เตือน SUPERBUG อาจคร่าชีวิตคนกว่า 40 ล้าน หัวหน้าเจ้าหน้าที่การแพทย์ของอังกฤษ ออกโรงเตือน ถึงอาการเสี่ยงต่อการดื้อยาปฏิชีวนะในร่างกาย
แซลลี เดวีส์ ผู้แทนพิเศษด้านการดื้อยาต้านจุลชีพ (AMR) ของสหราชอาณาจักร และอดีตหัวหน้าเจ้าหน้าที่การแพทย์ของอังกฤษ กล่าวกับ The Observer เมื่อวันอาทิตย์ (5 ม.ค.) ว่าทั่วโลกอาจมีผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้อที่ดื้อต่อยาปฏิชีวนะ 40 ล้านคนภายในปี 2050 หากไม่มีการควบคุม
การดื้อยาต้านจุลชีพเกิดขึ้นเมื่อเชื้อจุลินทรีย์ เช่น แบคทีเรีย ได้พัฒนาตัวเองให้สามารถอยู่รอดและเจริญเติบโตได้แม้สัมผัสกับยาต้านจุลชีพ ทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า “ซูเปอร์บัก” (Superbug) ซึ่งทำให้การรักษาโรคแบคทีเรียทำได้ยากหรือรักษาไม่ได้
เดวีส์ กล่าวว่า AMR เป็น “ภาวะฉุกเฉินด้านยาปฏิชีวนะ” ซึ่งคุกคามขั้นตอนทางการแพทย์ทั่วไป เช่น การผ่าตัดและการคลอดบุตร และอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต มีผู้เสียชีวิตจาก AMR ประมาณหนึ่งล้านรายในแต่ละปี แต่ตามข้อมูลของเดวีส์ คาดว่าตัวเลขดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าภายในปี 2050 โดยประชากรสูงอายุมีความเสี่ยงเป็นพิเศษ
แม้จะมีความพยายามที่จะจำกัดการจ่ายยาปฏิชีวนะ แต่ยาปฏิชีวนะที่มีอยู่ประมาณ 70% ถูกใช้ในฟาร์มปศุสัตว์ทั่วโลก ทำให้เกิดแหล่งสะสมของแบคทีเรียที่ดื้อยา
เดวีส์ กล่าวว่า “โดยพื้นฐานแล้ว เราใช้ยาปฏิชีวนะกับวัว ไก่ และแกะ เนื่องจากเป็นตัวเลือกที่ประหยัดกว่าการให้สารเร่งการเจริญเติบโตหรือยาป้องกันเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของโรค… หากมีการทำฟาร์มเลี้ยงสัตว์แบบประณีต (intensive farming) ซึ่งใช้ยาปฏิชีวนะจำนวนมาก หรือโรงพยาบาลซึ่งมีระบบบำบัดน้ำเสียที่ไม่ดี แบคทีเรียที่ดื้อยาอาจไหลลงสู่แหล่งน้ำได้”
“แบคทีเรียเหล่านี้แบ่งตัวทุกๆ 20 นาที และสามารถเดินทางไปกับลมและฝน ทำให้การกักกันมีความซับซ้อนมากขึ้น แบคทีเรียเหล่านี้ยังกลายพันธุ์ได้มาก และหากพวกมันกลายพันธุ์ในขณะที่ใช้ยาปฏิชีวนะ และการกลายพันธุ์นั้นช่วยปกป้องพวกมัน สายพันธุ์เหล่านี้จะแบ่งตัวมากขึ้น… นี่คือปัญหาที่ร้ายแรงมาก จึงจำเป็นที่จะต้องใช้ยาปฏิชีวนะที่มีอยู่ และพัฒนายาปฏิชีวนะชนิดใหม่ ด้วยความระมัดระวัง”
งานศึกษาวิจัยใหม่ซึ่งได้รับการตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์ The Lancet ระบุว่า ทั่วโลกอาจมีผู้เสียชีวิตจากเชื้อดื้อยามากกว่า 39 ล้านคนภายในปี 2050 โดยคาดว่าจะมีอีก 169 ล้านคนเสียชีวิตจากสาเหตุที่เกี่ยวข้อง