
ร้านกาแฟมีส่วน ในการสร้างธุรกิจชุมชน ‘ธปท.’ ชี้ร้านกาแฟที่มีการเปิดพื้นที่สร้างสรรค์ช่วยสร้างความสัมพันธ์ ของคนในชุมชน และแปรเปลี่ยนให้เป็นธุรกิจชุมชนได้
ธนาคารแห่งประเทศไทย เผยแพร่บทความของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ เรื่อง “ร้านกาแฟกับการกระตุ้นการสร้างธุรกิจในชุมชน” โดย ดร. ฐิติ ทศบวร หัวหน้ากลุ่มงานวิจัย สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์
ดร. ฐิติ รายงานว่าธุรกิจในชุมชน เช่น ร้านอาหาร ร้านกาแฟ มีบทบาทในการเป็น “พื้นที่ที่สาม (third place)” ในการพบปะกันของคนในชุมชนนอกเหนือจากที่อยู่อาศัย (พื้นที่ที่หนึ่ง) และที่ทำงาน (พื้นที่ที่สอง) และช่วยเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างคนในชุมชน
แม้ว่าจะมีงานศึกษาพอสมควรเกี่ยวกับผลดีของธุรกิจในชุมชนต่อความสัมพันธ์ของคนในชุมชน แต่ผลของธุรกิจในชุมชนต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการเริ่มธุรกิจใหม่ ยังไม่มีมากนัก
ดร. ฐิติ ได้ทำการศึกษางานวิจัยของ Choi et al. (2024) เรื่อง “Third Places and Neighborhood Entrepreneurship: Evidence from Starbucks Cafés” ซึ่งศึกษาผลของการเปิดร้านกาแฟในชุมชน1ต่อการเริ่มธุรกิจใหม่ และทำการวิจัยเพิ่มเติมจนได้ข้อสรุปดังนี้
1 ในชุมชนที่มีร้านกาแฟเป็น “พื้นที่ที่สาม” อยู่แล้วนั้น การเปิด Starbucks ไม่ได้ส่งผลต่อการเพิ่มอัตราการเริ่มธุรกิจ startup ใหม่แต่อย่างใด ซึ่งเป็นการช่วยยืนยันว่ากลไกการกระตุ้นการสร้างธุรกิจในชุมชนนั้น เกิดจากการสร้าง “พื้นที่ที่สาม” ให้คนในชุมชนได้เข้ามาเปิดธุรกิจใหม่
2 ในชุมชนที่ไม่มีร้านกาแฟอยู่ก่อน การมีสาขาของแบรนด์กาแฟใหม่ที่ไม่ได้เน้นการสร้าง “พื้นที่สังสรรค์” ให้ชุมชนเข้ามาเปิด (เช่น Dunkin Donuts หรือ Dutch Bros) ไม่ได้ส่งผลต่อการเพิ่มอัตราการเริ่มธุรกิจ startup ใหม่ แต่สาขาของแบรนด์กาแฟที่มีลักษณะเป็นพื้นที่สังสรรค์ให้ลูกค้า (เช่น Caribou Coffee) ทำให้เกิดผลคล้ายกับที่พบจากการเปิดสาขา Starbucks
3 ผลของการเปิดสาขา Starbucks ต่อการเริ่มธุรกิจใหม่แปรตามจำนวนคนที่เข้ามานั่งใช้บริการในสาขา กล่าวคือ ยิ่งมีผู้เข้าใช้บริการร้านกาแฟ Starbucks ในสาขานั้น ๆ มากเท่าไหร่ แนวโน้มการเปิดธุรกิจใหม่ในชุมชนนั้นก็จะยิ่งมากขึ้นตามไปด้วย
งานวิจัยชิ้นนี้ ช่วยยืนยันความสำคัญของ “พื้นที่ที่สาม” ในการกระตุ้นการสร้างธุรกิจในชุมชน และเป็นอีกแนวทางในการศึกษาผลของธุรกิจในชุมชนต่อความสัมพันธ์ของคนในชุมชน รวมไปถึงความสำคัญของการออกแบบ “พื้นที่” ให้เหมาะสมกับความต้องการของคนในชุมชน และตอบโจทย์การพัฒนาของชุมชนด้วย