เหตุผลที่น้ำมันไทยแพง เรื่อยไปจนถึงสงครามยูเครน อธิบายได้หมดด้วย ภูมิรัฐศาสตร์
ท่ามกลางสถานการณ์การเมืองระหว่างประเทศที่ไม่แน่นอนในปัจจุบัน คำถามและข้อกังวลเกี่ยวกับทรัพยากรที่สำคัญที่สุดในเศรษฐกิจโลกก็ได้ถูกถามขึ้นอีกครั้งจากผู้คนหลากหลายกลุ่ม คำถามและข้อกังวลนั้นก็ไม่ใช่เรื่องอะไร แต่ก็คือเรื่อง “น้ำมันแพง” นั่นเอง
ความเป็นจริงที่หลีกเลี่ยงไม่ได้เกี่ยวกับน้ำมันก็คือ น้ำมันนั้นไม่ได้มีอยู่ในทุกประเทศของโลก ภูมิศาสตร์ของบางประเทศนั้นปรากฏแหล่งน้ำมันอยู่อย่างมากมายมหาศาล ในขณะที่บางประเทศนั้นก็ไม่มีแหล่งน้ำมันอยู่เลยแม้แต่น้อย จุดนี่เองที่ทำให้น้ำมันเป็นสิ่งที่ทุกประเทศจะต้องให้ความสำคัญ เพราะแม้แต่ละประเทศจะมีน้ำมันไม่เท่ากัน แต่ทุกประเทศก็จำเป็นต้องใช้น้ำมันในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศตนเองเหมือนกันทั้งหมด
ข้อเท็จจริงทางภูมิศาสตร์ที่หลีกหนีไม่ได้ต่าง ๆ นั้นเอง จึงเป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งที่ผู้บริหารปกครองรัฐจำเป็นต้องนำเข้ามาพิจารณาในการกำหนดนโยบายต่าง ๆ
คำถามที่ผู้คนสงสัยกันไปอีกในประเด็นที่เกี่ยวข้องนอกจากเรื่องภูมิศาสตร์เกี่ยวกับน้ำมันแล้ว นั่นคือกรณีของสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ส่งผลให้น้ำมันแพงขึ้น ซึ่งก็ทำให้ผู้คนสงสัยว่าทำไมถึงเกิดสงครามขึ้น จะทำสงครามกันไปทำไม ซึ่งเรื่องนี้เองก็สามารถถูกนำมาพิจารณาด้วยข้อเท็จจริงทางภูมิศาสตร์อีกเช่นกัน
ความสัมพันธ์เชื่อมโยงกันระหว่าง ภูมิประเทศหรือภูมิศาสตร์ — นั่นคือลักษณะทางกายภาพ (ทั้งตามธรรมชาติและที่มนุษย์สร้าง) — และรัฐศาสตร์ การเมืองการปกครอง หรือการบริหารราชการแผ่นดิน จึงถูกทำความเข้าใจเป็นสาขาวิชาการเฉพาะทางอย่างหนึ่งในการศึกษาศาสตร์การเมืองการปกครองนั้นคือองค์ความรู้ที่เรียกว่า “ภูมิรัฐศาสตร์” หรือ geopolitics
ในบทความเกี่ยวกับภาพรวมของการศึกษาด้านภูมิรัฐศาสตร์ในยุคปัจจุบัน โดย เซอร์เริน ชโลวิน (Sören Scholvin) นักวิชาการจากสถาบันกิจการระหว่างประเทศแห่งฟินแลนด์ (Finnish Institute of International Affairs; FIIA) ได้กล่าวสรุปถึงวิธีการทำความเข้าใจและศึกษาประเด็นทางภูมิรัฐศาสตร์ปัจจุบันออกมาเป็น 3 เสาหลัก (pillars) ดังนี้ [1]
- “เงื่อนไขทางภูมิศาสตร์นั้น…คือกลุ่มอุปสรรค์และโอกาส ซึ่งหมายความว่ามันคือโครงสร้างที่ปราศจากเจตจำนงค์…เงื่อนไขเหล่านี้ไมได้กำหนดสิ่งที่เราทำ”
