
ชาวอุยกูร์เป็นปัญหาหรือไม่? ทำไมถึงตกเป็นเป้าของความขัดแย้ง?
เรื่องของชาวอุยกูร์อาจไม่ใช่ปัญหาที่เกิดจากพวกเขาเอง…แต่อาจเป็นผลจากประเด็นทางภูมิรัฐศาสตร์ ชาติพันธุ์ และสิทธิมนุษยชน ซึ่งทำให้เกิดความกังวลในระดับนานาชาติ แต่แน่นอนว่า…เราไม่สามารถตัดประเด็นด้านการเมืองระหว่างประเทศที่ร้อนแรงได้ โดยเฉพาะระหว่างโลกตะวันตกกับจีน หรืออุยกูร์เป็นหนึ่งใน “หมาก” ของการเมือง? วันนี้เราไปเจาะลึกประเด็นร้อนของสังคมกันครับ
ชาวอุยกูร์คือใคร?
ชาวอุยกูร์ เป็นชนกลุ่มน้อยที่เป็นมุสลิมเชื้อสายเติร์กอาศัยอยู่ในเขตปกครองตนเอง ซินเจียง (Xinjiang) ทางตะวันตกของประเทศจีน โดยเป็นกลุ่มคนที่มีภาษา วัฒนธรรม และศาสนาที่แตกต่างจากชาวฮั่นซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ของจีน ซึ่งซินเจียงเองก็เคยเป็นดินแดนอิสระก่อนที่จะถูกรวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของจีนในปี 1949 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่หลายๆประเทศวิวัฒน์เข้าสู่การเป็นประเทศที่ตีด้วยเขตแดนโดยสมบูรณ์
ที่ผ่านมาจีนมองว่าซินเจียงเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญด้วยหลายเหตุผล เช่น ด้านเศรษฐกิจ ที่ซินเจียงเป็นแหล่งรวมทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญ เช่น น้ำมันและก๊าซธรรมชาติ อีกทั้งยังเป็นเส้นทางสำคัญในการดำเนินนโยบาย Belt and Road Initiative (BRI) ที่เป็นนโยบายต่างประเทศเรือธงของจีน นอกจากนี้ยังมองว่าชาวอุยกูร์มีการเคลื่อนไหวในลักษณะที่ต้องการแบ่งแยกดินแดนและมีความคิดสุดโต่งที่ไม่สอดคล้องกับจีน เช่น กลุ่ม East Turkestan Islamic Movement (ETIM) ที่ถูกกล่าวหาว่าเกี่ยวข้องกับการก่อการร้ายและการโจมตีต่างๆในจีน ซึ่งก็เป็นประเด็นถกเถียงเช่นกัน ว่ากลุ่มดังกล่าวเป็นกลุ่มก่อการร้ายจริงหรือเป็นแค่ข้ออ้างของจีนในการใช้ปราบปรามชาวอุยกูร์?
