3 ปัจจัยฉุดรั้ง กำลังซื้อของคนอีสาน ‘ธปท.’ ชี้ภาคอีสานกำลังประสบ 3 ปัญหา รายได้ต่ำ-รายจ่ายสูง-หนี้ท่วมหัว
ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เผยแพร่บทความเรื่อง “3 ปัจจัยฉุดรั้งกำลังซื้ออีสาน” ซึ่งระบุว่านับตั้งแต่การแพร่ระบาดของโควิด-19 คนอีสานมีกำลังซื้อลดลง เนื่องจากการเติบโตทางเศรษฐกิจที่จำกัด อีกทั้งสภาพภูมิอากาศยังส่งผลกระทบต่อเกษตรกร ซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ของภาคอีสาน
อีกทั้งยังชี้ให้เห็นถึง ปัจจัยที่ฉุดรั้งกำลังซื้อคนอีสานในช่วงที่ผ่านมา และสร้างแรงกดดันต่อการบริโภคของคนอีสานในระยะข้างหน้า ซึ่งถ้าเรายังไม่เริ่มลงมือแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจัง ปัจจัยฉุดรั้งต่าง ๆ อาจส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีของคนอีสานในระยะยาว
ซึ่ง 3 ปัจจัยหลักที่ฉุดรั้งอัตราการเติบโตของภาคอีสาน ที่เติบโตได้ช้ากว่าภูมิภาคอื่นนั้นประกอบได้ด้วย
1 ปัจจัยด้านรายได้
10 ปี ก่อนเกิดสถานการณ์โควิด ภาคอีสานเป็นภูมิภาคที่มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจต่ำที่สุดในแทบจะทุกด้านอยู่แล้ว ขณะที่รายได้ครัวเรือนเติบโตเพียงร้อยละ 1 ต่อปีเท่านั้น แสดงให้เห็นว่า อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจอีสานส่งผ่านมาที่รายได้ครัวเรือนอีสานเพียงเล็กน้อย
ทำให้ครัวเรือนอีสานในปัจจุบันมีรายได้สำหรับนำไปใช้จ่ายอย่างจำกัด สะท้อนจากรายได้ครัวเรือนเฉลี่ยของอีสานที่ต่ำที่สุดในประเทศเพียง 181,231 บาทต่อครัวเรือนต่อปี สอดคล้องกับจำนวนผู้มีสิทธิได้รับสวัสดิการแห่งรัฐที่มากที่สุดในประเทศ และมีจำนวนคนฐานะยากจนที่ต้องการความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนมากที่สุด
ซึ่งนี่เป็นผลการการที่คนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ส่วนใหญ่ปลูกพืชเศรษฐกิจโดยเฉพาะข้าวที่เป็นพืชที่ใช้น้ำมากและสร้างรายได้หลักเพียงรอบเดียวต่อปี ขณะที่ภาคอีสานมีพื้นที่ชลประทานเพียงร้อยละ 7.8 ของพื้นที่ทำการเกษตรทั้งหมด จึงต้องพึ่งพิงน้ำฝนเป็นหลัก
ขณะเดียวกันเกษตรกรยังต้องเผชิญกับปัญหาต้นทุนในการทำเกษตรที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ดังนั้น เมื่อสภาพภูมิอากาศแปรปรวนย่อมส่งผลกระทบโดยตรงต่อผลผลิตและรายได้เกษตรกรที่จะนำไปใช้เพื่อการบริโภคในระยะต่อไป
- ปัจจัยด้านรายจ่าย
จากการสำรวจในปี 2566 พบว่าครัวเรือนอีสานมีรายจ่ายเพื่อการบริโภคมากที่สุดหรือร้อยละ 38 ของรายจ่ายทั้งหมด แต่รายจ่ายที่น่าสนใจ คือ รายจ่ายเพื่อสังคมและนันทนาการ ซึ่งเป็นรายจ่ายที่สามารถลดได้ ซึ่งมีมากถึงร้อยละ 13 ของรายจ่ายทั้งหมดสูงกว่าทุกภูมิภาค
นอกจากปัญหาเชิงพฤติกรรมของชาวอีสานเองแล้ว ต้นทุนค่าครองชีพของคนอีสาน มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นราคาสินค้าอุปโภคบริโภค ราคาอาหารสด และราคาพลังงาน แม้ระยะหลังเงินเฟ้อจะปรับลดลงแล้ว แต่ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคในชีวิตประจำวันหลายรายการยังมีราคาสูง
3 ปัจจัยด้านหนี้สิน
ครัวเรือนอีสานมีหนี้สินต่อครัวเรือนสูงและมีสัดส่วนการก่อหนี้สูงกว่าทุกภูมิภาค โดยเฉพาะครัวเรือนในอีสานตอนล่าง ภาคอีสานมีรายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือนต่ำที่สุด ขณะที่มีรายจ่ายสูงกว่ารายได้มาโดยตลอด จึงทำให้ต้องมีการก่อหนี้มากขึ้น ปี 2566 มีหนี้สินต่อครัวเรือน 200,540 บาท สูงกว่าค่าเฉลี่ยทั้งประเทศที่ 197,255 บาท
และเมื่อพิจารณาประเภทการก่อหนี้ พบว่า ครัวเรือนอีสานส่วนใหญ่ก่อหนี้เพื่อการอุปโภคบริโภค เป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 43.9 ของจำนวนหนี้สินเฉลี่ยต่อครัวเรือนทั้งหมด โดยเป็นสินเชื่อส่วนบุคคลมากที่สุด รองลงมาคือ สินเชื่อรถยนต์ สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่อบัตรเครดิต ตามลำดับ
สูงกว่าหนี้ที่นำไปสร้างรายได้ เช่น หนี้เพื่อทำการเกษตรและหนี้เพื่อการประกอบธุรกิจค่อนข้างมาก ซึ่งปัจจุบันสินเชื่อเหล่านี้มีแนวโน้มกลายเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) เพิ่มขึ้น
“ที่ผ่านมา ครัวเรือนอีสานได้รับปัจจัยสนับสนุนจากนโยบายกระตุ้นการใช้จ่ายของภาครัฐอย่างมาก อย่างไรก็ตาม นโยบายภาครัฐ อาจช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของกำลังซื้อครัวเรือนได้เพียงระยะสั้น
ขณะที่การแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างผ่านการยกระดับรายได้ บริหารรายจ่าย ไปพร้อมกับการสร้างภูมิคุ้มกันทางการเงิน จะเป็นทางออกของการแก้ไขปัญหากำลังซื้ออีสานอย่างยั่งยืน” ธปท. ระบุ