29 ขอบเขตอำนาจหน้าที่ ‘ผู้ว่าฯ กทม.’ รู้แล้วลองเช็คนโยบายที่ดูดี ว่าทำ ‘ได้’ หรือ ‘ไม่ได้’
ทำความเข้าใจกับ “ขอบเขตของอำนาจหน้าที่ของผู้ว่า ฯ” กันสักนิด ก่อนจะคิดตัดสินใจเพียงเพราะนโยบายนั้น “ฟังดูดี”
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นตำแหน่งที่มีบทบาทในการรับผิดชอบดูแลพื้นที่กรุงเทพมหานครในฐานะหัวหน้าฝ่ายบริหารขององค์กรปกครองท้องถิ่นในรูปแบบพิเศษ
และเป็นตำแหน่งที่มีการพูดถึงในสังคมเป็นอย่างมาก เพราะเป็นตำแหน่งที่มีบทบาทในการดูแลพื้นที่เขตเมืองหลวงและเขตเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดซึ่งประกอบด้วยประชากรเป็นจำนวนมากที่เข้ามาทำงานในกรุงเทพมหานครหลายล้านคน
โดยหน้าที่สำคัญของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528 มาตรา 49 ระบุอำนาจหน้าที่ ในการกำหนดนโยบายและบริหารราชการให้เป็นไปตามกฎหมายและตามที่คณะรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้มอบหมายไว้ และมีสิทธิ์สั่ง อนุญาต อนุมัติเกี่ยวกับราชการรวมทั้งการวางระเบียบการบริหารราชการข้างต้น
ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดกรุงเทพมหานครนอกจากมีหน้าที่ดังกล่าวแล้วก็มีอำนาจหน้าที่อื่น ๆ ตามที่ได้ระบุในพระราชบัญญัติดังกล่าวและกฎหมายฉบับอื่น ที่มีการระบุไว้ในพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528 มาตรา 89 ก็ได้มีการระบุถึงภายใต้บังคับแห่งกฎหมายอื่นที่ให้กรุงเทพมหานครมีอำนาจหน้าที่ดำเนินกิจการในเขตกรุงเทพมหานครใน 27 กิจการ ที่มีอำนาจในการกำกับดูแลกิจการดังกล่าว
และใน 29 กิจการนั้น จะประกอบไปด้วย [1]
- การรักษาความสงบเรียบร้อย
- การทะเบียน
- การป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
- การรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง
- การผังเมือง
- การจัดให้มีและบำรุงรักษาทางบก ทางน้ำ และทางระบายน้ำ
- การวิศวกรรมจราจร
- การส่งเสริมและสนับสนุนสถานีตำรวจ และหน่วยงานอื่นในการปฏิบัติหน้าที่ตามข้อ 1 – 7
- การขนส่ง
- การจัดให้มีและควบคุมตลาด ท่าเทียบเรือ ท่าข้ามและที่จอดรถ
- การดูแลรักษาที่สาธารณะ
- การควบคุมอาคาร
- การปรับปรุงแหล่งชุมชนแออัดและจัดการเกี่ยวกับที่อยู่อาศัย
- การจัดให้มีและบำรุงรักษาสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ
- การพัฒนาและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
- บำรุงรักษาศิลปะ จารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น และวัฒนธรรมอันดีของท้องถิ่น
- การสาธารณูปโภค
- การสาธารณสุขและการรักษาพยาบาล
- การจัดให้มีและควบคุมสุสานและฌาปนสถาน
- การควบคุมการเลี้ยงสัตว์
- การจัดให้มีและควบคุมการฆ่าสัตว์
- การควบคุมความปลอดภัยและการอนามัยในสาธารณสถานต่าง ๆ
- การจัดการศึกษา
- การสาธารณูปการ
- การสังคมสงเคราะห์
- การส่งเสริมการกีฬา
- การส่งเสริมการประกอบอาชีพ
- การพาณิชย์ของกรุงเทพมหานคร
- หน้าที่อื่น ๆ ตามที่กฎหมายระบุให้เป็นอำนาจหน้าที่หรือตามที่มีการมอบหมายจากคณะรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยมอบหมาย ซึ่งในตัวอำนาจหน้าที่ที่เป็นของราชการส่วนกลางหรือราชการส่วนภูมิภาคสามารถมอบให้กรุงเทพมหานครดำเนินการได้ แล้วแต่กรณี โดยได้รับความเห็นชอบจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
ทั้งหมดนี้ คือบทบาทหน้าที่สำคัญของการเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครตามกฎหมายและถือว่า เป็นกลไกบริหารสำคัญของราชการกรุงเทพมหานครให้สามารถบริหารได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน
สำหรับการหาเสียงของผู้สมัครบางคนที่เกินจากขอบข่ายอำนาจหน้าที่ดังที่กล่าวมานี้นั้น ขอให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง พิจารณาให้ถ้วนถี่ ก่อนการตัดสินใจ