ไบเดนวางยาทรัมป์ อนุมัติให้ยูเครนโจมตีรัสเซีย ‘รศ.ดร.ปณิธาน’ เผย 3 ปัจจัยสำคัญในการเจรจา ยุติสงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน
สถานการณ์การสู้รบระหว่างรัสเซีย – ยูเครน กำลังไต่ระดับความขัดแย้งสูงขึ้นจนน่าวิตก ภายหลังจากที่ยูเครนยิงขีปนาวุธที่ได้รับมากจากสหรัฐ และอังกฤษ ใส่รัสเซียในวันที่ 19 และ 20 พ.ย. 2567 จนทำให้รัสเซียยิงขีปนาวุธตอบโต้ในวันที่ 21 พ.ย.
ซึ่งการเปิดฉากโจมตีของยูเครนในครั้งนี้ ได้รับการอนุมัติจากทางการสหรัฐ ซึ่งอยู่ในช่วงของการเปลี่ยนถ่ายอำนาจจากประธานาธิบดีโจ ไบเดน ไปยังโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งนั่นทำให้ทรัมป์ยังไม่สามารถเข้ามามีบทบาทในความขัดแย้งครั้งนี้ได้จนกว่าเขาจะผ่านพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งในวันที่ 20 ม.ค. ปีหน้า
รศ.ดร.ปณิธาน วัฒนายากร นักวิเคราะห์และผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคง กล่าวว่าการไต่ระดับของการใช้อาวุธในความขัดแย้งในครั้งนี้นั้น ไปเร็วมากกว่าที่หลายคนคาดเอาไว้ โดยในครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่มีการใช้ขีปนาวุธโอเรชนิก (Oreshnik) ของรัสเซีย
ซึ่งเป็นขีปนาวุธข้ามทวีปพิสัยกลาง (Intermediate-Range Ballistic Missile – IRBM) ที่มีหัวรบอิสระหลายหัว (Multiple Independently Targetable Reentry Vehicle – MIRVs) ซึ่งมีขีดความสามารถในการบรรจุหัวรบนิวเคลียร์
ทั้งนี้ สหรัฐทราบล่วงหน้าว่ารัสเซียจะทำการยิงขีปนาวุธชนิดนี้ เนื่องจากตามข้อตกลงระหว่างสหรัฐกับรัสเซีย หากมีการใช้ขีปนาวุธที่มีขีดความสามารถในการบรรจุหัวรบนิวเคลียร์ จะต้องมีการแจ้งกันให้ทราบล่วงหน้าว่าจะมีการบรรจุหัวรบนิวเคลียร์หรือไม่ เพื่อป้องกันความเข้าใจผิดระหว่างกัน
แต่ทั้งนี้ ยังไม่มีการประกาศยืนยันว่า ขีปนาวุธที่รัสเซียใช้จะเป็นรุ่นนี้หรือไม่ เนื่องจากว่าขีปนาวุธชนิดนี้นั้น ไม่เคยถูกใช้ในสนามรบจริงมาก่อน
สำหรับเมืองที่ถูกโจมตีของทั้งฝั่งรัสเซียและยูเครนนั้น ต่างก็เป็นที่ตั้งทางการทหาร และที่ตั้งของศูนย์ควบคุมการยิงขีปนาวุธของทั้งคู่
ผู้เชี่ยวชาญหลายท่านเชื่อว่าสงครามไม่น่าจะขยายไปไกลมากกว่านี้ เนื่องจากว่ารัสเซียไม่น่าจะมีขีปนาวุธชนิดนี้มาก เนื่องจากว่าเป็นอาวุธที่มีความซับซ้อน และอยู่ในระหว่างการพัฒนา แต่ก็เป็นการแสดงออกที่สำคัญในการแสดงให้เห็นว่ารัสเซียมีความพร้อมที่จะยกระดับความขัดแย้งให้สัมพันธ์กับการยกระดับของทางสหรัฐ และชาติพันธมิตร โดยเฉพาะอังกฤษ ที่รัสเซียระบุชัดเจนว่ามีความเกี่ยวข้องกับการโจมตีรัสเซีย