นโยบายของจีนต่ออุยกูร์และซินเจียง (ที่ประชาคมโลกพูดถึง) จึงมีหลากหลายรูปแบบ อาทิ การสนับสนุนให้ชาวฮั่นเข้าไปตั้งถิ่นฐานในซินเจียงเพื่อพยายามกลืนชาวอุยกูร์ให้ปรับตัวเข้ากับวัฒนธรรมและเป็นส่วนหนึ่งของจีน การปราบปรามทางศาสนา เช่นการห้ามสวมฮิญาบ ห้ามไว้เครา การใช้เทคโนโลยีจดจำใบหน้า ไปจนถึงการห้ามสอนภาษาอุยกูร์และห้ามเผยแพร่วัฒนธรรมอุยกูร์ ซึ่งแน่นอนว่านโยบายเหล่านี้ได้นำไปสู่ความกังวลของนานาชาติ โดยเฉพาะโลกตะวันตก ถึงประเด็น “สิทธิมนุษยชน” ที่ชาวตะวันตกยึดเป็นหลักการสำคัญ
นอกจากนี้ยังมีรายงานว่าชาวอุยกูร์จำนวนมากถูกส่งไปยัง “ค่ายปรับทัศนคติ” ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นสถานที่ใช้ล้างสมองและบังคับให้เปลี่ยนวัฒนธรรมและศาสนา โดยที่จีนเองก็อ้างว่าเป็น “ศูนย์ฝึกอาชีพ” รวมไปจนถึงการที่มีรายงานว่าชาวอุยกูร์จำนวนมากถูกบังคับเป็นแรงงานในโรงงานผลิตสินค้าให้บริษัทข้ามชาติ หรือแบรนด์ต่างๆ (แบรนด์ของตะวันตกก็ด้วย) จนกลายเป็นการประณามจากประเทศตะวันตก อาทิ สหรัฐอเมริกาและยุโรป ที่กล่าวหาว่าจีนก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ
ชาวอุยกูร์จำนวนหนึ่ง จึงหลบหนีออกจากจีนและขอลี้ภัยในประเทศต่างๆ รวมถึงประเทศไทย
ถ้ามองกันให้ดี จะเห็นว่า ปัญหาอุยกูร์ เป็นปัญหา “การเมือง” ชนิดหนึ่ง ที่ส่วนหนึ่งเกิดขึ้นจากระบบการจัดสรรเขตแดนประเทศในรูปแบบสมัยใหม่ การขีดเส้นแบ่งประเทศด้วยแผนที่และด้วยอิทธิพลทางการเมืองของชนชาติใดชนชาติหนึ่ง ได้ก่อให้เกิดปัญหาชนกลุ่มน้อยที่เคยเป็นอิสระมาก่อนตกไปอยู่ในการปกครองของประเทศใดประเทศหนึ่งที่มีภาษาและวัฒนธรรมแตกต่างกันอย่างชัดเจนจากคนส่วนใหญ่ จนกลายเป็นปัญหาการกดทับกันทางการเมืองและวัฒนธรรม ไม่น้อยกลายเป็นปัญหาความขัดแย้ง อาทิ ชาวไทใหญ่ในเมียนมา ที่มีวัฒนธรรมและภาษาดั้งเดิมเชื่อมโยงกับชาติพันธุ์ลาว รวมถึงชนกลุ่มน้อยอื่นๆในเมียนมาร์เป็นต้น
จึงกล่าวได้ว่า “ปัญหาอาจจะไม่ได้อยู่ที่ชาวอุยกูร์” แต่มาจากการเมืองและเศรษฐกิจเป็นหลัก ที่ส่งผลต่อไปเป็นการกดขี่ทางชาติพันธุ์ ศาสนา และวัฒนธรรม และกลายเป็นส่วนหนึ่งของประเด็นขัดแย้งกันทางการเมืองระหว่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายใต้ร่มเงาของ “สิทธิมนุษยชน”
ที่ผ่านมาประเทศไทยของเราได้รับชาวอุยกูร์เข้ามาในประเทศ แต่ก็จำเป็นต้องจำกัดพื้นที่ไว้แค่ในบริเวณกักกัน ยาวนานถึง 11 ปึ จนล่าสุดเมื่อไม่กี่วันมานี้ที่ทางการไทยได้ส่งตัวชาวอุยกูร์กลับไปยังจีน จนนำมาซึ่งการวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจากทั้งภายในและภายนอกประเทศ
“เราขอประณามอย่างถึงที่สุดต่อกรณีที่ไทยผลักดันชาวอุยกูร์อย่างน้อย 40 คนกลับประเทศจีน ทำให้พวกเขาต้องอยู่ในประเทศที่ตนไม่มีสิทธิเข้าถึงกระบวนการอันควรตามกฎหมาย อีกทั้งยังเป็นประเทศที่ชาวอุยกูร์เคยถูกข่มเหง บังคับใช้แรงงาน และทรมาน ในฐานะพันธมิตรอันยาวนานของไทย เรารู้สึกตระหนกกับการกระทำนี้ ซึ่งอาจขัดต่อพันธกรณีระหว่างประเทศของไทยภายใต้อนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการทรมาน และอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการบังคับให้หายสาบสูญ…”
นี่คือข้อความบางส่วนของแถลงการณ์กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ ซึ่งสอดคล้องไปในทิศทางเดียวกันกับองค์การสหประชาชาติ EU แอมเนสตี้อินเตอร์เนชั่นแนล และ NGO อีกมากมาย…
รัฐบาลไทย ทำถูกต้องหรือไม่?
