
10 เหตุผลที่ประเทศไทยยังควรต้องมีโทษประหาร
การประหารชีวิตนั้น เป็นวิธีการลงโทษที่มีประวัติยาวนานคู่กับประวัติศาสตร์มนุษยชาติ และแม้ในประมวลกฎหมายของพระเจ้าฮัมบูราบี ยังมีการกล่าวถึงโทษประหารไว้ด้วยเช่นกัน [1] และข้อโต้แย้ง ไม่เห็นด้วยต่อการประหารชีวิตเองก็มีมานับแต่ครั้งบรรพกาลแล้วด้วยเช่นกัน [1]
การโต้แย้งเหล่านี้ ทำให้เกิดกระบวนการพัฒนากระบวนการยุติธรรมที่เกี่ยวข้องกับโทษประหาร ไม่ว่าจะกระบวนการที่จะทำให้มั่นใจว่าผู้ต้องโทษนั้น เป็นผู้กระทำผิดจริง และสิทธิมนุษยชนของผู้ถูกประหาร ที่จะได้รับความเป็นธรรม และไม่ได้รับความทุกข์ทรมานในระหว่างกระบวนการประหารชีวิต ซึ่งเป็นสิทธิที่มนุษย์ผู้หนึ่งพึงมี
แต่ถึงกระนั้น การถกเถียงในเรื่องนี้ ยังคงมีตลอดมา แม้ในประเทศไทย ซึ่งนายเรอเน กียอง ที่ปรึกษากรมร่างกฎหมายชาวฝรั่งเศส เคยเสนอข้อคิดเห็นว่า การพิจารณาว่าควรยกเลิกกฎหมายประหารชีวิตหรือไม่นั้น ควรพิจารณา “บริบทของสังคมของประเทศไทยเป็นหลัก” [2]
นอกจากนี้ ถึงแม้ฝ่ายผู้สนับสนุนการยกเลิกจะพยายามยกอ้างกลุ่มประเทศยุโรป [3] แต่นี่เป็นการนำเสนอที่มีอคติ และละเลยข้อเท็จจริงที่ว่า สหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นประเทศกลุ่มชาติตะวันตกด้วยเช่นกันนั้น ยังไม่ยกเลิกโทษประหาร และในปี พ.ศ. 2564 มีผู้ถูกประหารชีวิตโดยศาลอเมริกันถึง 17 ราย [4] (ไม่นับกรณีการวิสามัญฆาตกรรมโดยเจ้าหน้าที่สหรัฐ ที่ปี 2564 ปีเดียว มีจำนวนสูงถึง 995 ราย หรือเฉลี่ย 2.73 คนต่อวันเลยทีเดียว [5])
และนี่คือ 10 เหตุผลว่า ทำไมประเทศไทย จึงควรจะยังธำรงเอาไว้ซึ่งโทษประหารชีวิต
- ในฐานะประเทศเอกราช ซึ่งมีอำนาจอธิปไตยเป็นของตนเองอย่างสมบูรณ์ ประเทศไทย จึงควรจะพิจารณากระบวนการยุติธรรมของตนเอง ตามหลักเหตุผลทางวิชาการที่สอดคล้องกับบริบทของประเทศ และสภาพสังคมของตัวเอง มิใช่โดยการแทรกแซงจากชาติอื่นใด เพื่อความสง่างามของชาติและปวงชนชาวไทย
- เคยมีตัวอย่าง เจ้าพ่อยาเสพติด ปาโบล เอสโกบาร์ (Pablo Escobar) ซึ่งถึงแม้จะถูกจับกุมและคุมขังเอาไว้ แต่ยังใช้เงินและอิทธิพลของตนเองในการเนรมิตคุกให้เป็นสถานกักกันสุดหรู และยังคงค้ายาเสพติดต่อไป เสมือนหนึ่งไม่มีอะไรเกิดขึ้นเลย [6] และนี่ก็อาจเกิดขึ้นกับไทยด้วยเช่นได้
- โดยเทคนิคทางกฎหมายไทย การไม่มีโทษประหาร จะทำให้นักโทษสามารถทำเรื่องขออภัยโทษจนสามารถออกจากคุกได้เร็วขึ้นกว่าเดิม
- ควรมีความหลากหลายในการลงโทษ ซึ่งโทษประหาร และการจำคุกตลอดชีวิตนั้น ต้องไม่เท่ากัน
- ในเม็กซิโก ซึ่งยกเลิกโทษประหารในปี 2548 ทำให้ฆาตกรรมรายหนึ่งซึ่งก่อเหตุในปี 2550 [7] และถูกจำคุกเพียง 9 ปี นั้น ย้อนกลับมาสังหารหมู่ครอบครัวของเหยื่อเดิมของเขาถึง 11 ชีวิต อย่างโหดเหี้ยม [8] ดังนั้น การประหารชีวิตคนใจเหี้ยม จึงเป็นการปกป้องครอบครัวผู้เสียหาย พยานและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับคดี หลังจบสิ้นประบวนการยุติธรรม
