NewsBeauty Standard มาตรฐานความงาม กับดักความงาม หรือข้ออ้างในการตัดสินผู้อื่น ดร.ณพรรษธ์สรฌ์ เสมสันต์ นักวิชาการอิสระ

Beauty Standard มาตรฐานความงาม กับดักความงาม หรือข้ออ้างในการตัดสินผู้อื่น ดร.ณพรรษธ์สรฌ์ เสมสันต์ นักวิชาการอิสระ

คำว่า Beauty Standard เพิ่งเป็นที่คุ้นหูในสังคมไทยเพื่อใช้เป็นขั้วตรงข้ามกับคำว่า Body Shaming 

 

แก่นหลักของคำ 2 คำนี้ถูกใช้

เพื่อลดแนวคิดที่ว่าคนหน้าตาดีมักได้ประโยชน์หรือมีอภิสิทธิ์เหนือผู้อื่น

 

อีกนัยหนึ่งใช้เพื่อลดการดูถูกผู้อื่นในเชิงรูปลักษณ์หน้าตา หรือลดปัญหาการถูก ‘bully’

 

นอกจากนั้นยังใช้เพื่อล้มล้าง ‘พิมพ์นิยม’ เช่น คนสวยคือคนขาว คนสวยคือคนผอม ต่าง ๆ นานา

 

เอาแค่ย่อหน้าที่เพิ่งพูดมา ทุกอย่างก็ดูย้อนแย้งกันไปหมด คนไทยในที่นี่หมายถึงไทยแท้ที่อาศัยอยู่บริเวณเส้นศูนย์สูตรมาตั้งแต่ไหนแต่ มีอาชีพกลางแจ้ง จะให้ ‘ขาวอมชมพู’ ได้อย่างไร 

 

จะให้ผอม ผอมได้ยังไงในเมื่อมีของให้กินทุกย่างก้าวที่เดินผ่าน ยิ่งผลักดันให้ครัวไทยไปครัวโลก ยิ่งมีการจัดงานแสดงสินค้าเรื่องอาหารให้จับจ่าย เขยิบไปที่ผู้มีอันจะกิน ยิ่งมีการพัฒนามาตรฐานร้านอาหารให้ได้รับรางวัลการันตี ‘ฟู๊ดดี้’ ทั้งหลายยิ่งต้องเร่งเก็บดาว 

 

คนแก่ยิ่งไม่ยอมแก่ เพราะถ้าอายุมากเท่าไหร่แล้วไร้ริ้วรอยได้กว่าเพื่อนวัยเดียวกันถือว่ายัง “สวยไม่สร่าง” 

 

มาแบบนี้แล้วเราจะไปเข้ามาตรฐานความงามได้อย่างไร ถ้าไม่พึ่งตัวช่วย ไม่ว่าจะฉีดผิวขาว เข้าคลีนิคเสริมความงามอัดสารเคมีชะลอวัย ออกกำลังกายลดน้ำหนัก ทำ fasting กันจนหน้ามืดตาลาย ร้ายกว่านั้นคือใช้ยารักษาโรคเบาหวานมาฉีดผิดวิธีเพื่อหวังที่จะผอมสวย

 

คนที่ไม่ได้เกณฑ์ ก็มักจะโดนเหยียด โดนบุลลี่สารพัด อย่างที่เห็นไดัจากข่าวแพร่หลายว่าผู้ที่จิตใจไม่เข้มแข็งพอนั้น อาจป่วยเป็นซึมเศร้า ร้ายไปกว่านั้นอาจจบชีวิตตัวเองลงเพระทนที่จะโดน ‘บอยคอต’ ไม่ไหว

 

เมื่อเกิดปรากฏการณ์ต่าง ๆ เหล่านี้ในสังคม ‘นักเคลื่อนไหว’ หรือ ‘Activist’ ทั้งหลายก็นำคำนี้มาบรรเทาเหตุ

 

2 วงการที่ถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลาย ก็คงเป็นวงการนางงาม และวงการศึกษา 

