
กทม. หนี้ท่วมดอกเบี้ยวันละ 5.4 ล้าน ‘สก.’ ถาม ‘ชัชชาติ’ ทำไมคณะกรรมการที่ผู้ว่าฯ แต่งตั้งไม่เคยเข้าร่วมการประชุมแก้ไขปัญหาหนี้ BTSC
ในการประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมสามัญ สมัยที่สอง (ครั้งที่ 2) ประจำปี 2568 เมื่อวานนี้ (9 เม.ย. 2568) นภาพล จีระกุล ส.ก. เขตบางกอกน้อย รายงานผลการศึกษาของคณะกรรมการ (คกก.) วิสามัญเพื่อศึกษาปัญหาของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว (บางส่วน) เพื่อศึกษาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายเกี่ยวกับการชำระหนี้ค่าจ้างเดินรถและค่าซ่อมบำรุงของโครงการฯ ทั้งส่วนต่อขยายที่ 1 และ 2
ซึ่งโดยสรุปแล้ว กรุงเทพมหานคร ยังคงมีหน้าค้างชำระบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC อีกกว่า 38,157 ล้านบาท ซึ่งประกอบไปด้วย
– ค่าจ้างเดินรถช่วงฟ้องครั้งที่สอง (มิ.ย. 64 – ต.ค. 65): 12,245 ล้านบาท (อยู่ระหว่างพิจารณาของศาลปกครองกลาง)
– ค่าจ้างเดินรถหลังฟ้องครั้งที่สอง (พ.ย. 65 – ธ.ค. 67): 17,121 ล้านบาท
– ค่าจ้างเดินรถ (ม.ค. – ธ.ค. 68): 8,761 ล้านบาท
ซึ่งกรณีนี้มีความเกี่ยวข้องกับคดีที่ BTSC ฟ้อง กทม. และบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด โดย BTSC ฟ้องศาลปกครองกลาง 2 คดี คือ ค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุงของส่วนต่อขยายที่หนึ่ง (พ.ค. 62 – พ.ค. 64) และส่วนต่อขยายที่สอง (เม.ย. 60 – พ.ค. 64) โดย
คดีที่ 1 ค่าจ้างเดินรถฯ ส่วนต่อขยายที่ 1 (พ.ค. 62 – พ.ค. 64) และ 2 (เม.ย. 60 – พ.ค. 64) ซึ่งศาลปกครองสูงสุดสั่งให้ กทม. และกรุงเทพธนาคมชำระหนี้พร้อมดอกเบี้ย
คดีที่ 2 ค่าจ้างเดินรถฯ ส่วนต่อขยายที่ 1 และ 2 (มิ.ย. 64 – ต.ค. 65) ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองกลางและยังไม่กำหนดวันสิ้นสุดการแสวงหาข้อเท็จจริง
ทั้งนี้ คณะกรรมการวิสามัญเพื่อศึกษาปัญหาโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว มีความเห็นว่ากรุงเทพมหานครควรดำเนินการให้มีความชัดเจนในประเด็นสำคัญต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
– ความชอบด้วยกฎหมายของสัญญาว่าจ้างที่บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ทำกับ BTSC
– ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับภาระหนี้ที่กรุงเทพมหานครมีต่อบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด และวิธีการบริหารจัดการหนี้ดังกล่าวให้เกิดประสิทธิภาพ
– ความจำเป็นในการให้ภาคเอกชนเข้ามาร่วมลงทุนในโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวในอนาคต และรูปแบบที่เหมาะสม
– แนวทางการกำกับดูแลบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ในฐานะหน่วยงานที่กรุงเทพมหานครเป็นผู้ถือหุ้นทั้งหมด ให้ดำเนินการเป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล ความโปร่งใส และตรวจสอบได้
ด้านณภัค เพ็งสุข ส.ก.เขตลาดพร้าว ได้ตั้งคำถามต่อรายงานดังกล่าวใน 5 ประเด็น โดยประเด็นหนึ่ง ณพัคได้ตั้งคำถามถึงคำต่อท้ายรายงานว่า “บางส่วน) ว่าหมายความว่าอะไร เพราะโดยปกติแล้วรายงานของคณะกรรมการนั้น ควรจะเป็นฉบับสมบูรณ์มิใช่หรือ
