เภสัชกรรมทหาร กับการผลิตสารเสพติด คำอภิปรายสุดแสนหมิ่นเหม่ของ สส.พรรคประชาชน ที่สร้างความเข้าใจผิด และด้อยค่างานการแพทย์ของกองทัพไทย
จากกรณีที่ น.ส.กัลยพัชร รจิตโรจน์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ได้ออกมาอภิปรายเพื่อขอให้ ‘ตัดงบ’ การสร้างโรงงานเภสัชกรรมทหารแห่งใหม่ 938 ล้านบาท ของกระทรวงกลาโหม
โดย สส.พรรคประชาชนรายนี้ อภิปรายมีเนื้อหาที่กล่าวถึง การที่เภสัชกรรมทหารผลิตยาซูโดเอฟีดรีน (pseudoephedrine) และยาอัลปราโซแลม (Alprazolam) ซึ่งใช้รักษาอาการวิตกดังวล โดยโยงว่ายาดังกล่าวถูกเรียกว่า “ยาเสียตัว”
พร้อมกล่าวว่า “หลังๆ ยาชนิดนี้ไม่มีขายเท่าไรเพราะเป็นสารตั้งต้นยาบ้า ยาไอซ์” และนำมาเชื่อมโยงว่า “ไทยส่งออกยาไอซ์สูงสุดอันดับ 1” เพื่อเป็นการทำให้คนรู้สึกว่า ทหารเป็นผู้ผลิตสารทำยาเสียตัวและยาบ้า พร้อมตอกย้ำวาทกรรมว่า “การผลิตยาไม่ใช่ภารกิจของกองทัพ และ “กองทัพทำงานที่ไม่ใช่ธุระ”
การอภิปรายเช่นนี้ทำให้ นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกกระทรวงกลาโหมฝ่ายการเมือง ต้องออกมาตำหนิและตอบโต้ว่าเป็นการกล่าวร้ายประเทศไทยอย่างน่าตกใจ รวมถึงจงใจนำข้อมูลที่ไม่มีความเกี่ยวข้องกัน มาอภิปรายเชื่อมโยงกันให้ประชาชนเข้าใจผิด จนทำให้คนไทยทั้งประเทศไทยเสียหาย
—
รู้จักซูโดเอฟีดรีน
—
ซูโดเอฟีดรีน (Pseudoephedrine) เป็นสารออกฤทธิ์ทำให้เกิดการหดตัวของหลอดเลือด โดยเฉพาะหลอดเลือดในโพรงจมูก หลอดเลือดในท่อที่เชื่อมต่อระหว่างโพรงจมูกและหูชั้นในหรือท่อยูสเตเชียน และหลอดเลือดบริเวณเยื่อหุ้มตาขาว
โดยเมื่อผู้ป่วยมีอาการแพ้หรือเป็นหวัดหลอดเลือดจะขยายตัว ทำให้เกิดอาการคัดจมูก แน่นในหู หูอื้อ ขณะที่ซูโดเอฟีดรีนมีฤทธิ์หดหลอดเลือด จึงทำให้มีผลรักษาอาการเหล่านี้ อาการข้างเคียงของซูโดเอฟีดรีนที่อาจพบได้ ได้แก่ ใจสั่น นอนไม่หลับ และความดันโลหิตเพิ่ม
ซูโดเอฟีดรีนถูกใช้เป็นยารักษาแบบเดี่ยวและแบบยาสูตรผสมมาหลายสิบปี ในยาแก้หวัดคัดจมูกหลายชนิด หลายยี่ห้อ (เช่น ยาแก้หวัดยอดนิยมในอดีตอย่าง Actifed)
แต่เนื่องจากสูตรโครงสร้างทางเคมีของซูโดเอฟีดรีนมีลักษณะคล้ายคลึงกับเมธแอมเฟตามีน (methaphetamine) ซึ่งเป็นสารสำคัญในผลิตยาบ้า ผู้ผลิตยาบ้าจึงนำสารดังกล่าวไปสกัดให้ได้ เมธแอมเฟตามีน
ทำให้เมื่อวันที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2555 กระทรวงสาธารณสุขได้ประกาศให้ตำรับยาทุกตำรับที่มีซูโดเอฟีดรีนเป็นส่วนผสมจัดเป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทประเภทที่ 2 ซึ่งใช้ได้เฉพาะในโรงพยาบาลเท่านั้น ทำให้ปัจจุบันไม่สามารถซื้อหายาที่มีส่วนผสมของซูโดเอฟีดรีนตามร้านขายยาทั่วไปได้อีกต่อไป