ทั้งนี้มีการกล่าวกันว่า การที่สหรัฐอนุมัติให้ยูเครนใช้ขีปนาวุธโจมตีรัสเซียนั้น ประธานาธิบดีไบเดนอาจจะเป็นการทิ้งทวน, วางยา, วางกรอบหรือส่งดาบ หรืออาจจะทั้งหมดนี้ให้กับประธานาธิบดีทรัมป์ก็เป็นไปได้ และการที่ยูเครนทำการยิงได้ภายหลังจากที่สหรัฐอนุมัติ แสดงให้เห็นว่ามีกระบวนการเตรียมพร้อมล่วงหน้าอยู่แล้ว
ถือเป็นการปิดนโยบายการสนับสนุนยูเครนของรัฐบาลพรรคเดโมแครต อีกทั้งยังมีการใช้กับระเบิด เพื่อการสกัดกั้นกองทัพรัสเซีย ซึ่งการใช้กับระเบิดนั้นถูกห้ามโดยอนุสัญญาห้ามทุ่นระเบิดสังหารบุคคล ซึ่งทั้งสหรัฐและรัสเซียต่างก็ไม่ร่วมลงนามในอนุสัญญานี้ (ยูเครนร่วมลงนามในอนุสัญญานี้ แต่ละเมิด)
และเมื่อสถานการณ์ความขัดแย้งเปลี่ยนไปจากเดิม ทรัมป์จะต้องตัดสินใจว่าจะเดินหน้าต่อ หรือยุติไว้เพื่อการเข้าสู่การเจรจา ทรัมป์อาจจะตัดสินใจใช้ขีปนาวุธเพิ่มขึ้น เพื่อการกดดันรัสเซียมากขึ้น จนกลายเป็นดาบสำคัญที่ทรัมป์จะใช้ในการเจรจาต่อรองกับรัสเซียก็ได้
ซึ่งนี่ถือว่าเป็นการควบคุมทิศทางของความขัดแย้งโดยไบเดน ซึ่งก็น่าคิดมากว่าทรัมป์จะหลุดออกจากกับดัก หรือการวางยาในครั้งนี้ได้หรือไม่ หรือจะใช้เป็นดาบที่ไบเดนยื่นให้ในการลดระดับความรุนแรงลง หรือใช้เป็นดาบฟาดฟันให้สงครามมีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น
ทั้งนี้รัสเซียเคยระบุว่า ถ้าหากว่ารัสเซียอยู่ในสถานการณ์จวนตัว มีกองกำลังต่างชาติบุกเข้ามา รัสเซียจะใช้อาวุธนิวเคลียร์ขนาดเล็ก ซึ่งในขณะนี้รัสเซียมีการปรับปรุงหลักการใช้อาวุธนิวเคลียร์ ให้ผู้บังคับบัญชาในพื้นที่มีส่วนร่วมในการตัดสินใจมากขึ้น และลดความซับซ้อนและเวลาในการตัดสินใจลง จนเหลือประมาณ 10 นาที ซึ่งนั่นทำให้โลกเข้าสู่สงครามนิวเคลียร์ได้ภายในไม่ถึง 10 นาที
แต่ทั้งนี้เชื่อกันว่าโลกจะยังไปไม่ถึงจุดนั้น เพราะว่าสถานการณ์ยังไม่จวนตัว และถึงแม้ว่ารัสเซียจะเสียทหารไปเยอะ แต่ก็ยังมีความได้เปรียบสูงกว่ายูเครน อีกทั้งหน้าหนาวก็กำลังจะมาถึง ซึ่งจะทำให้การรุกคืบไต่ระดับอย่างช้า ๆ
ยกเว้นว่ายูเครนจะใช้ขีปนาวุธชะลอการรุกคืบเข้ามาได้ สามารถถ่วงเวลาจนทรัมป์เข้าสู่ตำแหน่งอย่างเป็นทางการ มีอำนาจตัดสินใจตามกฎหมาย และผลักดันให้เข้าสู่การเจรจาได้
ทั้งนี้มีการสัมภาษณ์ชาวยูเครนที่หนีออกไป ซึ่งเขากล่าวว่าเขาต้องการที่จะเห็นสันติภาพ และการเจรจา อีกทั้งแม้แต่โวโลดีเมียร์ เซเลนสกี ประธานาธิบดียูเครนเองก็เริ่มยอมรับแล้วว่าการจะยึดแหลมไครเมียร์กลับมานั้นคงจะเป็นไปได้ยาก ซึ่งนี่จะขึ้นอยู่กับการเจรจาในยุคของทรัมป์