ซึ่งนภาพลชี้แจงว่า ที่มีการรายงานบางส่วนนั้น เป็นเพราะว่าเรื่องนี้นั้นมีความเร่งด่วน ถ้ารายงานช้ากรุงเทพมหานครจะเสียหาย ก่อนรายงานมีการประชุมมา 7 ครั้ง เมื่อมีประเด็นที่ กทม.ต้องชำระเงินและดอกเบี้ย จำนวน 5.4 ล้านบาทต่อวัน ค่อนข้างเยอะพอสมควร ดังนั้น การรายงานเพียงบางส่วนเกี่ยวกับการชำระหนี้ที่ค้างชำระ หนี้ก้อนแรกมีการชำระไปแล้วกว่า 14,000 ล้านบาท
หนี้ก้อนที่สองคือหนี้ที่ฟ้องอยู่ในศาลอยู่ในขณะนี้ หนี้ก้อนที่สาม ที่ถึงกำหนดแล้ว แต่ยังไม่มีการฟ้อง เหล่านี้เป็นหนี้ที่เกิดจากสัญญาเดียวกัน และศาลพิพากษาแล้วว่าสัญญาที่บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด โดยกรุงเทพมหานครมอบหมายให้ดำเนินการ เป็นสัญญาที่ผูกพันกับกรุงเทพมหานคร ต้องรับผิดร่วมกัน ดังนั้น ถ้าดูจากบรรทัดฐานของหนี้ก้อนแรก แนวทางออกมาไม่น่าจะเป็นทางอื่นไปได้
“ตอนนี้ ศาลยังไม่หยุดที่จะแสวงหาข้อเท็จจริง ถ้าจากนี้ต่อไปอีก 1 ปี วันหนึ่งเสีย 5.400,000 บาท คูณ 365 เท่ากับเท่าไร ดังนั้น จึงรีบรายงานบางส่วนเพื่อให้มีการสรุปแล้วให้ฝ่ายบริหารไปปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย ถ้าไม่เร่งรายงานฝ่ายบริหารจะดำเนินการไม่ได้”
ด้านชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ชี้แจงในที่ประชุมว่า ปัญหานี้ต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างฝ่ายบริหารและสภากรุงเทพมหานคร เนื่องจากการชำระหนี้ทุกบาทต้องได้รับอนุมัติจากสภากทม. ซึ่งที่ผ่านมาได้ดำเนินการมาแล้ว 2 ครั้ง การตั้งคณะกรรมการวิสามัญ จึงเป็นขั้นตอนสำคัญในการหาข้อสรุปที่ชัดเจนก่อนเสนอญัตติเข้าสภา
สำหรับการก่อหนี้ผูกพันในอนาคต เช่น สัญญาจ้างเดินรถหลังจากนี้ นายชัชชาติระบุว่า ต้องให้สภากทม.พิจารณาก่อน เพราะหากผู้ว่าฯ ไปก่อหนี้ผูกพันมูลค่าหลายแสนล้านโดยไม่ได้รับความเห็นชอบ จะกลายเป็นปัญหาทางกฎหมาย
และกล่าวว่าโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวมีความซับซ้อน เนื่องจากอยู่ภายใต้พระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (พ.ร.บ. ร่วมทุน) โดยตามหลักการ เมื่อสัมปทานสิ้นสุดในปี 2572 รถไฟฟ้าทั้งหมดจะกลับมาเป็นของ กทม. และรายได้จะตกเป็นของ กทม. แต่ปัจจุบันมีการจ้าง BTSC เดินรถล่วงหน้าไปถึงปี 2585 ซึ่งเกินกว่ากรอบสัมปทานเดิม ทำให้ต้องพิจารณาตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนต่อไป
ชัชชาติกล่าวเพิ่มเติมว่า ฝ่ายบริหารได้ตัดสินใจจ้างที่ปรึกษาเพื่อพิจารณาด้านกฎหมายและเงื่อนไขของ พ.ร.บ.ร่วมทุน เพื่อหาทางออกที่เหมาะสม โดยเฉพาะในช่วง 5 ปีที่เหลือก่อนสัมปทานจะสิ้นสุด
นอกจากนี้ นภาพล กล่าวถึงชัชชาติว่า คณะกรรมการจากฝ่ายบริหาร 2 คนที่ผู้ว่าฯ แต่งตั้งไม่เคยเข้าร่วมประชุมเลย โดยไม่มีการลาหรือเหตุผล และขอแนะนำว่า หากมีการประชุมครั้งต่อไป ควรทำหนังสือแจ้งลาและระบุเหตุผล เพื่อให้การทำงานเดินหน้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจาก ส.ก. ขาดความรู้เชิงลึกในประเด็นนี้ และต้องการข้อมูลจากฝ่ายบริหารเพื่อร่วมกันหาทางออก