—
โรงงานเภสัชกรรมทหาร
—
โรงงานเภสัชกรรมทหาร เกิดขึ้น ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2484 ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เพื่อผลิตยาช่วยเหลือประชาชน และ ทหารในภาวะสงคราม ตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน แม้แต่ช่วงสถานการณ์น้ำท่วมปี 2554 ที่องค์การเภสัชกรรมผลิตยาไม่ทัน โรงงานเภสัชกรรมทหารก็ได้ทำหน้าที่ในการช่วยเหลือองค์การเภสัชกรรม ผลิตยาใช้ในยามวิกฤต
ขณะที่ซูโดเอฟีดรีน (Pseudoephedrine) เป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทประเภทที่ 2 ที่ควบคุมการผลิต และโรงงานเภสัชกรรมทหาร ซึ่งเป็นหน่วยงานในกระทรวงกลาโหม ได้รับอนุญาตให้ผลิตทางการแพทย์ตามกฎหมาย ขณะที่สารชนิดนี้ห้ามขายในร้านขายยาทั่วไปอยู่แล้ว
การที่ น.ส.กัลยพัชร รจิตโรจน์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ออกมาอภิปรายเพื่อเชื่อมโยงให้คนทั่วไปที่ไม่เข้าใจข้อเท็จจริง เข้าใจไปในเชิงว่ากองทัพผลิตสารเสพติด ยาเสียตัว หรือสารทำยาบ้า และโยงเข้ากับว่าไทยผลิตยาไอซ์อันดับหนึ่งของโลก รวมถึงด้อยค่ากองทัพว่าไม่มีหน้าที่ในการผลิตยานั้น นับว่าเป็นการจงใจทำอคติใส่ร้ายกองทัพและด้อยค่าบุคลากรด้านเภสัชกรรมของกองทัพอย่างเห็นชัดเจน
—
หลังจากการอภิปราย ได้มีการเสียงต่อว่าอย่างรุนแรงต่อคำอภิปรายของ สส.พรรคประชาชนรายนี้ จนเจ้าตัวต้องออกมาแถลง “ขออภัยอย่างยิ่งสำหรับข้อความบางประเด็นที่คลาดเคลื่อนและสร้างความไม่สบายใจให้กับทุกคน”
โดย น.ส.กัลยพัชร อ้างว่าไม่ได้ตั้งใจด้อยค่าองค์ความรู้ของเภสัชกรในสังกัดกลาโหม แต่แค่ตั้งคำถามว่ากองทัพจำเป็นได้รับงบขยายโรงงานผลิตยาหรือไม่ และเป็นการทำหน้าที่ซ้ำซ้อนกับองค์การเภสัชกรรมหรือไม่
ขณะเดียวกันก็แถลงขอโทษเรื่องที่ขึ้นสไลด์อภิปรายว่า “ทั่วโลกเลิกผลิต (ยา Pseudoephedrine) แล้ว” ซึ่ง น.ส.กัลยพัชร ออกมายอมรับว่าเป็นข้อมูลที่คลาดเคลื่อนกับความจริง และยอมรับว่า “ข้อเท็จจริงคือ แทบทุกประเทศที่ห่วงความปลอดภัยของประชาชน มีการควบคุมยา Pseudoephedrine อย่างเข้มข้นและประเทศไทยเองก็เป็นประเทศหนึ่งที่จำกัดการครอบครองค่ะ”
—
ซึ่งเรื่องนี้เป็นบทเรียนให้เห็นว่า ผู้แทนราษฎรซึ่งเป็นตัวแทนของประชาชนนั้น จำเป็นต้องมี “จริยธรรม” ในการทำงานอยู่เสมอ
เพราะหากไม่เช่นนั้น การอภิปรายในสภาจะกลายมาเป็นเวทีสำหรับด้อยค่าและใส่ร้ายผู้อื่นด้วยข้อมูลอันเป็นเท็จ ได้อย่างอิสระ โดยมีเอกสิทธิของการเป็นผู้แทนฯ ช่วยคุ้มกันตนเอง มากกว่าที่จะเป็นการทำงานโดยสุจริตเพื่อให้เกิดการพัฒนาและปรับปรุงการทำงานของภาครัฐ ดังเจตนารมณ์ของการอภิปรายในสภานั่นเอง