แต่ใน 2 เดือนระหว่างนี้นั้น เป็นปัญหาสำหรับหลายฝ่ายที่จะต้องระวังให้ดี อย่าให้มีการตัดสินใจที่ผิดพลาด รบกันไปมาจนควบคุมสถานการณ์ไว้ไม่ได้ ซึ่งรัสเซียประกาศว่ารัสเซียมีสิทธิที่จะโจมตีชาติที่ให้การสนับสนุนยูเครน ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่น่าเป็นห่วง เพราะขีปนาวุธที่รัสเซียใช้ในครั้งนี้นั้น อาจจะถูกใช้โจมตีศูนย์ควบคุมขีปนาวุธของยูเครนในโปแลนก์ หรือเยอรมนี
ทั้งหมดเหล่านี้ต้องจับตาว่ารัสเซียจะดำเนินการตามที่กล่าวไว้หรือไม่ ถ้าหากรัสเซียทำเช่นนั้น สถานการณ์ก็จะบานปลาย กองกำลังของ NATO จะต้องเข้าสู่สมรภูมิ ซึ่งอาจจะมีการข้ามพรมแดนเข้ามา ซึ่งจะนำไปสู่บริบทของการใช้นิวเคลียร์ทางยุทธวิธี
ซึ่งก็ต้องดูว่ารัสเซียนั้นขู่หรือเอาจริง แต่หลายฝ่ายเชื่อว่ารัสเซียน่าจะขู่ เพราะเห็นว่ารัสเซียไม่น่าจะพร้อมที่จะเปิดศึกกับ NATO ซึ่งทางเยอรมนีเองก็จับสัญญาณนี้ได้ จึงมีความพยายามที่จะเจรจากับประธานาธิบดีวลาดีเมียร์ ปูติน ของรัสเซียโดยตรง มีการส่งสัญญาณนี้ในการประชุม G20 ซึ่งทำให้เกิดความปั่นป่วนในกลุ่มชาติพันธมิตรของยูเครน
เยอรมนีเองก็เกรงว่าสถานการณ์อาจจะบานปลายหากไม่มีการพูดคุย ซึ่งนี่เองก็ทำให้ยูเครนเองก็ต้องปรับตัว ซึ่งนี่ก็น่าจะเป็นเรื่องที่ดี ซึ่งถ้าหากว่าเยอรมนีพูดคุยกับรัสเซีย ยูเครนเองก็คงจะมั่นใจขึ้นว่าจะสามารถพูดคุยได้ และเมื่อทรัมป์ขึ้นสู่ตำแหน่ง ก็จะสามารถเริ่มการเจรจาได้จริง ๆ
สำหรับสาเหตุที่เกาหลีเหนือเข้ามาสู่สงครามในครั้งนี้ จนหลายมาเป็นชนวนให้สงครามในครั้งนี้ไต่ระดับขึ้นเช่นนี้นั้น เป็นเพราะว่าเกาหลีเหนือนั้นต้องการน้ำมัน ซึ่งรัสเซียได้ส่งมอบให้ไปแล้วประมาณ 1 ล้านบาร์เรล เพื่อให้เกาหลีเหนือรับมือกับวิกฤตขาดแคลนพลังงานในหน้าหนาว
แต่ในทางกลับกัน เกาหลีเหนือมีศักยภาพในการผลิตอาวุธได้เยอะมาก และมีทหารเยอะ จึงส่งทหารไปช่วยรบเพื่อแลกน้ำมัน ในช่วงเวลาที่รัสเซียต้องการกำลังทหารในการรบมากขึ้น แต่ยังไม่สามารถที่จะเกณฑ์ทหารจากพลเมืองของตัวเองได้
แต่ที่หลายฝ่ายกังวลคือการแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีในการควบคุมขีปนาวุธ ซึ่งเกาหลีเหนือต้องการเทคโนโลยีของรัสเซียมาก ทำให้ทั้ง 2 ประเทศกลายเป็นพันธมิตรทางการทหารที่ใกล้ชิดกว่าที่หลายคนคาดคิดกันมาก
อีกทั้งการรุกคืบของรัสเซียนั้น เป็นไปอย่างช้า ๆ แต่ได้ผล จนทำให้หลายประเทศรวมทั้งสหรัฐเป็นกังวล จนทำให้สหรัฐอนุมัติให้ยูเครนใช้ขีปนาวุธยิงใส่จุดที่รัสเซียและเกาหลีเหนือกำลังรุกคืบเข้ามา
แต่ว่ารัสเซียเองก็น่าจะจับสัญญาณได้ว่าจะมีการใช้ขีปนาวุธ เนื่องจากว่ารัสเซียร่นถอยศูนย์ควบคุมการยิงขีปนาวุธและโดรน รวมไปถึงฐานทัพอากาศ เข้าไปในดินแดนของตนลึกมากขึ้น และดำเนินการป้องกันตนเอง
