เส้นแบ่งของ ‘สิทธิเด็กและเยาวชน’ ในทางการเมือง และ การมีส่วนร่วมใน ‘การชุมนุม’ หรือ เมื่อ ‘ความเป็นเด็ก’ และ ‘อภิสิทธิของเยาวชน’ ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือใน ‘การประท้วง’ เพื่อหวังผลทางการเมือง
จากข่าวสารเกี่ยวกับเหตุการณ์บ้านเมือง โดยเฉพาะในเรื่องการเมืองมวลชน ในปัจจุบันเราจะเห็นได้ว่ามีเด็กและเยาวชนหรือเยาวชนเข้าร่วมการชุมนุมประท้วง การแสดงสัญลักษณ์ การจัดกิจกรรมทางการเมืองต่าง ๆ หรือกระทั่งการ “แสดงพลัง” ที่หลายครั้งก็ได้เลยเถิดไปสู่การกระทำผิดกฎหมายบ้านเมือง
ปฏิกิริยาของผู้คนจำนวนหนึ่งนั้นอาจจะเป็นการแสดงความเห็นในทำนองว่าเป็นสิ่งไม่เหมาะสม เช่น ‘เด็กและเยาวชน ๆ ไม่ควรจะเข้ามายุ่งเกี่ยวทางการเมือง’ หรือ ‘การเมืองเป็นเรื่องของผู้ใหญ่ เด็กและเยาวชน ๆ มีหน้าที่เรียน’ เป็นต้น
แต่ในมุมตรงกันข้าม ก็จะมีการโต้แย้งขึ้นมาโดยมีฐานความคิดอยู่บนคำพูดทำนองว่า ‘การเมืองเป็นเรื่องของทุกคน’
อย่างไรก็ตาม คำว่า “ทุกคน” ในที่นี้นั้น โดยนัยยะแล้วควรจะหมายถึงปัจเจกบุคคลที่มีสิทธิและความสามารถในทางกฎหมายเท่าเทียมกันในสังคม ซึ่งนั้นก็หมายถึงบุคคลที่บรรลุนิติภาวะและถือเป็นผู้ใหญ่เต็มตัวโดยสมบูรณ์
คำถามจึงเกิดขึ้นว่าเด็กและเยาวชนและเยาวชนที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะนั้นควรจะถูกรวมอยู่ในคำว่า “ทุกคน” นี้ด้วยหรือไม่?
หากไม่รวม นั้นก็แปลว่า “สนามการเมือง” คือสถานที่ที่เด็กและเยาวชนไม่สามารถเข้ามามีส่วนร่วมใด ๆ ได้เลยงั้นหรือ?
แต่หากรวมเด็กและเยาวชนและเยาวชนเข้าไปด้วย คำถามก็จะมีต่อไปว่า อะไรคือขอบเขตและความเหมาะสมในการเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองของเด็กและเยาวชน
เพราะข้อเท็จจริงที่จะต้องพิจารณาคือเด็กและเยาวชนและเยาชนในสังคมนั้นมีความไม่เท่าเทียมกับผู้ใหญ่ ทั้งในพัฒนาการทางความคิด ในบทบาทของสังคม และในระบบกฎหมาย คือเด็กและเยาวชนและเยาวชนนั้นมีทั้ง “อภิสิทธิ์” (privilege) และ “ข้อจำกัด” มากกว่าผู้ใหญ่
ดังนั้นหากเด็กและเยาวชนและเยาวชนเข้ามามีส่วนร่วมในทางการเมืองแล้ว “อภิสิทธิ์” และ “ข้อจำกัด” เหล่านั้นควรจะถูกยกเลิกไปหรือไม่? เพื่อให้มีความเท่าเทียมกันในสนามการเมืองและถือว่าเด็กและเยาวชนเป็น “ปัจเจกบุคคล” เท่ากับผู้ใหญ่โดยสมบูรณ์
หรือหากจะไม่มีการยกเลิก “อภิสิทธิ์” และ “ข้อจำกัด” เหล่านั้น เราสามารถสรุปได้หรือไม่ว่าเมื่อเด็กและเยาวชนและเยาวชนก้าวเข้ามาสู่สนามการเมือง พวกเขานั้นมีข้อได้เปรียบและมีแต้มต่อในการขับเคลื่อนทางการเมืองมากกว่าผู้ใหญ่?