- “เงื่อนไขทางภูมิศาสตร์นั้นคือพื้นฐานของคำอธิบายเกี่ยวกับรูปแบบ (pattern) ทั่วไปหรือกระบวนการระยะยาว มันไม่ค่อยมีประโยชน์เมื่อนำมาใช้กับเหตุการณ์เฉพาะหรือพัฒนาการระยะสั้น ๆ…ภูมิรัฐศาสตร์นั้นไม่เกี่ยวข้องกับการพยากรณ์เหตุการณ์”
- “มีความจำเป็นในการย้อนร่องรอยของกระบวนการ[ต่าง ๆ]และตั้งกลไกทางเหตุผลซึ่งเน้นไปที่บทบาทของเงื่อนไขทางภูมิศาสตร์นั้น ๆ [ซึ่ง] ปัจจัยที่เกี่ยวข้องซึ่งมิใช่ภูมิศาสตร์นั้นจะต้องถูกกล่าวด้วย” เช่น เทคโนโลยี หรือ การเมือง (หมายถึงการเมืองที่นำไปสู่การกำหนดนโยบาย – ผู้เขียน)
หากย้อนกลับไปในประเด็นเรื่องราคาน้ำมัน การนำปัจจัยทางภูมิรัฐศาสตร์เข้ามาพิจารณาจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ แม้ผู้คนทั่วไปจำนวนมากนั้นมักจะมองข้ามมันไปก็ตาม โดยถ้าจะตอบอย่างสั้น ๆ ว่าอะไรคือสาเหตุที่ทำให้ราคาน้ำมันในประเทศไทยถึงแพงนั้น นอกจากสถานการณ์ความวุ่นวายที่เกิดขึ้นในยูเครนซึ่งส่งผลถึงราคาน้ำมันในตลาดโลกแล้ว ก็อาจจะตอบได้ว่ามาจากปัจจัยทางภูมิศาสตร์ เพราะประเทศไทยนั้น ไม่ใช่ประเทศที่มีแหล่งผลิตน้ำมันที่เพียงพอกับการใช้น้ำมัน แม้เราจะสามารถผลิตน้ำมันได้ราวอันดับ 29 ของโลก ในขณะเดียวกันเราก็บริโภคหรือใช้น้ำมันเป็นอันดับ 17 ของโลกเลยทีเดียว แซงหน้าหลายประเทศเช่น ออสเตรเลีย, ตุรกี, สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์, อียิปต์, และมาเลเซีย [2] จากข้อมูลล่าสุดประเทศไทยนั้น “ผลิตน้ำมันดิบได้ 100,874 บาร์เรลต่อวัน ขณะที่ความต้องการใช้พลังงานภายในประเทศ อยู่ที่ประมาณ 2,016,000 บาร์เรลต่อวัน” นั่นคือสัดส่วนการใช้น้ำมันนั้นอยู่ที่เกือบ 2000% ของการผลิตน้ำมัน [3]
การผลิตน้ำมันที่น้อยแต่กลับมีการใช้บริโภคเยอะ จึงเป็นสาเหตุที่ประเทศไทยจึงมีการนำเข้าน้ำมันเป็นหลัก จากข้อเท็จจริงนั้นจึงมีการกำหนดนโยบายโครงสร้างราคาน้ำมัน, ภาษีน้ำมัน และการพยุงราคาน้ำมัน ฯลฯ ที่เกิดขึ้น ซึ่งจุดนี้แม้จะไม่ใช่ส่วนที่ถูกกำหนดโดยภูมิศาสตร์ของประเทศไทยโดยตรงตาม “เสาหลัก” ข้อที่ 1 ที่กล่าวไปด้านบนแล้ว ก็ถือเป็นประเด็นที่ได้รับอิทธิพลมาจากข้อเท็จจริงทางภูมิศาสตร์นั้นเช่นกัน