 

มาถึงตรงนี้ ผู้อ่านคงสงสัยว่า “มาตรฐานความสวย” มาเกี่ยวข้องกับ “การศึกษา” ได้อย่างไร ทั้งที่เป็นเวทีความงาม ก็ความที่จะเน้นหนักไปที่ความโดดเด่นเรื่องสรีระและหน้าตา และในวงการศึกษาก็ควรให้ค่าที่ผลการเรียน

 

ทว่ากลับเกิดกระแสว่าความสวยไม่จำเป็นต้องเห็นกันที่ฉากนอก แต่ควรรวมไปถึงจิตใจ นิสัยและความคิด

 

คนหุ่นดี เบ้าหน้าดีไม่ได้หมายความว่าจะมีดีและดูดีเสมอไป คนน้ำหนักมาก หรือเจ้าเนื้อก็ดูดีและเป็นที่นิยมได้เหมือนกัน 

 

ความ popular ไม่ควรวัดกันที่หน้าตา แต่ควรถูกมองในจุดที่ลึกลงไป

 

ดังนั้นช่วงหลังมานี้ เราจะเห็นคนที่ ”มงลง“ คือคนที่มักตอบคำถามกรรมการด้วยความฉลาดเฉลียว มีมนุษสัมพันธ์กับเพื่อนผู้เข้าประกวด รวมไปจนถึงคนที่มีความสามารถมากกว่าการยิ้มหวานประทับใจ

 

ถึงกระนั้นในหลาย ๆ เวที ก็ยังมีการวิพากษ์วิจารณ์ว่าผู้ชนะ “ไม่สมมง” แห่งเวทีความงาม จะไปสู้ประเทศอื่นที่เค้างดงามตั้งแต่หัวจดเท้าได้อย่างไร

 

และหลายครั้งที่ผู้แทนจากเมืองไทยซึ่งเลือกโดยไม่เอา beauty standard ของโลกมาเป็นเกณฑ์แต่ชนะใจคนไทยทั้งประเทศ ตอบคำถามได้อย่างเฉลียวฉลาด พูดได้หลายภาษา แต่แพ้กลับมา กองเชียร์ที่เคยสนับสนุนก็กลับคำมันเสียดื้อ ๆ ว่าเราสวยไม่เท่าเค้าจะคว้ามงมาได้ไง

 

ตัดภาพมาที่วงการการศึกษาคาดว่าทุกคนต้องรู้จักคำว่า “ดาวคณะ” “เดือนคณะ“ “ดาวมหาวิทยาลัย” และ “เดือนมหาวิทยาลัย” เรื่องราวนี้เป็นประเพณีสืบทอดกันมาทุกยุคทุกสมัย คนได้รับตำแหน่งมักได้รับความสนใจ เป็นที่นิยมที่เอาไปต่อยอดเรื่องอื่น ๆ ได้มากมาย ไม่ว่าจะเป็นการได้รับความเอ็นดูจากเพื่อนฝูงรุ่นพี่รุ่นน้อง แม้กระทั่งจากครูบาอาจารย์ บางทีถึงขั้นได้รับสิทธิ์เว้นวรรคการเข้าเรียนบางครั้งเนื่องจากต้องทำกิจกรรมให้มหาวิทยาลัย บางครั้งคือใบเบิกทางเข้าสู่วงการบันเทิง

 

ปัจจุบันนี้หลายสถานศึกษายกเลิกวัฒนธรรมนี้ไปเป็นที่เรียบร้อย เพราะไม่ต้องการให้นักศึกษาแข่งขันกันทางหน้าตา อยากให้ทุกคนมีความเท่าเทียมกัน

 

แต่นั่นนำมาสู่คำถามว่า “ทุกคนเท่าเทียม” จริงไหม

 

คำตอบที่ผู้เขียนได้คือ “ไม่จริง” เพราะต่อให้ไม่มีเกณฑ์เรื่องความงาม ก็ยังมีเกณฑ์วัดผลทางการศึกษามาแบ่งแยก “คนเก่ง” และ “คนไม่เก่ง” อยู่ดี

