
เจาะลึกวิเคราะห์ เบื้องหลังยาหอมของมาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศสมีอะไร
ในการประชุมเอเปค 2022 ที่เพิ่งจะจบลงไปนี้ ท่าทีที่เป็นมิตร และการดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลไทย กับซาอุดีอาระเบีย และจีนนั้น ไม่มีอะไรน่าแปลกใจ เนื่องด้วยความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองประเทศ มีแนวโน้มที่ใกล้ชิดมาตลอด
แต่ผู้นำชาติที่สร้างความประหลาดใจให้แก่คนไทยอย่างเหนือความคาดหมายนั้นกลับเป็น ประธานาธิบดีแอมานุแอล มาครง ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศสนั่นเอง
ไม่ว่าจะการชมการแข่งขันมวยไทยที่เวทีมวยราชดำเนิน แสดงความชื่นชอบและชื่นชมศิลปะมวยไทย หรือการเดินทางไปเยี่ยมชม ถนนสตรีทฟู้ด อันเลื่องชื่อในไทย นั่งจิบเบียร์ ทานอาหารในเยาวราช
และการเยี่ยมชมเยี่ยมชม วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม หรือ วัดโพธิ์ พร้อมทั้งโพสต์เฟสบุคชื่นชมพระนอนของไทย และศิลปวัฒนธรรมไทย ด้วยภาษาไทยความว่า
“วัดโพธิ์ สถานที่สำคัญของพุทธศาสนาไทย เตือนให้เราตระหนักว่ามรดกทางศาสนาแห่งนี้มีส่วนในการสร้างเอกลักษณ์ของคนไทยมากเพียงใด ฝรั่งเศสจะสนับสนุนการส่งเสริมและการอนุรักษ์ของวัดในนามของมิตรภาพยืนนานในประวัติศาสตร์ระหว่างฝรั่งเศสและไทย”
โปรยยาหอมใส่คนไทย ทำเอาหลายคนยิ้มอย่างภาคภูมิใจในความเป็นไทยไปตาม ๆ กัน
แต่ระดับผู้นำประเทศระดับนี้ ไม่ทำอะไรโดยไม่มีนัยยะแอบแฝง การโปรยยาหอมของประธานาธิบดีแอมานุแอล มาครง ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศส มีวัตถุประสงค์แอบแฝงอะไร ? เรามาวิเคราะห์เจาะลึกกัน
—
ย้อนกลับไปมองสถานการณ์ความตึงเครียดในยุโรป อันเนื่องมาจากความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน จนกลายเป็นการปะทะใช้กำลังระหว่างกัน ซึ่งส่งผลให้อเมริกาและสหภาพยุโรป ประกาศคว่ำบาตร ทำสงครามเศรษฐกิจต่อยุโรปนั้น กลับกลายเป็นดาบสองคม ที่ย้อนกลับมาทำร้ายชาติและประชาชนชาวยุโรปเองด้วยเช่นกัน
ปัจจัยหลักที่ทำให้ประชาชนชาวยุโรปประสบปัญหามาจากการนำเข้าอาหารและพลังงาน ซึ่งจากเดิมเคยได้รับจากรัสเซียนั้นหายไป ส่งผลให้อุปทานของยุโรปต่ำลง ราคาค่าครองชีพของยุโรปพุ่งขึ้นสูงมาก สร้างความเดือดร้อนให้แก่ชาวยุโรปทุกหย่อมหญ้า รวมไปถึงฝรั่งเศสด้วยเช่นกัน
ถึงแม้ว่าประชาชนชาวฝรั่งเศสจะแสดงท่าทีไม่พอใจ เดินขบวนประท้วงรัฐบาลมาครง ต่อการเข้าไปมีส่วนร่วมในความขัดแย้งระหว่างยูเครนและรัสเซีย แต่ประธานาธิบดีมาครง กลับไม่มีทางเลือกอื่นใด นอกจากการคล้อยตามอเมริกา ด้วยเหตุว่า กองทัพนาโต้ของยุโรปนั้น อยู่ใต้อิทธิพลของกองทัพอเมริกา และไร้ขีดความสามารถในการทำสงครามป้องกันตนเอง หากปราศจากความช่วยเหลือจากกองทัพอเมริกา
