“ฮาลาล” สัญลักษณ์แห่งอาหารที่ถูกหลักอนามัยขั้นสุด ไม่ใช่เฉพาะมุสลิม แต่ดีสำหรับทุกคน
ใครที่มีเพื่อนเป็นชาวมุสลิมอาจจะทราบถึงวิถีชีวิตของพวกเขาที่มีความจำเป็นที่จะต้องสังเกตและรู้เท่าทันในเรื่องอาหารการกินเป็นพิเศษ นั่นเพราะศาสนาอิสลามนั้นมีบทบัญญัติและข้อกำหนดในทางศาสนาเกี่ยวกับสิ่งที่รับประทานได้หรือไม่ได้ ซึ่งข้อกำหนดเหล่านั้นก็มีมากกว่าผู้นับถือศาสนาอื่น ๆ หลายคนอาจจะทราบเพียงว่าชาวมุสลิมนั้นห้ามรับประทานเนื้อหมู แต่ในความเป็นจริงแล้วยังมีอีกหลายอย่างที่พวกเขาห้ามรับประทาน จึงมีความจำเป็นที่มุสลิมทุกคนจะต้องพยายามทำความเข้าใจว่าอาหารชนิดไหน หรือร้านอาหารร้านไหน ที่รับประทานได้หรือไม่ได้
แน่นอนว่าหากจะให้ชาวมุสลิมทุกคนไปสืบค้นกันเองว่าอาหารชนิดไหน ร้านอาหารร้านไหน หรือผลิตภัณฑ์ชิ้นไหนที่รับประทานหรือบริโภคได้หรือไม่ได้ เป็นกรณี ๆ ไปนั้น ก็จะทำให้เสียเวลาและเป็นไปได้ยาก นี่จึงเป็นสาเหตุที่ได้มีการพัฒนาระบบ “ตราฮาลาล” ขึ้นมา เพื่อความสะดวกรวดเร็วสำหรับชาวมุสลิมในการเลือกใช้และเลือกบริโภคสิ่งที่เป็นที่อนุมัติตามหลักการและบทบัญญัติของศาสนาของพวกเขา
ซึ่งในความเป็นจริงแล้วคำว่า “ฮาลาล” (halal; حلال) นั้นก็เป็นคำภาษาอาหรับ (ซึ่งคือภาษาหลักที่ใช้ภายในกิจการศาสนาอิสลาม) ที่มีความหมายว่า “อนุมัติ” หรือ “อนุญาต” เท่านั้น ตราฮาลาล จึงถือเป็นเพียงตราที่ประทับเอาไว้ในสินค้าและผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เพื่อเป็นการยืนยันให้กับชาวมุสลิมแล้วว่าได้รับการอนุมัติหรืออนุญาตในการบริโภคได้
ขณะที่คำว่า “ฮาลาล” แปลว่า “อนุมัติ” หรือ “อนุญาต” คำที่ตรงกันข้ามก็คือคำว่า “ฮารอม” (haram; حرام) ซึ่งแปลว่า “ต้องห้าม” ซึ่งอย่างที่กล่าวไป แม้หลาย ๆ คนจะเข้าใจว่าชาวมุสลิมจะห้ามรับประทานหมู แต่ในความเป็นจริงแล้วยังมีอีกหลายสิ่งที่เป็นของต้องห้ามสำหรับชาวมุสลิม
ซึ่งในประกาศคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย เรื่อง ข้อกำหนดการตรวจรับรองกระบวนการผลิตผลิตภัณฑ์ฮาลาล พ.ศ. 2559 ได้มีการระบุถึงสิ่งที่ “ฮารอม” เอาไว้ในข้อ 4.4 คือผลิตภัณฑ์ที่มาจากหรือมีส่วนประกอบมาจากสิ่งต่อไปนี้ [1]
4.4.1 สุกร หมูป่า และสุนัข
4.4.2 งูและลิง
4.4.3 สัตว์กินเนื้อเป็นอาหารที่มีเขี้ยวและกรงเล็บ เช่น สิงโต เสือ หมี และสัตว์อื่น ๆ ที่คล้ายกัน
4.4.4 นกล่าเหยื่อที่มีกรงเล็บ เช่น นกอินทรี นกแร้ง และนกอื่น ๆ ที่คล้ายกัน
4.4.5 สัตว์ทำลายและสัตว์มีพิษ เช่น หนู ตะขาบ แมงป่อง และสัตว์อื่น ๆ ที่คล้ายกัน