กล่าวคือเมื่อมีทรัพยากรน้อยจากข้อเท็จจริงทางภูมิศาสตร์ จึงมีการเลือกกำหนดนโยบายที่ใช้อยู่ ซึ่งแม้จะมีการเปลี่ยนแปลงนโยบายในเรื่องราคาน้ำมัน มันก็ไม่สามารถเปลี่ยนข้อเท็จจริงที่ว่าประเทศไทยนั้นไม่ได้ผลิตน้ำมันได้เท่าเทียมกับประเทศผู้ผลิตหลักซึ่งพวกเขาสามารถสำรองน้ำมันเอาไว้ใช้ได้ และไม่จำเป็นต้องมีนโยบายพยุงราคาน้ำมัน เป็นต้น นอกจากนั้นข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้องกับภูมิศาสตร์อื่น ๆ เช่น คุณภาพของน้ำมันดิบที่ปนเปื้อนสารอื่น ๆ และจำเป็นต้องผ่านขั้นตอนการผลิตสูง และเทคโนโลยีของโรงกลั่นในประเทศที่ไม่คุ้มกับการพัฒนา [3]
นอกจากนี้การใช้ภูมิรัฐศาสตร์ก็ยังขยายไปถึงการเมืองระหว่างประเทศและกระทั้งการเมืองภายในอีกด้วย เรื่องนี้ก็เป็นอีกจุดที่ภูมิรัฐศาสตร์สามารถนำมาอธิบายประเด็นที่เกี่ยวข้องกันกับเรื่องน้ำมันแพงได้นั่นคือสงครามในประเทศยูเครน
กล่าวอย่างสั้น ๆ ก็คือ การที่ประเทศยูเครนตั้งอยู่ในจุดนั้น คือมีชายแดนติดกับประเทศรัสเซีย นโยบายการต่างประเทศของประเทศยูเครนนั้นจึงส่งผลกระทบกับประเทศรัสเซียไปโดยปริยาย หากประเทศยูเครนเป็นมิตรกับรัสเซีย ก็จะไม่เกิดความขัดแย้งใด ๆ ขึ้น แต่เมื่อประเทศยูเครนมีท่าทีซึ่งเป็นปฏิปักษ์กับรัสเซียแล้ว การที่ทั้งสองประเทศมีชายแดนติดกัน ความตึงเครียดก็สามารถเกิดขึ้นจากความเป็นไปได้ในการเผชิญหน้ากันระหว่างของประเทศ ซึ่งแน่นอนว่าในปัจจุบันก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริงแล้ว
ซึ่งตาม “เสาหลัก” ของการศึกษาประเด็นทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ถูกกล่าวในบทความนี้ ตำแหน่งของประเทศยูเครนนั้นก็คือ “เงื่อนไขทางภูมิศาสตร์” ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ขณะเดียวกัน สงครามที่เกิดขึ้นนั้นก็ไม่สามารถกล่าวได้ว่าเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ นั่นเพราะหากยูเครนยังคงดำเนินนโยบายการต่างประเทศที่พิจารณาถึงรัสเซียด้วย (เช่นที่เป็นจุดยืนของรัฐบาลยูเครนก่อนหน้าการรัฐประหารซึ่งสนับสนุนโดยตะวันตก) สงครามก็จะเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้
ภูมิรัฐศาสตร์นั้นจึงยังคงเป็นเครื่องมือสำคัญในการทำความเข้าใจประเด็นต่าง ๆ ในทางการเมืองการปกครองทั้งระหว่างประเทศและภายในประเทศ แม้จะไม่ใช่ศาสตร์แห่งการพยากรณ์ที่สามารถบอกถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นโดยแน่นอน แต่ก็เป็นสิ่งที่ทำให้ผู้ศึกษาได้ทราบถึงที่มาที่ไปและเหตุผลของการกระทำ ความคิด และนโยบาย ของรัฐต่าง ๆ ในโลกได้ไม่มากก็น้อย ตามสิ่งคำพูดของนักวิชาการท่านหนึ่งที่ถูกกล่าวไว้บทความที่ยกมาว่า “รัฐมนตรีมาแล้วก็ไป ขนาดเผด็จการก็ตายได้ แต่เทือกเขานั้นยืนยงอยู่อย่างไม่กระทบกระเทือน”