
30 ปี ศูนย์เกษตรไทย-ลาว โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีเกษตร สร้างงาน สร้างรายได้ให้ชาวลาว
เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2567 นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ร่วมรับเสด็จ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในงานครบรอบ 30 ปี โครงการศูนย์พัฒนาและบริการด้านการเกษตรห้วยซอน-ห้วยซั้ว สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว พร้อมกับถวายรายงานผลการดำเนินงานกิจกรรมการพัฒนาด้านวิชาการเกษตร (ปลูกฝัง)
ในการนี้ ดร. เพ็ก พมพิพัก รัฐมนตรีกระทรวงกสิกรรมและป่าไม้ ได้ออกใบประกาศนียบัตรเพื่อแสดงความขอบคุณที่กรมวิชาการเกษตรให้การสนับสนุนการดำเนินงานกิจกรรมการพัฒนาด้านวิชาการเกษตร (ปลูกฝัง) ของศูนย์พัฒนาและบริการด้านการเกษตรห้วยซอน-ห้วยซั้ว ด้วยดีเสมอมา
โดยมอบหมายให้ ท่านกิงแก้ว สิงนาวง รองรัฐมนตรีกระทรวงกสิกรรมและป่าไม้ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เป็นผู้มอบประกาศนียบัตรให้ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร และเจ้าหน้าที่กรมวิชาการเกษตร
อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า กรมวิชาการเกษตรได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาการผลิตพืชและเป็นคณะทำงานโครงการศูนย์พัฒนาและบริการด้านการเกษตร (หลัก 22) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2537 เป็นโครงการแรกๆ ที่ราชอาณาจักรไทยได้มอบความช่วยเหลือกับต่างประเทศ การดำเนินงานด้านพัฒนาวิชาการเกษตร
ได้ยึดหลักตามแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ 9 มาเป็นแนวทางในการดำเนินงาน โดยกรมวิชาการเกษตรได้ร่วมจัดนิทรรศการแสดงผลการดำเนินงานกิจกรรมด้านพัฒนาวิชาการเกษตร ในช่วงเวลา 10 ปี (2557 – 2566) ดังนี้
- กิจกรรมการผลิตพืชและการขยายพันธุ์พืช ได้แก่
การผลิตข้าวด้วยแบบระบบเกษตรปลอดภัย ประกอบด้วย ข้าวเหนียวพันธุ์หอมท่าดอกคำ 1 พันธุ์หอมท่าดอกคำ 8 พันธุ์ท่าสะโน 3 ข้าวเจ้าพันธุ์หอมสะหวัน ผลผลิตเฉลี่ยอยู่ระหว่าง 550-600 กิโลกรัมต่อไร่
กิจกรรมไม้ผลและขยายพันธุ์พืช
– สาธิตการผลิตไม้ผล ได้แก่ ลิ้นจี่พันธุ์ นพ.1 เงาะ มังคุด เป็นต้น
– การขยายพันธุ์พืช ได้แก่ การขยายพันธุ์ไม้ผล และกระจายพันธุ์ไม้ผล ให้แก่เกษตรกร ตามหมู่บ้านรอบศูนย์ สนับสนุนพันธุ์ไม้ให้กับหน่วยงานภาครัฐและเกษตรกรต่างแขวง 4,450 ต้นต่อปี
กิจกรรมไม้ดอก-ไม้ประดับ ได้แก่ ผลิตดาวเรืองตัดดอก ให้ผลผลิตดอกเฉลี่ย 1,300 กิโลกรัมต่อปี ผลิตต้นกล้าไม้ดอก จำนวน 6,000 ต้นต่อปี
กิจกรรมการผลิตพืชผักในสภาพแปลงปลูก และการผลิตพืชผักในโรงเรือน ผลิตพืชผักกินใบ ได้แก่ พืชผักตระกูลกะหล่ำ คะน้า ให้ผลผลิตรวมเฉลี่ย 2,300 กิโลกรัมต่อไร่ และพืชผักกินผล ได้แก่ แตงกวา ถั่วฝักยาว ผลผลิตรวมเฉลี่ย 1,220 กิโลกรัมต่อไร่
กิจกรรมพืชไร่และพืชพลังงาน
– การผลิตข้าวโพดฝักสด 2 ชนิด ได้แก่ ข้าวโพดหวาน ข้าวโพดข้าวเหนียว ให้ผลผลิตรวมเฉลี่ย 725 กิโลกรัมต่อไร่
– สาธิตการปลูกปาล์มน้ำมัน พันธุ์สุราษฎร์ธานี 2 ผลผลิตเฉลี่ย 2.7 ตันต่อไร่
– สาธิตการปลูกยางพารา พันธุ์ สกย.251 และ พันธุ์ RRIM 600 ผลผลิตเฉลี่ย 1.77 ตันต่อไร่
กิจกรรมการการเพาะเห็ด
ดำเนินการสาธิตการผลิตเชื้อเห็ด การผลิตก้อนเชื้อเห็ด และการเปิดดอกเห็ด ในพื้นที่โครงการศูนย์ฯ เป็นสถานที่เรียนรู้ด้านการเพาะเห็ดของเกษตรกรในพื้นที่หมู่บ้านเป้าหมายของโครงการศูนย์ฯ เกษตรกรที่สนใจทั่วไป และเป็นสถานที่ฝึกงานของนิสิต นักศึกษาลาว
กิจกรรมถ่ายทอดเทคโนโลยี สาธิต ขยายผล และพัฒนาหมู่บ้านเป้าหมาย ด้านพัฒนาวิชาการเกษตร จัดฝึกอบรมถ่ายทอดความรู้ให้ความรู้แก่เจ้าหน้าที่ของรัฐ เกษตรกร นักศึกษา หลักสูตรเทคโนโลยีการผลิตข้าวและผักอินทรีย์ เทคโนโลยีการผลิตมะนาวในฤดูแล้ง การเพาะเห็ดเศรษฐกิจและเห็ดพื้นเมือง เทคโนโลยีการผลิตลิ้นจี่ นพ. 1 และการขยายพันธุ์พืช เป็นต้น จำนวนผู้ที่ได้รับการฝึกอบรม ในรอบ 10 ปีล่าสุด (2557-2566) รวมทั้งสิ้น 400 ราย
“กรมวิชาการเกษตร ได้นำ องค์ความรู้ด้านพัฒนาด้านวิชาการเกษตร ๕ เทคโนโลยี ได้แก่ เทคโนโลยีการผลิตข้าวอินทรีย์ เทคโนโลยีการผลิตผักปลอดภัย เทคโนโลยีการผลิตมะนาวในฤดูแล้ง การเพาะเห็ดเศรษฐกิจและเห็ดพื้นเมือง และเทคโนโลยีการผลิตลิ้นจี่ นพ. 1 และการขยายพันธุ์ มาปรับใช้ในศูนย์พัฒนาและบริการด้านการเกษตรห้วยซอน-ห้วยซั้ว สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว
สร้างรายได้ให้กับชุมชนโดยรอบศูนย์ฯ โดยกรมมีแผนการดำเนินงานด้านพัฒนาวิชาการเกษตร ในระยะต่อไปให้เป็นศูนย์ต้นแบบที่สามารถถ่ายทอดองค์ความรู้และเป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ทางด้านเกษตรกรรมแบบครบวงจรตามแนวพระราชดำริและหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงพร้อมกับยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกร กลุ่มเกษตรกร และประชาชนให้มีความเข้มแข็งสามารถดำรงชีวิตและพึ่งตนเองได้ ตามแนวพระราชดำริต่อไป” อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าว