 

ตัวอย่างใกล้ตัว ผู้เขียนคุ้นเคยกับนักศึกษาชั้นปีที่ 3 ในมหาวิทยาลัยนานาชาติชั้นนำของประเทศผู้หนึ่ง ซึ่งมีแนวคิดต่อต้าน Beauty Standard และให้ความสำคัญกับการศึกษาเป็นอย่างมาก

 

ถึงกระนั้นด้วยบุคลิกลักษณะที่มีความมั่นใจกอปรกับผลการเรียนที่ถือเป็นแนวหน้าของรุ่น ทำให้ถูกเลือกเป็นตัวแทนของหลักสูตรในหลาย ๆ กิจกรรม

 

แต่กลับคำวิจารณ์ว่าเพราะ “หน้าตาดี” เลยทำให้ได้แสงได้สี ทั้งที่คนเหล่านั้นไม่เคยมาขอดูผลการศึกษาเลยว่าการเรียนได้เกรด A ทุกวิชา

 

และต่อให้ในกลุ่มคนที่ให้ความสำคัญกับผลการเรียน ต่อให้ได้เกรด A เหมือนกันก็มักแข่งขันแก่งแย่งชิงดีอยู่ว่า ใครได้คะแนนมากกว่ากัน ได้มากกว่าเพราะอะไร ได้เพราะตั้งใจเรียน หรือที่บ้านสมบูรณ์พร้อมไม่จำเป็นต้องแบ่งเวลาไปทำงานพิเศษ สามารถทุ่มเทให้กับการเรียนอย่างเต็มที่

 

เพราะถ้าจะเอาแบบให้ทุกคนเท่าเทียมกันจริง ๆ สถาบันการศึกษาก็ไม่ควรมีการสอบวัดผลใด ๆ สถาบันทำหน้าที่สอน เด็กทำหน้าที่เรียน ให้ความรู้เหมือนกัน เด็กมีสิทธิ์เข้าถึงแก่นการเรียนเท่ากัน จะได้คะแนนมากน้อยกไม่ต้องมาวัดกัน ว่าใครได้เกรด 4

 

เพราะต่อให้อยู่ในกลุ่มเด็กเรียนดี ก็ยังไปแบ่งแยกกันต่ออีกว่าได้เกียรตินิยมหรือเปล่า และได้ที่เท่าไหร่

 

กล่าวมาถึงตรงนี้ อาจพูดได้ว่า ต่อให้ยังคงมี beauty standard ต่อไป คนสวย ก็อาจจะเป็นคนถูก bully ได้เสียเอง

 

และต่อให้ไม่มีคำ ๆ นี้ เราก็ยังมี standard อีกมากมายในสังคมไทยที่เอามาแบ่งและแยกคนออกจากกัน

 

ไม่ว่าจะรวยกว่า จนกว่า เรียนสูงกว่า เรียนน้อยกว่า จบสถาบันไหนมา ล้วนแต่เป็น standard ที่เอามาแบ่งแยกได้ทั้งนั้น

 

ดังนั้น การที่จะมานั่งจำกัดความ มานั่งบอกว่า “มาตรฐาน” หรือ “เกณฑ์” ใด ๆ ทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมในแต่ละมิติอย่างไร

 

บางทีเราหากที่ต้องนั่งถามตัวเองว่า เพราะมีคำนั้นมาเป็นเกราะกำบังในการวิพากษ์ผู้อื่น หรือแท้ที่จริงแล้วเราต่างล้วนมีอคติในใจในเรื่องต่าง ๆ และใช้ศัพท์แสงเหล่านั้นมาวิจารณ์เหตุการณ์ทางสังคมอย่างมีหลักการเพื่อปัดคำว่า “เป็นคนขี้นินทา” ให้พ้นตัว 

 

ดร.ณพรรษธ์สรฌ์ เสมสันต์ 

นักวิชาการอิสระ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า