![](https://thestructure.live/wp-content/uploads/2025/01/รถไฟ-2.jpg)
อนุมัติสร้างรถไฟ ชานเมืองสายสีแดงเข้มแล้ว ครม. อนุมัติการปรับกรอบวงเงินตามที่ ‘ก.คมนาคม’ เสนอ ลดการใช้งบประมาณในโครงการลงได้ 96.42 ล้านบาท
ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันนี้ กระทรวงคมนาคม (คค.) เสนอให้มีการขอทบทวนมติคณะรัฐมนตรีและขอปรับกรอบวงเงินโครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดงเข้ม ช่วงรังสิต – มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.)
ซึ่งแต่เดิม ครม. ได้อนุมัติหลักการของโครงการดังกล่าวเมื่อวันที่ 26 ก.พ. 2562 ในกรอบวงเงิน 6,570.4 ล้านบาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่มร้อยละ 7) ระยะเวลาดำเนินการ 5 ปี ซึ่งในเวลานั้น พรบ. การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 ยังไม่ได้ถูกประกาศใช้
คค. จึงให้ รฟท. ทบทวนแนวทางการลงทุนโครงการฯ โดยพิจารณาการให้เอกชนร่วมลงทุนตามขั้นตอนของกฎหมายดังกล่าวก่อน ซึ่ง รฟท. ได้เปลี่ยนรูปแบบการลงทุนจากเดิมรัฐเป็นผู้ลงทุนทั้งหมด เป็นรัฐลงทุนในส่วนของโครงสร้างพื้นฐานและงานระบบไฟฟ้า ส่วนเอกชนลงทุนในส่วนของการจัดซื้อขบวนรถไฟฟ้าและงานให้บริการเดินรถพร้อมการบำรุงรักษา
ส่งผลให้โครงการฯ เกิดความล่าช้า และกรอบวงเงินของโครงการฯ ได้เปลี่ยนแปลงไป โดยค่างานโยธาและระบบรางเพิ่มขึ้นจากเดิม 3,874.29 ล้านบาทเป็น 4,060.80 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 186.51 ล้านบาท)
อย่างไรก็ตาม โดยที่ค่าใช้จ่ายอื่น ๆ เช่น ค่าจ้างที่ปรึกษาต่าง ๆ ค่างานระบบไฟฟ้าและเครื่องกล ค่าเวนคืนที่ดิน มีค่าใช้จ่ายที่ลดลง ส่งผลให้กรอบวงเงินรวมของโครงการฯ ลดลง จากเดิม 6,570.4 ล้านบาท เป็น 6,473.98 ล้านบาท (ลดลง 96.42 ล้านบาท)
คค. จึงเสนอขอปรับลดกรอบวงเงินรวมของโครงการมาในครั้งนี้ ตลอดจนขอปรับระยะเวลาโครงการฯ จากเดิม 5 ปีเป็น 4 ปี
ทั้งนี้ กระทรวงการคลังสำนักงบประมาณ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาและสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติพิจารณาแล้วเห็นชอบ/ไม่ขัดข้องต่อการปรับกรอบวงเงินโครงการดังกล่าว และได้ตั้งเป้าหมายว่าโครงการนี้จะแล้วเสร็จ สามารถเปิดให้บริการได้ในปี 2571
โครงการฯ เป็นส่วนต่อขยายโครงข่ายจากโครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ช่วงบางซื่อ – รังสิต ที่จะรองรับและอำนวยความสะดวกให้กับประชาชน และนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยที่อยู่ในจังหวัดปทุมธานีในการเข้าสู่กรุงเทพมหานคร ซึ่งจะช่วยลดระยะเวลาในการเดินทางและแบ่งเบาภาระการจราจรทางถนนในการรับส่งประชาชนที่มาจากชานเมืองได้มากยิ่งขึ้น
รวมถึงช่วยเพิ่มขีดความสามารถและประสิทธิภาพของระบบขนส่งทางรถไฟในกรุงเทพมหานครในการเชื่อมโยงกับระบบขนส่งอื่น ๆ เพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการด้านการเดินรถไฟทางไกล รถไฟชานเมือง รวมทั้งรถไฟฟ้าชานเมืองของ รฟท.
โดยจะช่วยประหยัดและลดต้นทุนด้านพลังงานของประเทศ และส่งเสริมการเดินทางด้วยระบบราง ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกให้ประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณรอยต่อของกรุงเทพมหานครกับจังหวัดปทุมธานีให้สามารถเข้าถึงระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ส่งผลให้การบริการด้านการขนส่งสาธารณะเกิดประโยชน์แก่ประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