คำถามและการพูดคุยเกี่ยวกับประเด็นนี้นั้นดูจะมีความจำเป็นเป็นอย่างยิ่ง เพราะปัจจุบัน แม้จะยังไม่มีการพูดคุย ถกเถียง หาแนวคิดและข้อสรุป แต่เราก็ได้เห็นเยาวชนเข้าไปมีส่วนร่วมกับการเมืองมวลชนในหลาย ๆ ครั้งที่ผ่านมา และดูเหมือนจะมีแนวโน้มที่จะมีมากขึ้น ๆ ประเด็นนี้จึงเป็นสิ่งที่ควรจะมีการหารือพูดคุยอย่างเร่งด่วนในสังคม เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผลเสียต่อเด็กและเยาวชน ๆ และครอบครัว และสังคมทั้งในเชิงปัจเจกและส่วนร่วม
ก่อนที่จะมีการพูดคุยไปสู่ข้อสรุปเกี่ยวกับแนวทางของการร่วมชุมนุม หรือเข้าร่วมการเคลื่อนไหวทางการเมืองแบบมวลชน หรือการแสดงออกทางการเมืองต่าง ๆ นั้น เราควรจะทำความเข้าใจก่อนว่าเด็กและเยาวชนและเยาวชนนั้นมี “อภิสิทธิ์” ใดบางในทางกฎหมาย โดยเฉพาะเมื่อพวกเขาเข้าร่วมการชุมนุม และการชุมนุมนั้นได้ขยายความรุนแรงขึ้น จนเยาวชนเหล่านั้นได้มีการกระทำผิดหรือเป็นผู้ต้องหาว่ากระทำผิด
ในบทความของโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือที่รู้จักกันในชื่อ ไอลอว์ (iLaw) ซึ่งคือองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร (หรือ NGO) ที่ทำงานด้านกฎหมายและสังคมออนไลน์ในประเด็นทางสังคมการเมือง
โดยไอลอว์ได้มีการสรุปเนื้อหาเกี่ยวกับการดำเนินการทางกฎหมายของเด็กและเยาวชนที่ ‘แตกต่าง’ และ ‘พิเศษ’ กว่าบุคคลที่บรรลุนิติภาวะ นั้นก็คือผู้ใหญ่ทั่วไป โดยเฉพาะที่อยู่ในพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2553 (พ.ร.บ. ศาลเยาวชนฯ) [1]
ซึ่ง “อภิสิทธิ์” ของเด็กและเยาวชนที่กระทำผิดกฎหมาย แต่ไม่ต้องได้รับการบังคับใช้กฎหมายทั่วไปเหมือนผู้ใหญ่ แต่มีระเบียบแบบแผนในการบังคับใช้กฎหมายที่พิเศษออกไปนั้นก็สรุปได้อย่างสังคมเขปดังนี้
หากเด็กและเยาวชนอายุตั้งแต่ 10-15 ปี กระทำผิด การจับกุมนั้นจะทำได้ก็ต่อเมื่อเป็นการกระทำความผิดซึ่งหน้า หรือมีหมายจับหรือคำสั่งศาลเท่านั้น นอกจากนั้นจะจับกุมมิได้
ในกรณีเด็กและเยาวชนอายุตั้งแต่ 15-18 ปี จะต้องกระทำผิดซึ่งหน้า เช่นกัน หรือมีเหตุเร่งด่วน หรือหลบหนีหลังได้รับการประกันตัว หากเข้าเงื่อนไขนี้จึงจะมีการบังคับใช้กฎหมายจับกุมเช่นเดียวกับผู้ใหญ่