ทั้งนี้ ถ้าหากว่าการตอบโต้ระหว่างกันนั้น เป็นไปอย่างได้สัดส่วน สถานการณ์นั้นก็อาจจะไม่บานปลายมากนัก เพียงแต่ว่าแปรปรวนมากขึ้น ซึ่งความแปรปรวนนี้เห็นได้ชัดในตลาดสินค้าอุปโภคบริโภคต่าง ๆ ซึ่งในช่วงนี้ถือได้ว่าเป็นช่วงที่สำคัญ
ในระหว่าง 2 เดือนของการเปลี่ยนถ่ายนั้น ทีมงานของไบเดน และทรัมป์สามารถแลกเปลี่ยนควาคิดเห็นกันได้ แต่ว่าทรัมป์ห้ามเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรง เพราะมีกฎหมายห้ามอยู่ ถือว่าเป็นการทิ้งทวนปิดนโยบาย ซึ่งมีการพูดกันมากว่า การให้การสนับสนุนที่ช้าของไบเดน ทำให้ยูเครนมีความเสียเปรียบ ต้องคอยตั้งรับในช่วงเวลาพันกว่าวันที่ผ่านมา
แต่ทั้งนี้ก็คงจะเป็นการทิ้งทวน ส่งมอบยุทโธปกรณ์สมัยใหม่ให้กับยูเครน เพื่อให้ฝ่ายทรัมป์ไปแก้ปัญหาเอาเอง และถ้าหากว่าทรัมป์นำเอาตรงนี้มาใช้กดดันรัสเซีย ก็จะทำให้เกิดความได้เปรียบในการเจรจากับรัสเซีย แต่ก็ต้องเดินหน้ารบไปก่อนเพื่อกดดัน
ซึ่งถ้าหากว่าทรัมป์ถอดการสนับสนุน ก็จะทำให้ยูเครนเสียเปรียบทันที นี่จึงเป็นเหมือนการยื่นดาบให้ทรัมป์ใช้ในการผลักดันในช่วงแรก ๆ เพื่อให้ยูเครสเกิดความได้เปรียบในการเจรจามากกว่านี้
สำหรับแนวทางของทรัมป์หลังจากขึ้นสู่ตำแหน่งนั้น ต้องพิจารณาใน 3 ปัจจัยคือการผลักดันโดนใช้เงื่อนไขของสมาชิกภาพของยูเครนใน NATO เป็นประเด็นสำคัญ ซึ่งในวันนี้มีการพูดถึงกันมากแม้แต่ในรัสเซียว่าจะเดินหน้าเลยหรือไม่ หรือว่าจะถอนเลย
สองคือพื้นที่ที่ในขณะนี้มีการควบคุมและต่อสู้ ก็จะมีความชัดเจนมากขึ้นในอีก 2เดือนข้างหน้าว่าใครมีความได้เปรียบ-เสียเปรียบอย่างไร และจะถูกใช้ในการเจรจาว่าจะคืนหรือจะยึด หรือเปลี่ยนรูปแบบอย่างไร และอีกส่วนคือการรับประกันความปลอดภัยของทั้ง 2 ฝ่าย ซึ่งรัสเซียเองก็ต้องการหลักประกันเช่นกัน และนี่เป็นหน้าที่ของสหรัฐในการให้หลักประกันแก่รัสเซีย และยูเครน
ซึ่งถ้าทำได้ใน 3 ปัจจัยนี้สถานการณ์ก็น่าจะเริ่มดีขึ้นในการเจรจา แต่อาจจะไม่เร็ว ได้ภายใน 24 ชั่วโมงอย่างที่ได้หาเสียงเอาไว้ และคงจะได้เห็นทิศทางใหม่
แต่ในระหว่างนี้ ก็คงจะมีพัฒนาการอีกหลายอย่างในช่วงเดือน 2 เดือนนี้ และนี่จะเป็นจุดสำคัญในการกำหนดประเด็นในการเจรจา เช่นจะสามารถยึดพื้นที่ได้ขนาดไหน สามารถผลักดันรัสเซียออกไปได้หรือไม่ หรือรัสเซียจะสามารถรุกคืบเข้ามาได้มากขึ้น ทั้งหมดนี้จะกลายมาเป็นเงื่อนไขในการเจรจาต่อรองหลังจากที่ทรัมป์ขึ้นสู่ตำแหน่ง
อย่างไรก็ดี ในช่วงเดือนมกราคมนั้น เป็นช่วงเวลาที่หนาวที่สุดของพื้นที่บริเวณนั้น ซึ่งยูเครนนั้นถูกตัดพลังงานจากการถูกโจมตีไปแล้วกว่าครึ่ง ในขณะที่ยุโรปจะต้องเผชิญหน้ากับราคาพลังงานที่แพงขึ้น ซ฿งนี่จะกลายเป็นข้อได้เปรียบของรัสเซีย