนต่อสภาพกรดในลำไส้ได้ดีขึ้น
– ดื้อต่อยาหลายชนิด
– หลบเลี่ยงการถูกทำลายโดยระบบภูมิคุ้มกันได้ดีขึ้น
ทั้งนี้มีการรายงานถึงปัจจัยสิ่งแวดล้อมที่ทำให้อหิวาตกโรคระบาดเพิ่มมากขึ้น จากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมีผลกระทบต่อการแพร่ระบาดของอหิวาตกโรค เนื่องจาก:
– อุณหภูมิที่สูงขึ้นช่วยให้เชื้อแบคทีเรียเจริญเติบโตได้ดี
– ปรากฏการณ์ทางธรรมชาติเช่น เอลนีโญและลานีญาส่งผลต่อสภาพอากาศ
– การเปลี่ยนแปลงระดับน้ำทะเลและความเค็มสามารถสร้างสภาวะที่เหมาะสมต่อการแพร่กระจายของเชื้อ
นอกจากนี้การขยายตัวของเมืองและชุมชนที่มีความหนาแน่นสูงส่งผลให้:
– เกิดแหล่งแพร่ระบาดของโรคติดต่อ
– การใช้น้ำร่วมกันในชุมชนเพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อ
ในขณะที่ เหตุการณ์ภัยพิบัติทางธรรมชาติ เช่น น้ำท่วมและแผ่นดินไหว สามารถทำให้:
– สภาพสุขอนามัยในพื้นที่ถูกทำลาย
– ประชาชนต้องอพยพ ทำให้เกิดการรวมกลุ่มในสถานที่ที่มีความเสี่ยงสูง
– ระบบการดูแลสุขภาพได้รับผลกระทบ
ในขณะที่การเดินทางและการขนส่งที่เพิ่มขึ้นทำให้:
– เชื้อโรคสามารถแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็วผ่านการเดินทางทางอากาศ
– การขนส่งสินค้าระหว่างประเทศสามารถนำเชื้อโรคเข้ามาในประเทศได้
สภาพแวดล้อมน้ำมีบทบาทสำคัญในการแพร่ระบาด เนื่องจาก:
– แหล่งน้ำในชุมชนที่ขาดการจัดการด้านสุขาภิบาล
– การปนเปื้อนของเชื้อในแหล่งน้ำธรรมชาติ
พฤติกรรมในการบริโภคอาหารมีผลต่อการแพร่ระบาด เช่น:
– การบริโภคอาหารทะเลดิบหรือกึ่งสุกกึ่งดิบ
– การบริโภคผักและผลไม้ที่ไม่ได้ล้างให้สะอาด
การเข้าใจถึงปัจจัยเหล่านี้จะช่วยในการวางแผนป้องกันและควบคุมการระบาดของอหิวาตกโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม – https://www.facebook.com/CMGrama/posts/pfbid05RUdBLgbYEZfA329dQ5ToXLNroAZgg1fwVYD69n1SKe6t9JnihESZdMGZVN6BAfMl?rdid=rC8vHItACMKH2QXc