เป็นคำถามที่ยากจะตอบ… และคำตอบก็จะต่างกันตามมุมมอง
ถ้ามองในมุมสิทธิมนุษยชน ก็มองได้ว่าทำไม่ถูก เพราะตามกรอบความคิดนี้ ส่งกลับไปก็เท่ากับส่งเขาไปทรมาน แต่ก็เช่นกัน ก็ไม่มีสิ่งใดรับประกันว่าเขาเหล่านั้นจะมีชีวิตอย่างไร “ทั้งดีและแย่” เพราะจีนเก็บเรื่องนี้ไว้เป็นเรื่องลึกลับเสมอมา แต่ก็ต้องยอมรับว่า “สิทธิมนุษยชน” ก็เป็นหลักการที่ตะวันตกสร้างขึ้นหลังสงครามเย็น อีกทั้งยังเป็นเครื่องมือสำคัญในการจัดระเบียบโลกในยุคใหม่ ซึ่งก็มีหลายกรณี ที่สิทธิมนุษยชน ถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองระหว่างประเทศ… งานนี้ต้องวิเคราะห์กันให้ดีๆ ไม่งั้นอาจจะหลงทางได้
ในอีกมุมหนึ่ง แน่นอนว่า การที่ถูกขังไว้ 11 ปี ก็ทรมานไม่น้อยเช่นกัน…
ในฐานะเพื่อนมนุษย์ สงสารอุยกูร์จับใจ ที่ต้องมีชะตากรรมไม่ต่างกับลูกปิงปองที่โดนตบไปซ้ายทีขวาที อยู่ตรงไหนก็ทรมาน
คำตอบของคำถามนี้ จึงตอบได้ยาก และใครจะไปรู้ อาจจะมีอะไรในกอไผ่ ที่ควบคุมไม่ได้ และเราๆยังไม่รู้อีก…ก็เป็นได้
แต่ที่แน่ๆ วันนี้รัฐบาลมีโจทย์ที่ต้องแก้แล้วอย่างแน่นอน โดยเฉพาะการถูกรุมประณามจากประชาคมโลก และการพูดเพียงแค่ว่าเขาเหล่านั้นกลับบ้านไปมีชีวิตที่ดี…อาจไม่เพียงพอ ทางที่ดีรัฐบาลไทยอาจต้องมีบทบาทในการพูดคุยกับจีน ให้มีการเปิดม่านเมืองลับแลแห่งนี้ออก ให้เป็นที่ประจักษ์ว่ากลับไปแล้ว “ชีวิตดี” จริงๆแล้วการที่จีนเก็บเรื่องนี้ไว้เป็นเรื่องลึกลับ ก็ไม่ต่างกับการยอมรับข้อกล่าวหาต่างๆ ที่มาจากโลกตะวันตก
“ดังนั้น การเปิดเผยชีวิตอุยกูร์สู่ชาวโลกอาจจะเป็นผลดีกับทั้งประเทศไทยและจีน”
สุดท้าย สิ่งที่ต้องคิดกันต่อในระยะยาว คือหากเกิดเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นอีก เราจะทำอย่างไร?
หรืออาจจะต้องออกแบบแนวทางกันใหม่ แทนที่จะกักขังไว้ เราทำอะไรอย่างอื่นได้หรือไม่? ที่จะช่วยเพื่อนมนุษย์ในมิติมนุษยธรรม และประเทศไทย ไปได้พร้อมๆกัน
ทิ้งไว้ให้ท่านผู้อ่านช่วยคิดครับ
เอวัง
ร้อยเอก ดร. จารุพล เรืองสุวรรณ
ผู้อำนวยการหลักสูตรมหาบัณฑิตสาขาการทูตและการต่างประเทศ
คณะการทูตและการต่างประเทศ มหาวิทยาลัยรังสิต
ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงระหว่างประเทศ