4.4.6 สัตว์ที่ห้ามฆ่าในศาสนาอิสลาม เช่น มด ผึ้ง นกหัวขวาน และนกฮูโป้
4.4.7 สัตว์ที่น่ารังเกียจโดยทั่วไป เช่น เห็บ หมัด ไร เหา แมลงวัน หนอน และสัตว์อื่น ๆ ที่คล้ายกัน
4.4.8 สัตว์ที่อาศัยอยู่ได้ทั้งบนบกและในน้ำ เช่น กบ จระเข้ เต่า และสัตว์อื่น ๆ ที่คล้ายกัน
4.4.9 ลาและล่อที่เป็นสัตว์เลี้ยงใช้งาน
4.4.10 สัตว์น้ำที่มีพิษหรือเป็นอันตรายทุกชนิด เว้นแต่พิษหรืออันตรายดังกล่าวได้ถูกกำจัดออกระหว่างกระบวนการผลิตแล้ว
4.4.11 สัตว์บก สัตว์ปีก สัตว์ประเภทนกที่ไม่ได้ถูกเชือดถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งศาสนาอิสลาม
4.4.12 เลือดที่มาจากการเชือดหรือไหลออกจากร่างกาย
4.4.13 อาหารที่ได้จากพืชที่มีพิษหรือทำให้มึนเมาหรือเป็นอันตราย เว้นแต่เมื่อสารดังกล่าวได้ถูกกำจัดออกระหว่างกระบวรการผลิตแล้ว
4.4.14 อาหารและเครื่องดื่มที่ก่อให้เกิดความมึนเมา
4.4.15 เครื่องดื่ม แร่ธาตุจากธรรมชาติ และวัตถุเคมีทุกชนิดที่เป็นพิษและอยู่ในปริมาณที่ก่อให้เกิดอันตราย
4.4.16 อาหารและเครื่องดื่มที่มีส่วนประกอบอาหารที่ได้จากการดัดแปรพันธุกรรม (Genetically Modified Organisms: GMOs)
4.4.17 วัตถุเจือปนอาหารหรือส่วนผสมอาหารที่มาจากแหล่งข้างต้นตั้งแต่ 4.4.1 – 4.4.16
นอกจากนั้นในข้อกำหนดฯ ข้อ 4.5 ก็ได้มีการอธิบายถึงรายละเอียดเกี่ยวกับการเชือดสัตว์ตามบทบัญญัติของศาสนาอิสลามอีกด้วย รวมทั้งข้อ 4.6 ซึ่งอธิบายถึงสิ่งสกปรกในทางศาสนา (นญิส) เช่น เลือด, น้ำหนอง, น้ำเหลือง, น้ำลายสัตว์ ฯลฯ และวิธีการชำระล้างสิ่งสกปรกเหล่านั้น [1]
เราจะเห็นได้ว่ารายละเอียดต่าง ๆ ของสิ่งต้องห้ามนั้น ไม่เพียงแต่จะเกี่ยวข้องกับเรื่องความเชื่อทางศาสนาเพียงอย่างเดียว แต่ก็มีหลากข้อที่เกี่ยวข้องกับความสะอาดและสุขอนามัยของผู้บริโภค
ดังนั้น สินค้า ผลิตภัณฑ์ และสิ่งต่าง ๆ ที่ได้รับรองให้มีการประทับตรา “ฮาลาล” นั้น นอกจากจะเป็นสิ่งที่มุสลิมรับประทานและบริโภคได้อย่างถูกต้องตามหลักศาสนาแล้วนั้น ก็ยังคงถือเป็นการรับรองถึงส่วนประกอบและขั้นตอนที่มีความสะอาดและถูกสุขอนามัยสำหรับชาวต่างศาสนิกได้อีกระดับหนึ่งด้วย
สำหรับข่าวที่ออกมาล่าสุด ที่วัดแห่งหนึ่งในจังหวัดสุรินทร์ขึ้นป้ายห้ามนำผลิตภัณฑ์สินค้าอุปโภคบริโภคที่มีตราฮาลาลเข้าวัดจะแสดงให้เห็นว่าชาวพุทธบางคนหรือบางกลุ่มที่อาจจะมีความระแวง เคลือบแคลง หรือสงสัยนั้นก็อาจจะเกิดขึ้นจากความไม่รู้หรือความเข้าใจผิดว่าตราฮาลาลนั้นเป็นสิ่งที่บ่งบอกถึงความเป็นศาสนาอิสลาม อาจมีความเข้าใจผิดว่าหมายถึงสิ่งที่ชาวมุสลิมเท่านั้นที่รับประทานหรือบริโภคได้ ชาวต่างศาสนิกไม่สามารถทานได้หรือบริโภคได้