- ผู้ค้ายาเสพติดบางราย เลือกเส้นทางขนยาในประเทศที่ไม่มีโทษประหาร [9]
- ด้วยความก้าวหน้าของเทคโนโลยีนิติวิทยาศาสตร์ และการพัฒนาความถี่ถ้วนรัดกุมของกระบวนการพิจารณาคดี โอกาสที่จะประหารผู้บริสุทธิ์นั้นเกิดขึ้นน้อยมาก อย่างน้อยที่สุด กรณีการประหารผู้บริสุทธิ์ครั้งสุดท้ายของไทยนั้นคือ พ.ศ. 2529 หรือ 35 ปีที่แล้ว [10] และนอกจากนี้ การมีโทษประหาร กับโอกาสในการประหารผู้บริสุทธิ์นั้น เป็นคนละเรื่องที่ไม่ควรจะเกี่ยวข้องกัน
- ในแง่ของมนุษยธรรม ปัจจุบันประเทศไทยใช้วิธีการฉีดยา ซึ่งถือว่ามีมนุษยธรรมสูงมากพอแล้ว อีกทั้งยังตรงตามข้อเสนอที่ เรอเน กียอง เคยเสนอต่อรัฐบาลไทยแล้ว [2]
- ไม่มีรายงานว่า การยกเลิกโทษประหารจะทำให้อาชญากรรมลดลง และในทางกลับกัน ก็ไม่มีรายงานว่า การมีโทษประหารจะลดจำนวนอาชญากรรมด้วยเช่นกัน
- แต่โทษที่รุนแรง มีแนวโน้มที่จะจูงใจให้ผู้ต้องหาให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ในการดำเนินคดี เช่น กรณีในต่างประเทศที่อดีตหัวหน้ามาเฟียยอมให้ข้อมูลกับตำรวจเพราะกลัวโทษประหาร [11]
การโต้เถียงกันถึงการคงอยู่ และวิธีการประหารชีวิตนั้น เป็นหนึ่งในข้อโต้เถียงคลาสสิก ที่มีการถกเถียงกันเรื่อยมาเป็นเวลาพันกว่าปีแล้ว และจะเห็นได้ว่า การโต้เถียงกันบนหลักวิชาการและข้อเท็จจริงนั้น เกิดผลประโยชน์ต่อสังคมและตัวกระบวนการยุติธรรมเองมาโดยตลอด
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่พึงระวังคือ การนำอคติของตนเข้ามาแทรกในหลักวิชาการ อาทิ การนำสิ่งที่ไม่เกี่ยวกันมาโยงให้ดูเหมือนจะเกี่ยวกัน หรือการนำตัวอย่างของชาติอื่นเข้ามาอ้าง โดยไม่พิจารณาบริบทองค์ประกอบ
ซึ่งการมีอคตินั้น ทำให้เกิดการบิดเบือน ไม่ว่าจะโดยเจตนาหรือไม่ก็ตาม อันจะนำมาซึ่งความผิดพลาด และเกิดผลร้ายต่อสังคมส่วนรวม
สุดท้ายนี้ ไม่ว่าผู้อ่านจะเห็นด้วยกับบทความนี้หรือไม่ก็ตาม ก็ขอให้พิจารณาด้วยใจที่เป็นธรรม เป็นกลาง และยึดโยง “ข้อเท็จจริงของสังคมไทย” เป็นสำคัญ
อ้างอิง :
[2] “ครั้งแรกของข้อถกเถียง” ประเทศไทย กับคำถามโทษประหารควรมีอยู่หรือไม่
[3] ‘ยกเลิกโทษประหารชีวิต’ เพราะทุกคนมีสิทธิที่จะมีชีวิตกับกระบวนการยุติธรรมที่บกพร่องของไทย
[5] Number of people shot to death by the police in the United States from 2017 to 2022, by race
[6] La Catedral: The Prison Pablo Escobar Built For Himself
[7] Capital punishment in Mexico
[8] อำมหิตคนร้ายบุกฆ่ายกครัว 11 ศพล้างแค้นเหยื่อข่มขืนที่ทำตัวเองติดคุก
[9] How Cocaine Trafficking Actually Works | How Crime Works
[10] จากหนุุ่มชื่อ “วา” ถึงชายชื่อ “กระแสร์”…สะท้อนอะไรในกระบวนการยุติธรรมบ้านเรา?