สมาคมนักข่าวฯ อ้าง ปี 2567 สื่อขาดเสรีภาพ โดยยก 3 เหตุการณ์มาประกอบ
สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เผยแพร่รายงานสถานการณ์สื่อมวลชนในรอบปี 2567 โดยระบุว่าเป็น “ปีแห่งความยากลำบากของสื่อมวลชน”
เนื่องจากสื่อมวลชนนั้นได้รับผลกระทบจากเทคโนโลยีดิจิทัลที่ก้าวหน้าไม่หยุดนิ่ง ที่ทำให้พฤติกรรมของผู้บริโภคสื่อเปลี่ยนแปลงไป และหันไปรับข้อมูลข่าวสารผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์แทน
อีกทั้งสื่อมวลชนนั้น ยังเผชิญหน้ากับความท้าทายด้านความน่าเชื่อถือของข่าว และการปรับตัวจากผลกระทบของปัญหาเศรษฐกิจ จนทำให้เกิดผลกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของสื่อมวลชน และปัญหาการเลิกจ้างสื่อ และการปรับตัวเข้ากับแพลตฟอร์มออนไลน์
สมาคมฯ ได้ให้รายละเอียดเพิ่มเติมว่า ผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจนั้น ทำให้หลายสื่อต้องประสบภาวะขาดทุน จนต้องมีการเลิกจ้างพนักงานนั้น ได้ทำให้หลายสื่อมวลชนหลายองค์กรต้องพึ่งพาแหล่งทุนที่เป็นหน่วยงานของภาครัฐบาลและกลุ่มทุนขนาดใหญ่
ส่งผลให้สื่อมวลชนเกิดความเกรงใจอันเนื่องมาจากความจำเป็นในการพึ่งพางบประมาณค่าโฆษณาประชาสัมพันธ์ของหน่วยงาน จนไม่สามารถตรวจสอบ วิพากษ์วิจารณ์นโยบายสาธารณะหรือกลุ่มทุนภาคธุรกิจที่ให้การสนับสนุนได้อย่างเต็มที่
อีกทั้งการปรับตัวเข้าหาแพลตฟอร์มออนไลน์นั้น ทำให้การนำเสนอเนื้อหาสาระมักจะมุ่งเน้นที่ความนิยมหรือเรตติ้ง มากกว่าคุณภาพของข้อมูลข่าวสารที่นำเสนอ
สำหรับประเด็นการละเมิดสิทธิและเสรีภาพสื่อมวลชน สมาคมฯ ได้ยกตัวอย่าง 3 เหตุการณ์มาดังนี้
1 กรณีจับกุมผู้สื่อข่าวประชาไท ที่ไปรอถ่ายมือพ่นสีกำแพงวัดพระแก้ว
ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 12 ก.พ.2567 โดยณัฐพล เมฆโสภณ ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวประชาไท และณัฐพล พันธ์พงษ์สานนท์ ช่างภาพอิสระถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจสน.พระราชวัง เข้าจับกุม เนื่องจากการไปรายงานข่าวและถ่ายภาพกลุ่มบุคคลที่กำลังพ่นสีเขียนข้อความที่กำแพงวัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว)ในวันที่ 28 มี.ค.2566
โดยข้อความที่กลุ่มบุคคลเหล่านั้นไปพ่นไว้นั้น คือเลข 112 และมีเครื่องหมายขีดฆ่า และสัญลักษณ์ Anarchy ซึ่งเป็นกลุ่มลัทธิอนาธิปไตย ซึ่งมีเป้าหมายในการลดทอนหรือยกเลิกรัฐบาลและสถาบันในรูปแบบดั้งเดิม
2 กรณีพลเอกประวิตรผลักศีรษะของผู้สื่อข่าวสุภาพสตรี
ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันที่ 16 ส.ค. 2567 โดยพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ถูกผู้สื่อข่าวสตรีจากไทยพีบีเอสซักถามถึงการที่ไม่เข้าร่วมประชุมสภาเพื่อลงมติเลือก น.ส.แพทองธาร ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี แต่กลับถูกพลเอกประวิตรแสดงท่าทีฉุนเฉียว และใช้มือผลักศีรษะของผู้สื่อข่าวสุภาพสตรี ก่อนจะรีบเดินขึ้นรถไป
3 สส. เพื่อไทย เรียกร้องให้ถอดรายการของไทยพีบีเอส
ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันที่ 26 ก.ย. 2567 โดยอดิศร เพียงเกษ สส. บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย ได้ลุกขึ้นอภิปรายในสภาในระหว่างที่คณะกรรมการนโยบายและผู้บริหารของไทยพีบีเอสเข้ารายงานผลการปฏิบัติงานประจำปี 2566 ต่อสภาผู้แทนราษฎร
โดยอดิศรเรียกร้องให้มีการถอดรายการวิเคราะห์ข่าวที่ดำเนินรายการโดย “บริษัทกาแฟที่ไม่ใส่น้ำตาล” และกล่าวว่า “วิพากษ์วิจารณ์เป็นอะไรก็ไม่รู้ ผมว่ามันเอียงข้างไป เอาเงินภาษีอากรไปจ้างคนพรรค์นี้ ถอดรายการนี้ออกได้ไหมครับ? ถ้าไม่เป็นกลาง ถ้าไม่เอียงข้าง ก็ตั้งโทรทัศน์ใหม่เลย เชิญแขกรับเชิญก็เอียงข้าง เช้ารัฐบาล เที่ยงรัฐบาล บ่ายรัฐบาล เย็นรัฐบาล แถมรอบดึกด่ารัฐบาลอย่างเดียว”
อดิศรกล่าวว่าตนเองไม่ได้ต้องการให้ออกมาเชียร์รัฐบาล แต่การกระทำของรายการนี้นั้น เอียงข้างเหมือนว่าเป็นสถานีโทรทัศน์ของพรรคการเมืองใด พรรคการเมืองหนึ่ง ซึ่งไม่ถูกต้องเนื่องจากเป็นการใช้เงินภาษีของประชาชน และกล่าวทิ้งท้ายว่า “ถ้าคุณไม่ปรับ ผมจะจองเวรจองกรรม”