
ส่งท้าย! รัฐบาลไบเดน เคาะมาตรการสกัดรถไฟฟ้าจีน โดยจะเล่นงานแม้กระทั่งซอฟต์แวร์ที่ใช้ภายในรถยนต์ด้วย
รัฐบาลไบเดน ได้สรุปกฎเกณฑ์เกี่ยวกับการปราบปรามซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์สำหรับติดตั้งในรถยนต์ไฟฟ้าของต่างชาติที่รัฐบาลสหรัฐฯ มองว่าเป็นศัตรู เช่น จีน และรัสเซีย ซึ่งอาจส่งผลกระทบในวงกว้างต่อผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ เช่น Ford และ GM รวมถึงผู้ผลิตรายเล็ก เช่น Polestar และแม้แต่บริษัทที่ไม่ได้ผลิตรถยนต์ อย่าง Waymo
กฎเกณฑ์ดังกล่าวครอบคลุมถึงทุกสิ่งที่เชื่อมต่อยานพาหนะกับโลกภายนอก เช่น บลูทูธ ไวไฟ เซลลูลาร์ และชิ้นส่วนดาวเทียม รวมถึงไม่อนุญาตให้ผู้ผลิตรถยนต์จีนทดสอบรถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติบนถนนในสหรัฐฯ
จีน่า ไรมอนโด รัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ กล่าวในแถลงการณ์ว่า “รถยนต์ในปัจจุบันมีกล้อง ไมโครโฟน ระบบติดตาม GPS และเทคโนโลยีอื่นๆ ที่เชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ต ไม่ต้องใช้จินตนาการมากนักก็เข้าใจได้ว่าศัตรูต่างชาติที่เข้าถึงข้อมูลเหล่านี้ได้อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงร้ายแรงต่อทั้งความมั่นคงของชาติและความเป็นส่วนตัวของพลเมืองสหรัฐฯ ได้อย่างไร เพื่อแก้ไขปัญหาด้านความมั่นคงดังกล่าว กระทรวงพาณิชย์ได้ดำเนินการเชิงรุกเพื่อป้องกันไม่ให้เทคโนโลยีที่ผลิตในสาธารณรัฐประชาชนจีน และรัสเซียถูกนำมาใช้ในรถยนต์บนท้องถนนของสหรัฐฯ”
กฎเกณฑ์สำหรับซอฟต์แวร์ต้องห้ามจะมีผลบังคับใช้กับรถยนต์รุ่นปี 2027 ในขณะที่การห้ามใช้ฮาร์ดแวร์จะมีผลบังคับใช้กับรถยนต์รถยนต์รุ่นปี 2030 และจะบังคับใช้กับยานยนต์ขนาดเล็กเท่านั้น โดยยานยนต์ที่มีน้ำหนักบรรทุกรวมมากกว่า 10,000 ปอนด์จะได้รับการยกเว้น ส่งผลให้บริษัทต่างๆ เช่น BYD สามารถประกอบรถบัสไฟฟ้าในแคลิฟอร์เนียต่อไปได้
ทำเนียบขาวระบุว่า การเข้าถึงซอฟต์แวร์ยานยนต์ของจีนถือเป็น “ภัยคุกคามใหญ่หลวง” ต่อสหรัฐฯ เนื่องจากจีนจะสามารถเข้าถึงระบบเทคโนโลยีที่สำคัญและข้อมูลผู้ใช้ได้อย่างไม่จำกัด
“ประธานาธิบดีไบเดน กำลังดำเนินการตามคำมั่นสัญญาของเขาในการรักษาห่วงโซ่อุปทานที่สำคัญของสหรัฐฯ และปกป้องความมั่นคงของชาติ ผ่านกฎเกณฑ์ดังกล่าว ในขณะที่ผู้ผลิตรถยนต์จีน พยายามอย่างแข็งขันที่จะขยายธุรกิจในตลาดยานยนต์ของอเมริกาและทั่วโลก”
ด้านพันธมิตรเพื่อนวัตกรรมยานยนต์ (Alliance for Automotive Innovation) ซึ่งเป็นตัวแทนของ GM, Ford, Volkswagen, Toyota และบริษัทอื่นๆ กล่าวเมื่อเดือน เม.ย. ที่ผ่านมาว่า พวกเขาสนับสนุนเป้าหมายของกฎเกณฑ์ที่เสนอ แต่เตือนว่าห่วงโซ่อุปทานยานยนต์ทั่วโลก “เป็นหนึ่งในห่วงโซ่อุปทานที่ใหญ่ที่สุดและซับซ้อนที่สุดในโลก” จึงไม่สามารถเปลี่ยนชิ้นส่วนได้อย่างง่ายดายโดยไม่เกิดการหยุดชะงัก
Polestar ผู้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้าภายใต้ Geely กล่าวเมื่อเดือน ต.ค. ว่ากฎดังกล่าวจะทำให้บริษัทไม่สามารถจำหน่ายรถยนต์ในสหรัฐฯ ซึ่งรวมถึงรถยนต์ที่ผลิตในเซาท์แคโรไลนาด้วย
ขณะที่ Waymo ซึ่งกำลังวางแผนที่จะใช้ยานยนต์ที่ผลิตโดย Zeekr สำหรับโรโบแท็กซี่รุ่นต่อไป กล่าวว่าบริษัทได้ใช้มาตรการป้องกันเพื่อให้แน่ใจว่ายานยนต์ที่ซื้อสำหรับกองยานของตนมาถึงโดยไม่มีระบบเทเลเมติกส์ที่ติดตั้งโดยผู้ผลิต อย่างไรก็ตาม กฎดังกล่าวอาจขัดขวางแผนการขยายตัวของบริษัทในเครือ Alphabet หากรัฐบาลตัดสินใจห้ามการนำเข้ายานยนต์ Zeekr ภายใต้กฎใหม่
ทำเนียบขาวระบุในเอกสาร FACT SHEET ว่ากฎดังกล่าวห้ามการนำเข้าหรือการจำหน่ายรถยนต์เชื่อมต่อกับภายนอก (Connected Vehicle) โดยนิติบุคคลที่เป็นเจ้าของที่ถูกควบคุมโดย หรืออยู่ภายใต้เขตอำนาจศาลหรือการกำกับดูแลของสาธารณรัฐประชาชนจีนหรือรัสเซีย แม้ว่ารถยนต์เหล่านั้นจะผลิตในสหรัฐอเมริกาก็ตาม”