![](https://thestructure.live/wp-content/uploads/2025/01/ค้าปลีก-2.jpg)
3 ความท้าทายที่ ธุรกิจค้าปลีกภาคใต้ต้องเผชิญ ‘ธปท.’ ชี้ธุรกิจค้าปลีกภาคใต้เผชิญหน้ากับปัญหา การแข่งขันแรงขึ้น-ต้นทุนสูงขึ้น-กำลังซื้อต่ำลง
ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เผยแพร่บทความเรื่อง “3 ความท้าทายที่ธุรกิจค้าปลีกภาคใต้ต้องเผชิญ” โดยระบุว่าธุรกิจค้าปลีกใน ภาคใต้ยังคงเผชิญกับ 3 ความท้าทายเดิม คือ การแข่งขันรุนแรงขึ้น ต้นทุนสูงขึ้น และกำลังซื้อครัวเรือนยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ โดยเฉพาะจำนวนธุรกิจค้าปลีกรายเล็กที่โตน้อยกว่าธุรกิจค้าปลีกรายกลางและใหญ่
1 การแข่งขันรุนแรงขึ้น
61% ของส่วนแบ่งตลาดค้าปลีกไทยในปัจจุบันมาจากผู้ประกอบการค้าปลีกส่วนกลาง (Modern Trade) และมีแนวโน้มที่เพิ่มสูงขึ้น 5% จากปี 2562 ก่อนเกิดสถานการณ์โควิด-19 และยังมีแนวโน้มที่จะแย่งส่วนแบ่งจากผู้ค้าปลีกท้องถิ่นเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จากความได้เปรียบด้านเงินทุน ซึ่งนี่ยังไม่นับรวมการแข่งขันกับช่องทางออนไลน์และอื่น ๆ
โดยภาคใต้มีการแข่งขันรุนแรงกว่าภูมิภาคอื่น จากจำนวนสาขาของ Modern Trade ต่อประชากรแสนคน (26 สาขา) มากกว่าภาคเหนือ (19 สาขา) และภาคอีสาน (20 สาขา)
2 ต้นทุนสูงขึ้น
ผู้ประกอบการค้าปลีกภาคใต้กำลังประสบกับภาวะต้นทุนที่สูงขึ้น ได้แก่ ต้นทุนสินค้า ต้นทุนพลังงาน และค่าแรง โดยเฉพาะรายเล็กที่เผชิญภาระต้นทุนสูงกว่ารายใหญ่ จากข้อจำกัดด้าน Economy of scale และสายป่านสั้นกว่า รวมถึงการปรับราคาขายสินค้าทำได้ช้ากว่ารายใหญ่ เนื่องจากการแข่งขันสูงและกำลังซื้อของผู้บริโภคยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ ทั้งนี้ ผู้ประกอบการคาดว่าต้นทุนในปี 68 จะยังมีแนวโน้มสูงขึ้น
และเมื่อเทียบกับปี 2562 พบว่าในปี 2567 นั้นผู้ประกอบการต้องแบกรับภาระเพิ่มขึ้นดังนี้
– ต้นทุนสินค้า 12%
– ค่าแรง 9%
– ค่าน้ำมัน 20%
– ค่าไฟ 11%
3 กำลังซื้อครัวเรือนยังฟื้นตัวไม่เต็มที่
ปัจจุบันการใช้จ่ายสินค้าอุปโภคบริโภคชาวใต้ยังคงต่ำกว่าก่อนโควิด 5% ในขณะที่ทั่วประเทศสูงกว่าช่วงโควิดแล้ว 15% เนื่องจากมีปัญหารายจ่ายสูงกว่ารายได้ โดยยังไม่ได้นับรวมภาระหนี้ อีกทั้งปัญหาหนี้ครัวเรือนของชาวใต้ก็สูงขึ้นเช่นกัน อีกทั้งหนี้สินเฉลี่ยต่อครัวเรือนสูงกว่าก่อนโควิดถึง 1.2 เท่า ซึ่งทำให้คนใต้ลดการใช้จ่ายลง
อย่างไรก็ดี ธปท. แนะนำให้ผู้ค้าปลีกปรับกลยุทธ์ ด้วยการเลือกจำหน่ายสินค้าให้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภคมากขึ้น และปรับทำเลที่ตั้งให้ดีขึ้น อีกทั้งยังแนะนำให้มีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยเหลือในการบริหารจัดการ และการกระตุ้นยอดขาย
และระบุว่า ผู้ประกอบการค้าปลีกภาคใต้ขนาดใหญ่บางแห่งให้การสนับสนุนร้านค้าปลีกขนาดเล็กให้สามารถเติบโตและแข่งขันได้ เช่น ด้านการบริหารจัดการร้านค้า ช่วยวางแผนตั้งแต่การเลือกสินค้า การจัดการสินค้าคงคลัง และการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขาย รวมทั้งสนับสนุนด้านการให้ credit term ในการสั่งซื้อสินค้า เพื่อให้ธุรกิจค้าปลีกขนาดใหญ่และเล็กได้รับประโยชน์และเติบโตไปพร้อมกัน