ประธานาธิบดีแอมานุแอล มาครงจึงต้องหาวิธีคลายวงล้อมการคว่ำบาตร ด้วยการแสวงหาพันธมิตรเพิ่มเติมในเอเชีย
—
ประเทศไทย เป็นตัวเลือกที่สำคัญ ที่ประธานาธิบดีมาครงให้ความสำคัญ เห็นได้จากความพยายามที่จะต่อยอดความสัมพันธ์ระหว่างไทยและฝรั่งเศสให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นกว่าเดิม รัฐบาลฝรั่งเศสพยายามติดต่อสานสัมพันธ์กับไทย จนกลายเป็นการลงนามความร่วมมือระหว่างกันเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ณ กรุงปารีส ซึ่งเกิดขึ้นหลังกองทัพรัสเซียกรีธาทัพบุกยูเครนเพียง 2 วันเท่านั้น
นอกจากนี้ ในวันที่ 17 พฤศจิกายน ประธานาธิบดีมาครง มีหมายกำหนดการรับประทานอาหารเที่ยงร่วมกับพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีของไทย ก่อนที่จะมีการหารือ และแถลงการณ์ร่วมกันถึงแผนโร้ดแมปการดำเนินความสัมพันธ์ไทย – ฝรั่งเศส (พ.ศ. 2565 – 2567) โดยมีเป้าหมายที่การยกระดับสถานะความสัมพันธ์สู่การเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ (Strategic Partner) ระหว่างกันภายใน พ.ศ. 2567
นอกจากนี้ หลังการเยือนเวทีมวยราชดำเนิน ประธานาธิบดีมาครง มีหมายกำหนดการให้นายธนินท์ เจียรวนนท์ประธานเครือเจริญโภคภัณฑ์ (CP) เข้าพบเพื่อหารือร่วมกันอีกด้วย
นี่มีความเป็นไปได้อย่างมาก ที่ประธานาธิบดีมาครง จะหมายมั่นให้ไทยเป็นแหล่งป้อนอาหารเข้าสู่ฝรั่งเศส เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร ลดราคาค่าครองชีพที่พุ่งขึ้นสูงในฝรั่งเศสก็เป็นได้
ความเคลื่อนไหวของประธานาธิบดีมาครง ที่จำเพาะเจาะจงที่จะสื่อสารโดยตรงถึงคนไทยทุกคน มีความมุ่งหวังที่จะซื้อใจคนไทยทั้งประเทศ เพื่อประโยชน์ในการสานความสัมพันธ์ระหว่างไทยและฝรั่งเศส ก่อนที่จะยกระดับความสัมพันธ์ สู่ความเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ระหว่างกัน ในอีก 2 ปีข้างหน้านั่นเอง
นอกจากนี้ รัฐบาลฝรั่งเศส อาจทราบข่าวการฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับซาอุดีอาระเบีย ประเทศผู้ค้าน้ำมันรายใหญ่ของโลก ซึ่งมีแผนจะร่วมลงทุนด้านพลังงานในประเทศไทย ตลอดจนแผนการสร้างคลังสำรองน้ำมันในประเทศไทย
ฝรั่งเศสอาจคาดหวังจะให้ไทยเป็นตัวกลางเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างฝรั่งเศสกับซาอุดีอาระเบีย เพื่อสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้ฝรั่งเศส แทนที่รัสเซียด้วยก็เป็นได้
—
แผนการคลายวงล้อมทางเศรษฐกิจของประธานาธิบดีแอมานุแอล มาครง ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศสในครั้งนี้ นับเป็นโอกาสทองของประเทศไทย ที่จะขยายฐานการส่งออกอาหารสู่ฝรั่งเศส
เพื่อการตอบรับต่อโอกาสที่ได้มาในครั้งนี้ ประเทศไทยควรเร่งพัฒนาศักยภาพด้านการเกษตรและอาหารส่งออก เพื่อให้ได้มาตรฐานที่เป็นที่ยอมรับของสหภาพยุโรป ซึ่งในอนาคต ฐานลูกค้าของไทย อาจไม่ได้มีเพียงแค่ฝรั่งเศส แต่อาจจะเป็นยุโรปทั้งทวีปเลยก็เป็นไปได้
