วางยาสลบสัตว์ เสี่ยงทำให้สัตว์เสียชีวิต ‘สัตวแพทยสภา’ จ่อเอาผิดซีรีส์ ‘แม่หยัว’
จากกรณีดราม่า การวางยาสลบแมวในซีรียส์แม่หยัวตอนที่ 5 ซึ่งมีฉากที่แมวชักกระตุกก่อนสลบไป ทำให้เกิดคำถามถึงการเตรียมการ และอาจจะเข้าข่ายการทรมาณสัตว์หรือไม่?
สัตวแพทยสภา โพสต์เฟสบุ๊กเผยแพร่บทความของ ผศ. สัตวแพทย์หญิง ดร.สิริรัตน์ นิยม ผู้อนุมัติบัตรแสดงความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์ สาขาศัลยศาสตร์ และอนุกรรมการฝึกอบรมและสอบความรู้ความชำนาญฯ สาขาศัลยศาสตร์ เมื่อวานนี้ (10 พ.ย. 2567) โดยมีข้อความว่า
“การวางยาสลบในทางสัตวแพทย์เป็นกระบวนการที่ทำให้สัตว์เกิดสภาวะหมดความรู้สึกของร่างกาย การตอบสนองต่อสิ่งเร้าลดลงหรือหมดไป เพื่อเป็นประโยชน์ในการทำหัตถการต่อสัตว์ในการป้องกัน การวินิจฉัยโรค และการรักษาโรคที่สัตวแพทย์ไม่สามารถกระทำในขณะที่สัตว์รู้สึกตัวได้ หรือนำมาใช้ในการจับบังคับสัตว์ที่ควบคุมได้ยากเพื่อการเคลื่อนย้ายสัตว์ เป็นต้น
โดยการให้ยาสลบนั้นมีสิ่งที่จำเป็นต้องคำนึงถึงหลายประการ เนื่องจากฤทธิ์ของยาที่นอกเหนือไปจากการทำให้สัตว์หมดสติแล้วยังมีผลต่อระบบการทำงานของร่างกาย ทั้งระบบประสาท ระบบไหลเวียนโลหิต ระบบทางเดินหายใจ ระบบทางเดินอาหาร และระบบต่อมไร้ท่อ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลข้างเคียงต่อระบบบไหลเวียนโลหิต และระบบทางเดินหายใจ ที่ถูกกดการทำงานมากขึ้น เมื่อระดับการสลบลึกขึ้น ผลข้างเคียงจะแตกต่างกันไปในแต่ละชนิดของยาสลบและยานำสลบที่ใช้
การประเมินสุขภาพสัตว์อย่างละเอียดรอบคอบครบถ้วนสมบูรณ์นั้น จึงเป็นสิ่งที่สัตวแพทย์จะต้องให้ความสำคัญ เพื่อให้ได้ข้อมูลที่เพียงพอ ในการนำมาวางแผนเตรียมตัว ปรับสภาพร่างกายสัตว์ให้มีความพร้อมต่อการรับการวางยาสลบ และเลือกใช้ชนิดยาในการวางยาได้อย่างเหมาะสม ลดโอกาสของการเกิดผลไม่พึงประสงค์ได้
นอกจากนี้พึงตระหนักว่าภาวะแทรกช้อนในการวางยาสลบสามารถเกิดขึ้นได้ตลอดทุกช่วงเวลา ตั้งแต่เริ่มต้นให้ยานำสลบกลุ่ม premedication ขณะเหนี่ยวนำการสลบ ขณะคงภาวะสลบ ไปจนกระทั่งระยะพักฟื้นหรือขณะสัตว์ตื่นจากการสลบ
ดังนั้น การวางยาสลบสัตว์จึงควรดำเนินการ หรือควบคุมการดำเนินการอย่างใกล้ชิดโดยสัตวแพทย์ และควรมีการวางแผนให้มีอุปกรณ์และผู้เฝ้าระวังติดตามสัญญาณชีพของสัตว์ อย่างใกล้ชิดอยู่ตลอดเวลา มีการปรับระดับความลึกของการสลบให้เหมาะสม และมีการเตรียมพร้อมทั้ง
ทางด้านอุปกรณ์ สารน้ำ และเวชภัณฑ์ฉุกเฉิน ที่ทำให้สามารถนำมาใช้แก้ไขปัญหาแทรกช้อนเหล่านั้นได้อย่างทันท่วงที การกระทำที่ไม่รอบคอบหรือไม่มีการวางแผนเตรียมความพร้อมอย่างถูกต้อง หรือการวางยาสลบในสัตว์โดยไม่มีเหตุจำเป็น อาจส่งผลเพิ่มความเสี่ยงให้สัตว์ได้รับอันตรายจนถึงเสียชีวิตได้
—-
ประกาศ ณ วันที่ ๑๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๖๗
โดยคณะผู้บริหารวิทยาลัยวิชาชีพการสัตวแพทย์ชำนาญการแห่งประเทศไทย วาระปี พ.ศ. ๒๕๖๖ – ๒๕๖๘”
—
ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้ ทางสัตวแพทย์สภา โพสต์ข้อความระบุว่าได้รับทราบเรื่องดังกล่าวแล้ว และกำลังดำเนินการตามขั้นตอน