ขอวุฒิสภาทบทวน ร่างกฎหมายอนุญาตให้ใช้อวนมุ้ง ‘ชาวประมงพื้นบ้าน’ ชี้หากมีการอนุญาตจะทำเกิด ความเสียหายทางเศรษฐกิจนับแสนล้านต่อปี
นายปิยะ เทศแย้ม นายกสมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย นายวิโชคศักดิ์ รณรงค์ไพรี นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย นายเหลด เมงไซ น.ส.อัศนีย์ วาฮับ นายแสวง ขุนอาจ นางแช่ม เพ็ชรจันทร์ นายเฉลา คงเจริญ นายกัมพล ถิ่นทะเล นางรจนา ผกา และนายจิรศักดิ์ มีฤทธิ์ ตัวแทนประมงพื้นบ้าน ในฐานะตัวแทนสมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย
เข้ายื่นหนังสือถึงนายมงคล สุระสัจจะ ประธานวุฒิสภา ผ่านนายธนกร ถาวรชินโชติ ประธานอนุคณะกรรมาธิการด้านการประมงฯ และนางอังคณา นีละไพจิตร ประธาน กมธ.การพัฒนาการเมือง การมีส่วนร่วมของประชาชน สิทธิมนุษยชน สิทธิ เสรีภาพ และการคุ้มครองผู้บริโภค เพื่อขอให้สมาชิกวุฒิสภาทบทวนร่าง พรบ.แก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558
โดยระบุว่าการแก้ไขร่าง พรบ. ฉบับดังกล่าว ที่สภาผู้แทนราษฎร์ได้มีมติเห็นชอบไปเมื่อวันที่ 25 ธ.ค. 2567 ที่ผ่านมา ซึ่งอนุญาตให้ใช้อวนขนาดตาถี่ขนาด 3-5 มิลลิเมตรทำการประมงแบบล้อมจับในเวลากลางคืนประกอบแสงไฟล่อในระยะห่างจากชายฝั่ง 12 ไมล์ทะเลนั้น จะส่งผลกระทบต่อทรัพยากรร่วมของประเทศ
ซึ่งการอนุญาตให้ใช้อวนขนาดตาถี่ขนาด 3-5 มิลลิเมตรหรืออวนตามุ้งทำการประมงแบบ “ล้อมจับ” ในเวลากลางคืนประกอบแสงไฟล่อในระยะห่างจากชายฝั่ง 12 ไมล์ทะเล ที่ทางวิชาการสำรวจพบลูกปลาวัยอ่อนอย่างน้อย 65 ชนิด ถือเป็นการเปิดให้ทำได้ตามกฎหมายเป็นครั้งแรก
เพราะตลอดช่วงเวลากว่า 50 ปี ที่ผ่านมาวิธีการทำประมงด้วยการ “ตีวงล้อมจับ” ด้วยอวนประเภทนี้ถูกห้ามมิกระทำมาตลอด เหตุผลเพราะการใช้ “แสงไฟล่อ” แล้ว “ล้อมจับ” ด้วยอวนตาถี่ตามความยาว 1,000 – 2,000 เมตร มีข้อมูลทางวิชาการยืนยันว่าจะจับเอาสัตว์น้ำเศรษฐกิจวัยอ่อนในสัดส่วนสูง ซึ่งอาจทำให้ประเทศไทยสูญเสียผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่ควรได้จริงนับแสนล้านบาทต่อปี
นอกจากนั้นยังจะเป็นอุตสาหกรรมการประมงที่มุ่งตักตวงผลผลิต ตัดวงจรชีวิตห่วงโซ่อาหารในธรรมชาติ และมีข้อมูลงานวิจัยชี้ชัดว่าเขตทะเลระดับ 12 ไมล์ทะเลออกไป เป็นพื้นที่แหล่งกำเนิดของสัตว์น้ำเศรษฐกิจวัยอ่อนหลากหลายชนิด
สมาคมฯ เห็นว่า การตัดสินใจในการบริหารทรัพยากรธรรมชาติโดยไม่อิงบนฐานข้อเท็จจริงทางวิชาการอาจทำให้เกิดความเสียหายทั้งทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างรุนแรง ผู้ได้รับประโยชน์เป็นแค่กลุ่มเล็กๆ แต่เกิดผลกระทบประชาชนทั้งประเทศและกระทบความมั่นคงในอาชีพของชาวประมงกลุ่มอื่นๆอีกทั้ง เมื่อตราไว้ในกฎหมายระดับ “พระราชบัญญัติ” ยิ่งจะทำให้ปรับปรุงแก้ไขความผิดพลาดในอนาคตได้ยาก
จึงขอเรียกร้องให้วุฒิสภา ทบทวนร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 โดยเฉพาะมาตรา 69 และขอให้มีสัดส่วนบุคคลภายนอก ได้แก่ของตัวแทนชาวประมงพื้นบ้าน ตัวแทนองค์กรด้านสิ่งแวดล้อม และตัวแทนนักวิชาการด้านทรัพยากรทะเลชายฝั่งและการประมงเข้าไปด้วย เพื่อให้ผู้มีความรู้เฉพาะด้านได้ทำหน้าที่ให้ข้อมูลที่ถูกต้องตรงไปตรงมากับคณะกรรมาธิการแก้ไขกฎหมายอย่างรอบด้านต่อไป