ในส่วนของการสืบสวน ต้องมีผู้ปกครองอยู่ในกระบวนการด้วย และต้องส่งตัวไปศาลภายใน 24 ชั่วโมง
ในกระบวนการตรวจสอบการจับกุม ต้องมีการพิจารณาว่าจับกุมและปฏิบัติอย่างถูกต้องชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ หากไม่ชอบด้วยกฎหมายก็ต้องปล่อยตัวในทันที
การพิจารณาคดี จะต้องมีที่ปรึกษากฎหมาย, ผู้ปกครองสามารถได้รับการแต่งตัวจากศาลให้เป็นผู้ดูแลและอำนวยความสะดวกให้เด็กและเยาวชนระหว่างพิจารณคดี, การพิจารณาความจะต้องเป็นความลับ
ศาลสามารถที่จะเปลี่ยนแปลงโทษอาญาเป็นการฝึกอบรมหรือคุมประพฤติตามแผนฟื้นฟูที่สถานพินิจจัดทำให้แทนรับโทษปกติ
เหล่านี้ โดยเฉพาะข้อสุดท้าย คือการที่สามารถเปลี่ยนโทษอาญาเป็นอย่างอื่นได้ แสดงให้เห็นว่าการเป็นเด็กและเยาวชนนั้นมีความพิเศษและเป็นสถานะที่สังคมและระบบกฎหมายเอื้อประโยชน์ให้อย่างมาก เมื่อเทียบกับบุคคลทั่วไปที่เป็นผู้ใหญ่
อย่างไรก็ตามในบทความของไอลอว์นี้นั้น ได้มีการกล่าวถึงการชุมนุมของเด็กและเยาวชนว่า “ได้รับความคุ้มครองไว้ในข้อที่ 15 ของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กที่ไทยเป็นภาคีและมีพันธกรณี” เพื่อเป็นการพยายามชี้นำให้เห็นว่าแม้เด็กและเยาวชนจะได้รับ “อภิสิทธิ์” ในทางกฎหมายตามพ.ร.บ. ศาลเยาวชน
แต่ก็ถือเป็นสิ่งที่ไม่ตรงตามหลักการเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพของเด็กที่ระบุอยู่ใน “อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก” (Convention on the Rights of the Child) ของสหประชาชาติ
อย่างไรก็ดี เพื่อเราพิจารณาเนื้อหาของ “อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก” ที่ถูกอ้างขึ้นมานั้นก็อาจจะกล่าวได้ว่านี่คือความพยายามในการชี้นำโดยไม่สนใจถึงเนื้อหาทั้งหมดจริง ๆ เพราะในอนุสัญญาฉบับดังกล่าว [2] ตั้งแต่ข้อ 13 ที่กล่าวถึงการคุ้มครองสิทธิในแสดงออกทางความคิดและการเข้าถึงข้อมูล
ก็มีการกล่าวว่ารัฐสามารถมีการกำหนดข้อกฎหมายที่จำกัดของสิทธิเหล่านั้นได้ “เพื่อการปกป้องความมั่นคงของรัฐ หรือเพื่อความสงบเรียบร้อยของสาธารณะ หรือเพื่อ[ประเด็นทาง]สาธารณสุข หรือศีลธรรมอันดี” ([f]or the protection of national security or of public order (ordre public), or of public health or morals.)
