
ควรให้ความรู้ผู้ปกครอง มากกว่าการแก้ไขกฎหมาย ‘รัดเกล้า’ ชี้ร่างกฎหมายห้ามพ่อแม่ตีเด็กของ ‘ก้าวไกล’ ไม่ใช่ทางออกในการแก้ไขปัญหา
นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี โพสต์เฟสบุ๊ก เมื่อวันที่ 11 ก.ค. 2567 แสดงความคิดเห็นคัดค้านการเสนอร่างกฎหมายห้ามผู้ปกครองลงโทษบุตรด้วยวิธีการตีของพรรคก้าวไกล โดยมีใจความโดยสรุปว่า
มีงานวิจัยหลายชิ้นที่บ่งชี้ว่าการลงโทษ หรือการตีในกระบวนการสั่งสอนหรือโน้มน้าวสมองมนุษย์ ไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ให้เรียนรู้ จดจำ และทำตามได้แย่ที่สุด ไร้ประสิทธิภาพที่สุด อีกทั้งยังอาจจะทำให้เกิดพฤติกรรมในทางตรงกันข้าม เช่น การทำให้เด็กมีพฤติกรรมชอบโกหกเพื่อหลีกเลี่ยงความผิด หรือ ความผูกพันและความสัมพันธ์อันดีที่พ่อแม่มีต่อลูกทุกบั่นทอนลง เป็นต้น
จึงเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ว่าเหตุใดจึงมีกระแสต่อต้านให้มีการยกเลิกการเฆี่ยนต่อลูก นายณัฐวุฒิ บัวประทุม สส.พรรคก้าวไกล เสนอการแก้ไขกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ โดยจะเพิ่มสาระสำคัญคือ ห้ามทำร้ายร่างกาย และห้ามกลั่นแกล้งผ่านคําพูดกับบุตรหลานในการเลี้ยงดูและสั่งสอน ซึ่งฟังแล้วดูดี และต้องขอขอบคุณนายณัฐวุฒิที่ให้ความสำคัญในเรื่องนี้
แต่ตนเองไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขทุกปัญหาด้วยการแก้ไขกฎหมาย โดยอธิบายว่า หลักคิดว่าการลงโทษคือการทำทารุณกรรม เป็นแนวคิดของตะวันตก
“แนวคิดนี้ใช่ว่าจะไม่ดี แต่หากจะแก้ปัญหาให้ประเทศไทย เราก็ต้องเข้าใจบริบทสังคมไทยด้วยว่ามันมีวิวัฒนาการมายังไง แล้วออกแบบแนวทางที่เหมาะสมให้ตัวเราเอง
การคล้อยตามแนวคิดคนอื่น หยิบยกนำวิถีของเขา ยกเอากฎหมายของเขาที่เราคิดว่าดี เอามาบังคับใช้ในประเทศไทยนั้น ก็ไม่ต่างอะไรกับการบังคับให้คนไทยสวมใส่รองเท้าของฝรั่ง ที่ทั้งใหญ่เกินไป เดินไม่สะดวก ไม่ได้เหมาะสมกับเราเลยในหลายๆ ด้าน” นางรัดเกล้าระบุ พร้อมให้ข้อเสนอใน 3 ประเด็น
1 ย้ำว่าการแก้ไขกฎหมายไม่ใช่ทางออกอย่างแน่นอน อีกทั้งร่าง พรบ. ที่พรรคก้าวไกลเสนอมีความซ้ำซ้อนกับกฎหมายอีกหลายฉบับ อีกทั้งกลไกการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิที่เกี่ยวข้องกับเด็กในด้านต่างๆ ของไทยมีมาตรฐานในระดับสากลเพียงพอแล้ว ไม่จำเป็นต้องมาแก้กฎหมายอะไรให้มันยุ่งยากซับซ้อนเข้าไปอีก
2 วัคซีนที่ดีสำหรับลูกคือพ่อแม่ที่มีความรู้ รัฐควรมุ่งให้ความรู้แก่ผู้ปกครองมากกว่าควรมีหลักสูตรฟรี และบังคับเรียน สำหรับพ่อแม่ทุกคน ให้ได้รับการอบรมเป็นระยะๆ เพื่อให้มีความรู้และศาสตร์ของการเป็นพ่อแม่ที่มีคุณภาพไปประกอบการเลี้ยงลูกอย่างมีคุณภาพ โดยเนื้อหาหลักสูตรควรออกแบบให้เหมาะสมแบ่งเป็นตามช่วงวัยของเด็ก
3 กระบวนการบังคับใช้กฎหมายและการลงโทษผู้กระทำผิดเข้มแข็งเพียงพอ รัฐควรเพิ่มบทบาทให้แก่ผู้นำท้องถิ่น ให้มีบทบาทในการดูแลสอดส่องความปลอดภัยให้กับเยาวชนในพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพและทั่วถึง