กฎหมาย ห้ามตีเด็กผ่านสภาแล้ว ‘กานต์’ ชี้เป็นการป้องกันการทารุณกรรมเด็ก และส่งเสริมให้มีการเลี้ยงเด็กเชิงบวก
กานต์-ภัสริน รามวงศ์ สส. กรุงเทพ พรรคประชาชน แถลงภายหลังจากที่ร่าง พรบ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ฉบับที่. … พ.ศ. … หรือกฎหมายห้ามตีเด็กผ่านสภา ว่าตนเองขอพูดแทนตนเองในอดีต, เด็กในประเทศ และเด็กที่กำลังจะเกิดมาในประเทศนี้ทุกคน
เพื่อการปักหมุดสิทธิของเด็กที่มีมาอยู่แล้วตั้งแต่เกิด และขอแสดงความชื่นชมต่อสภาผู้แทนราษฎรให้ความสำคัญกับประเด็นของครอบครัวและเด็ก ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของสังคม ในการแก้ไขกฎหมายในครั้งนี้
สำหรับร่างกฎหมายฉบับนี้นั้น ณัฐวุฒิ บัวประทุม สส. บัญชีรายชื่อพรรคประชาชน, พรรคประชาชน และคณะทุกคน ภาคประชาสังคม ตั้งใจที่จะผลักดันร่างกฎหมายฉบับนี้เพื่อปิดกั้นช่องโหว่ที่อาจจะทำให้เกิดการทารุณกรรมเด็ก โดยระบุในกฎหมายว่า
“(2) ทำโทษบุตรเพื่อว่ากล่าวสั่งสอนหรือปรับพฤติกรรม โดยต้องไม่เป็นการกระทำทารุณกรรมหรือทำร้ายด้วยความรุนแรงต่อร่างกายหรือจิตใจ หรือกระทำโดยมิชอบ”
ซึ่งจะทำให้เกิดการปรับทัศนคติในการเลี้ยงดูเด็กให้เป็นการเลี้ยงลูกเชิงบวกอันจะก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อเด็ก โดยเน้นเด็กเป็นศูนย์กลางของครอบครัว และเป็นการตอกย้ำบทบาทสำคัญของบิดามารดา และผู้ปกครอง ในการอบรมเลี้ยงดูอย่างสร้างสรรค์ ปราศจากความรุนแรง และเน้นการปกป้องคุ้มครองเด็กในทุกมิติ
อย่างไรก็ตาม การแก้ไขกฎหมายฉบับนี้นั้นยังไม่เพียงพอ เพราะรัฐยังมีภารกิจสำคัญในการสร้างพื้นที่ให้เด็กเติบโตอย่างมีคุณภาพ สามารถเข้าถึงการศึกษาที่ดี ภายใต้สภาพแวดล้อมที่มีความปลอดภัยอย่างเพียงพอ และมีการดูแลสุขภาพกายและใจที่เหมาะสม
อีกทั้งรัฐต้องส่งเสริมสวัสดิการที่อำนวยให้บิดามารดาสามารถเข้าถึงบริการเลี้ยงดูเด็กที่มีคุณภาพได้อย่างครบวงจร เช่น การจัดให้มีศูนย์พัฒนาเด็กเล็กที่เพียงพอ การลาคลอดและลางานเลี้ยงดูบุตรที่เหมาะสม ตลอดจนโครงสร้างพื้นฐานที่สนับสนุนความเป็นอยู่ของครอบครัวในทุกระดับ
และจะต้องส่งเสริมการเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับการเลี้ยงลูกเชิงบวก ซึ่งจะช่วยสร้างความเข้าใจในครอบครัวว่าความรัก ความเคารพ และการสื่อสาร คือหัวใจสำคัญของการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่และลูก เป็นรากฐานของสังคมที่เอื้ออาทร และลดการใช้ความรุนแรง
และก่อนที่จะถึงวันเด็กในปีนี้ ขอให้ระลึก หรือความตระหนัก ในความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกันของเด็ก และผู้ใหญ่ทุกคนในทุกๆ ความสัมพันธ์ของชีวิต
ทั้งนี้ ภารกิจของเรายังไม่สิ้นสุด เรายังคงต้องร่วมมือกันต่อไปในการสร้างระบบที่ปกป้องคุ้มครองต่อเด็กในทุกระดับ ทั้งในด้านกฎหมาย นโยบาย และการเปลี่ยนแปลงความเข้าใจของสังคม
และขอให้วันนี้เป็นหมุดหมายที่ดีในการเปลี่ยนแปลงประเทศ เพื่ออนาคตของเด็ก และทุกคน เพราะเด็กในวันนี้ คืออนาคตของประเทศชาติในวันข้างหน้า