หรือในข้อ 14 ที่ระบุว่ารัฐต้องเคารพสิทธิในการนับถือหรือยึดถือความคิด, จิตสำนึก, หรือศาสนานั้นเอง ก็มีการระบุถึงการที่รัฐสามารถมีบทบัญญัติทางกฎหมายเพื่อจำกัดสิทธิเหล่านั้นในทำนองเดียวกันคือ “เพื่อป้องกันความมั่นคงปลอดภัย, ความสงบเรียบร้อย, สุขภาวะ, หรือศีลธรรมอันดีของสาธารณะ” (to protect public safety, order, health or morals)
หรือกระทั่งข้อ 15 ที่บทความของไอลอว์ได้มีการยกขึ้นมา คือสิทธิเสรีภาพในการรวมตัวและชุมนุมอย่างสันตินั้น ก็มีการกล่าวถึงความสามารถของรัฐในการจำกัดสิทธิเหล่านั้นได้
“เพื่อประโยชน์ต่อความมั่นคงของรัฐ หรือความปลอดภัยหรือความสงบเรียบร้อยของสาธารณะ, การปกป้องสาธารณสุขหรือศีลธรรมอันดี” (in the interests of national security or public safety, public order (order public), the protection of public health or morals)
ดังนั้นเราจะเห็นได้ว่ารัฐไทยนั้นมีการปฏิบัติตามบทบัญญัติของกฎหมายภายในประเทศและอนุสัญญาระหว่างประเทศที่ไทยเป็นภาคี
การกระทำผิดกฎหมายของเด็กและเยาวชนที่เกิดขึ้นในอดีตอันใกล้นี้นั้นจึงมีปฏิกิริยาจากรัฐไทยที่อะลุ่มอล่วยและไม่ได้เกินกว่าเหตุเลยในภาพกว้าง (เว้นแต่รายกรณีไป) ดังเช่นที่มีเหตุการณ์ชุมนุมของกลุ่ม “ทะลุแก๊ส” ที่มีการจุดพลุและเผารถกระบะของราชการซึ่งถือเป็นความผิด “เจ้าหน้าที่ได้มีการประกาศว่าจะไม่มีการจับกลุ่มผู้ชุมนุม” [3]
ซึ่งถ้าเทียบกับการชุมนุมประท้วงที่ไม่ได้มี “ฉากหน้า” ว่าเป็นการชุมนุมของเด็กหรือเยาวชน แต่เป็นการชุมนุมของประชาชนที่บรรลุนิติภาวะ หรือเป็นผู้ใหญ่โดยสมบูรณ์นั้น
ปฏิกิริยาของฝ่ายตำรวจและเจ้าหน้าที่รัฐนั้นก็อาจจะแตกต่างไปจากนี้มาก นี่เองจึงอาจจะเป็นเหตุผลที่ในระยะหลังนั้นเราจะเห็นการขับเคลื่อนมวลชนด้วยเด็กและเยาวชนกันอย่างล้มหลาม และซึ่งบางครั้งการชุมนุมประท้วงเหล่านั้นก็อาจจะไม่ได้นำโดยเด็กและเยาวชนจริง ๆ อย่างเช่นกลุ่ม “นักเรียนเลว” ที่นำโดยนายลภนพัฒน์ หวังไพสิฐ หรือที่รู้จักกันในชื่อ “มิน นักเรียนเลว” ซึ่งในปัจจุบันนั้นก็มีอายุมากกว่า 18 ปี และถือว่ามิได้เป็นผู้ที่อยู่ในสถานะเยาวชนอีกต่อไป
แต่การขับเคลื่อนทางการเมืองของเขานั้นก็แสดงออกภายใต้นัยยะว่าเป็นเด็กและเยาวชนตลอด ๆ เช่น การแต่งกายเลียนแบบชุดนักเรียน (ซึ่งก็เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติเครื่องแบบนักเรียนอีกด้วย) ทั้งที่เขาเองนั้นก็ไม่ได้สังกัดสถานศึกษาใด ๆ และเรียนในระบบการศึกษาที่บ้าน (homeschool) [4]
เราจึงอาจกล่าวได้อย่างเต็มปากว่าในการขับเคลื่อนการเมืองมวลชนที่เกิดขึ้นในปัจจุบันนั้น การเข้ามามีส่วนร่วมของเด็กและเยาวชนนั้นเป็นประเด็นที่ซับซ้อนและมีความยุ่งยากมาก