โอกาสทองของคนไทยทั้งประเทศได้มาถึงหน้าบ้านของพวกเราแล้ว พวกเราควรเร่งพัฒนาศักยภาพของตนเอง เพื่อตักตวงผลประโยชน์เข้าประเทศ เพื่อประโยชน์ และอนาคตของพวกเราชาวไทยทุกคน
ผู้เขียน ศิราวุธ ภุมมะกสิกร
อ้างอิง
[1] The Structure, “ผู้นำฝรั่งเศสเยือน ‘ราชดำเนิน’ อองตวน ปินโตในฐานะทีมดูแลต้อนรับชี้ ภูมิใจที่มาครงให้ความสนใจกับมวยไทยมาก”, < https://thestructure.live/antoine-pinto-welcomes-macron-apec-2022-11-18/>
[2] ประชาชาติธุรกิจ, “ชื่นมื่น ประธานาธิบดี มาครง แวะอิ่มอร่อย ร้านฮั่วเซ่งฮง เยาวราช”, < https://www.prachachat.net/prachachat-hilight/news-1123937>
[3] กรุงเทพธุรกิจ, “ชมภาพประทับใจ ‘ปธน.มาครง’ ปลื้มเมืองไทย เที่ยวทั่วกรุงเทพฯ”, < https://www.bangkokbiznews.com/world/1038782>
[4] Emmanuel Macron แฟนเพจ, 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565 เวลา 21:00 น., < https://www.facebook.com/EmmanuelMacron/posts/pfbid02CmPwVh6dcjxtY8FY6mTGCe1TKQzarJtgF5AG1eLouhWPQt8m55z3HnHabzwn5fsbl>
[5] The Structure, “วิกฤตข้าวสาลี สงครามรัสเซีย-ยูเครน ทำอาหารขาดแคลนทั่วโลก”, <https://thestructure.live/วิกฤตข้าวสาลี-สงครามรัสเซีย-ยูเครน-ทำอาหารขาดแคลนทั่วโลก/>
[6] The Structure, “เอากลับมาเป็นของรัฐ ฝรั่งเศสเตรียมซื้อบริษัทการไฟฟ้าคืนหวังควบคุมเบ็ดเสร็จเพื่อลดภาระประชาชน”, <https://thestructure.live/france-to-launch-buyout-edf/>
[7] The Structure, “ชาวฝรั่งเศสนับแสน ประท้วงค่าครองชีพและน้ำมันแพง พร้อมจี้รัฐบาลหยุดยุ่งกับยูเครนได้แล้ว”, <https://thestructure.live/massive-protest-in-france-over-soaring-prices-2022-10-19/>
[8] Gavroche Thaïlande, “THAÏLANDE – APEC : Voici le programme d’Emmanuel Macron à Bangkok”, https://www.gavroche-thailande.com/thailande-apec-voici-le-programme-demmanuel-macron-a-bangkok/
[9] ศูนย์ปฏิบัติการนายกรัฐมนตรี – PMOC, “แผนการยกระดับความสัมพันธ์ ไทย-ฝรั่งเศส”, < https://www.facebook.com/story.php?story_fbid=pfbid0oSW3K3SYyQcfQ9jZYGzoAh3yD2n9dF9UTLwwtKXeH2LSHiE2aZvVWf5yzZek5PxFl&id=100069126223361&sfnsn=mo&mibextid=RUbZ1f>
แคนาดา ประเทศที่ฟื้นตัวจากภาวะการขาดดุลครั้งใหญ่ ด้วยวินัยทางการเงินสู่ความรุ่งเรืองในปัจจุบัน
สหรัฐอเมริกา ประเทศแม่แบบของประชาธิปไตยสมัยใหม่ ที่กลับมีรูปแบบการเลือกตั้งแตกต่างจากประเทศอื่น
ศิราวุธ ภุมมะกสิกร
อดีตวิศวกรโครงการ ระดับผู้จัดการ จบปริญญาตรีวิศวกรรมเครื่องกล จาก พระจอมเกล้าธนบุรี และ โท ด้าน Advanced Manufacturing Engineering จาก University of South Australia มีความสนใจในเรื่องประวัติศาสตร์ การเมือง และสวัสดิการสังคม