ในขณะที่ในความเป็นจริงแล้วตราฮาลาลนั้นก็มีไว้เพื่อให้ชาวมุสลิมได้รับรู้หรือรับทราบโดยสะดวกว่าสิ่งใดที่รับประทานหรือบริโภคได้ตามหลักศาสนาของพวกเขา ไม่ได้เป็นตราสัญลักษณ์ที่ทำให้สิ่งนั้น ๆ เป็นของชาวมุสลิมอย่างเดียวเท่านั้น เพราะคำว่า “ฮาลาล” นั้นก็เพียงแต่จะมีความหมายว่าเป็นสิ่งที่ได้รับการ “อนุญาต” แล้วเท่านั้น
ถึงแม้เหตุการณ์นี้จะแสดงให้เห็นว่าปัจจุบันยังคงมีความไม่เข้าใจหรือเข้าใจผิดนี้ในสังคมไทยเราเกี่ยวกับเรื่องนี้ แต่ขณะเดียวกัน ผู้คนที่มีความรู้ความเข้าใจก็มีมากขึ้น ๆ อย่างชาวบ้านที่อยู่ในระแวกเดียวกันกับวัดแห่งนั้นเอง ก็ได้มีการรายงานจากเว็บไซต์ sanook.com ว่าเขาก็มีความเข้าใจที่ถูกต้อง
“เพราะอาหารฮาลาลก็เป็นอาหารที่ทานได้ศาสนาพุทธก็ทานได้…เพราะใส่บาตรไปก็ฉันรวมทั้งนั้นแหละ ไม่ได้แบ่งแยกอะไร เพราะจริงๆ แล้วเครื่องปรุงอะไรก็ล้วนแล้วแต่มีตราสัญลักษณ์ฮาลาลอยู่ดี” [2]
ไม่เพียงแต่ตราฮาลาลจะเป็นประโยชน์ในเรื่องการบริโภคของชาวมุสลิมและการรับรองความสะอาดและถูกสุขอนามัยของสินค้าต่าง ๆ อีกชั้นหนึ่งให้ชาวต่างศาสนิกแล้ว ตลาดสินค้าที่ได้รับการรับรองฮาลาลนั้นยังคงมีความสำคัญและมีการขยายตัวมากขึ้น ๆ ทุก ๆ ปี ผู้ประกอบการที่ไม่ใช่ชาวมุสลิม เมื่อได้รับรองตราฮาลาลแล้วก็เปรียบเหมือนกับใบเปิดทางให้กับสินค้าและผลิตภัณฑ์ของพวกเขาเข้าสู่ตลาดสินค้าฮาลาล ซึ่งตามการคาดการณ์ในรายงานของธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย หรือ EXIM Bank กรมการค้าระหว่างประเทศมีการ “คาดว่ามูลค่าตลาดอาหารฮาลาลโลกจะเพิ่มขึ้น 603 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในช่วงปี 2561-2567 หรือคิดเป็นอัตราการเติบโตเฉลี่ย (CAGR) ร้อยละ 6.3 ต่อปี” [3]
เมื่อเข้าใจเช่นนี้แล้ว เราจะเห็นได้ว่า “ตราฮาลาล” นั้นไม่เพียงแต่จะไม่ใช่สิ่งที่มีพิษมีภัยต่อชาวต่างศาสนิก แต่สำหรับผู้ประกอบการที่สนใจแล้ว ยังสามารถมองเห็นถึงโอกาสและประโยชน์ของ “ตราฮาลาล” อีกด้วย
‘TPMAP’ การประยุกต์ใช้ ‘Big Data’ เพื่อการต่อสู้กับปัญหาความยากจน ของรัฐบาล
ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ผลิตน้ำมัน แล้วไม่พอต่อการใช้งานของคนในประเทศ
ใบ๋นู แขกนอก
แขกไทยผู้ไปเรียนและใช้ชีวิตที่เมืองนอก ชอบศึกษาประวัติศาสตร์ ปรัชญา ศาสนา วัฒนธรรม สังคม เศรษฐกิจ การเมือง การต่างประเทศ