จากการตีความเกี่ยวกับสถานะและสิทธิของเด็กภายในกรอบหรือขอบเขตของการมีส่วนร่วมทางการเมือง รวมถึงการพยายาม ‘ชักจูง’ เด็กและเยาวชน หรือการใช้พวกเขาเป็น ‘ฉากหน้า’ โดยผู้ที่มิได้เป็นเด็กหรือเยาวชนเสียเอง ซึ่งในกรณีนี้ก็มีความพยายามในการเรียกร้องเพื่อ “ปกป้องสิทธิและเสรีภาพเด็กและเยาวชนไม่ให้ถูกนำไปในทางที่ผิดหรือเป็นเครื่องมือทางการเมืองของผู้ที่อยู่เบื้องหลัง” [5]
ไม่ว่าการพูดคุยถกเถียงเพื่อหาข้อสรุปในประเด็นนี้นั้นจะออกมาเป็นอย่างไร สิ่งหนึ่งที่จะต้องยอมรับกันนั้นก็คือในระบบกฎหมายและรวมทั้งในวัฒนธรรมประเพณีและธรรมเนียมปฏิบัติ ซึ่งมาจากมโนทัศน์ของผู้คนในสังคมไทย และในอีกหลาย ๆ สังคมนั้น
“เด็กและเยาวชน” ก็ยังคงถือเป็นกลุ่มคนที่มีความจำเป็นที่จะต้องได้รับการปกป้อง คุ้มครอง ดูแล ซึ่งพัฒนาไปเป็น “อภิสิทธิ์” และ “ข้อจำกัด” ตามบทบัญญัติทางกฎหมาย การเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองของเด็กและเยาวชนนั้น เมื่อเทียบกับบุคคลผู้บรรลุนิติภาวะเป็นผู้ใหญ่นั้นจึงหลีกหนีไม่ได้ที่จะมีความได้เปรียบและแต้มต่อในทางกฎหมายมากกว่า
และสิ่งนี้เองจึงเป็นเหตุผลที่พอจะสรุปคาดเดาได้ว่า หากยังไม่มีการพูดคุยถึงกรอบและขอบเขตการเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองและการชุมนุมของเด็กและเยาวชนจนได้ข้อสรุปร่วมกัน โดยเฉพาะในภาครัฐ
การที่เด็กและเยาวชนจะมีความเสี่ยงในการตกเป็น “เหยื่อ” และเป็นเครื่องมือทางการเมือง หรือการที่เด็กและเยาวชนที่มองเห็นถึงความได้เปรียบของพวกเขานั้นจะขึ้นมาเป็น “ผู้กระทำ” การเคลื่อนไหวด้วยตัวของเขาเองนั้น เราก็คงจะเห็นการใช้ “ความเป็นเด็ก” ในสนามการเมืองอยู่ต่อไป
อ้างอิง :
[1] พ.ร.บ. ศาลเยาวชนฯ กับความพยายามคุ้มครองเด็กเเละเยาวชนเเทนการลงโทษ
[2] อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก จากเว็บไซต์สำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ
[3] อารมณ์ค้าง! “ทะลุแก๊ส” บุกบ้านนายกฯ ยิงพลุ-เผารถตำรวจ จนท.ตรึงกำลังเข้ม
[4] คุยกับ “มิน” เยาวชนวัย 17 ปี ผู้ก่อตั้งกลุ่ม “นักเรียนเลว” กิจกรรมมาจากเงิน “ค่าขนม”
[5] “กลุ่มผู้ก่อการดี” ยื่นฟ้อง UN หยุดใช้เด็กเป็นอาวุธใช้ความรุนแรงปะทะ คฝ.
เที่ยวบินโดยสารเชิงพาณิชย์ เชื้อเพลิงชีวภาพ 100%: ความสำเร็จในยุโรป ที่ส่งผลกระทบถึงประเทศไทย
ศิราวุธ ภุมมะกสิกร
อดีตวิศวกรโครงการ ระดับผู้จัดการ จบปริญญาตรีวิศวกรรมเครื่องกล จาก พระจอมเกล้าธนบุรี และ โท ด้าน Advanced Manufacturing Engineering จาก University of South Australia มีความสนใจในเรื่องประวัติศาสตร์ การเมือง และสวัสดิการสังคม