ห้ามค้าประเวณีในไทย ไม่ได้เริ่มจากพุทธศาสนาหรือจารีต แต่มาจากสหประชาชาติและองค์กรสิทธิฯ
เป็นหนึ่งในคำตอบที่น่าสนใจเกี่ยวกับมุมมองของนางสาวมัณชกร เพชรประพันธ์ หรือ นัชชา ซึ่งได้กล่าวว่าจะสนับสนุนอาชีพ Sex Creator ซึ่งเป็นศัพท์ใหม่ที่หมายถึง Sex Worker หรือบุคคลผู้ประกอบอาชีพให้บริการทางเพศนั่นเอง
โดยคำพูดของเธอที่ถูกยกขึ้นมาทำอินโฟกราฟกันมากคือ
“เรื่องของศาสนาและ Sex Worker เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนมาก ถ้าตัวของเขาเลือกที่จะทำ การทำอาชีพอาชีพหนึ่ง มันเป็นการเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง บางทีศาสนา ไม่ได้ให้เงินเขาในการซื้อข้าวกิน”
และเมื่อย้อนกลับไปที่คำถามที่กรรมการถามเธอที่ว่า
“ทุกสิ่งทุกอย่างมันมีทั้งคนที่เห็นด้วยกับไม่เห็นด้วย ในส่วนที่ไม่เห็นด้วยจะเป็นเรื่องของ วัฒนธรรมและประเพณีหรือศาสนา การเป็น Sex Worker ในบางศาสนามันผิดต่อความเชื่อของเขา คุณมีวิธีการที่จะสื่อสารไปถึงพวกเขาอย่างไร เพื่อให้เกิดการประนีประนอมกัน?“
จะเห็นได้ว่า คำถามนี้ มุ่งเน้นไปที่การทำความเข้าใจกับความเชื่อ, ศาสนา, วัฒนธรรมและประเพณี เพื่อการประนีประนอมนั่นเอง
แต่อย่างไรก็ตาม คำตอบของน้องนัชชานั้น ออกจะ “หัก” และโจมตีศาสนาไปสักหน่อย โดยเฉพาะประโยคที่ว่า “บางทีศาสนา ไม่ได้ให้เงินเขาในการซื้อข้าวกิน”
—
ประเทศไทย เป็นประเทศที่ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ และพื้นฐานวัฒนธรรมประเพณี ตลอดจนจิตสำนึกส่วนใหญ่ของประชาชน มีรากเหง้าพื้นฐานที่มีศาสนาพุทธเป็นองค์ประกอบที่ทรงอิทธิพล
แล้วศาสนาพุทธนั้น ตั้งแง่รังเกียจผู้ประกอบอาชีพให้บริการทางเพศ ที่มีศัพท์สุภาพที่เรียกกันทั่วไปว่า “โสเภณี” หรือไม่ ?
ซึ่ง หากศึกษาในพระไตรปิฎกอย่างละเอียดแล้ว จะพบว่า ศาสนาพุทธนั้น ไม่เพียงไม่ได้ตั้งแง่อะไรกับโสเภณีเลย
ในพระสุตตันตปิฎก มีการกล่าวถึง อุบาสิกา ผู้ประกอบวิชาชีพโสเภณีอยู่หลายนาง และพระพุทธองค์ ก็ทรงปฏิบัติต่อพวกนางด้วยความเสมอภาค เท่าเทียมกับผู้อื่น
ครั้งหนึ่ง เมื่อพระพุทธองค์ทรงประทับ ณ โกฏิคาม นางโสเภณีมีชื่อ นามอัมพปาลี ได้ข่าวก็เข้าไปฟังธรรมจนเลื่อมใส และทูลนิมนต์พระองค์ให้ไปรับภัตราหาร
ต่อมากษัตริย์ลิจฉวีเสด็จมาเข้าเฝ้าเพื่อทูลขอให้ทรงรับกิจนิมนต์ด้วยเช่นกัน ปรากฏว่าพระพุทธองค์ทรงปฏิเสธ เนื่องจากทรงรับกิจนิมนต์จากนางโสเภณี อัมพปาลี เอาไว้ก่อนแล้ว
นี่แสดงให้เห็นถึง ความเสมอภาค เท่าเทียมในพุทธศาสนา และท่าที่ที่พระศาสดาทรงมีต่อผู้ประกอบอาชีพโสเภณีนั่นเอง
นอกจากนี้ จากการศึกษาของ คุณโสภณ เทียนศรี และพระเมธีวรญาณ ในบทความ “การศึกษาวิเคราะห์การบรรลุธรรมของโสเภณีในคัมภีร์พระพุทธศาสนา” ซึ่งตีพิมพ์ใน วารสาร มจร พุทธศาสตร์ปริทรรศน์ ปีที่ 4 ฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2563) สรุปได้ว่า
มีภิกษุณีที่มีอดีตเป็นโสเภณีวิชาชีพอยู่ 4 ท่าน ได้แก่ พระอัฑฒเถรี, พระอภยมาตาเถรี, พระอัมพปาลีเถรี, พระวิมลาเถรี และมีอดีตโสเภณีที่บรรลุเป็นพระโสดาบัน 1 ท่าน คือ นาง สิริมา
นี่คือสิ่งยืนยันว่า พระพุทธศาสนา มิได้ตั้งแง่รังเกียจอะไรในตัวผู้ประกอบวิชาชีพค้าประเวณี หรือโสเภณีเลย และโสเภณีเอง ก็สามารถบรรลุธรรมได้ ไม่ต่างกับผู้ประกอบวิชาชีพอื่นเลย
—
จากรายงานของ พระมหาวินัย ผลเจริญ ในบทความ “ปัญหาโสเภณี: เหตุปัจจัย มุมมอง และวิธีการแก้ปัญหาตามแนวทางพุทธศาสนา” (พ.ศ. 2542) จะเห็นได้ว่า
อาชีพโสเภณี ก็ถือว่าเป็นอาชีพสุจริตที่ได้รับการอนุญาตโดยกฎหมายไทยมาตั้งแต่สมัยอยุธยา
และใน พ.ศ. 2473 องค์การสันนิบาตชาติได้เข้ามาทำการสำรวจ และพบว่า ในกรุงเทพเพียงแห่งเดียว มีซ่องโสเภณีที่ได้รับการจดทะเบียนอย่างถูกต้องตามกฎหมายแล้วถึง 151 แห่งเลยทีเดียว
นอกจากนี้ การประกาศใช้กฎหมายผัวเดียวเมียเดียวของคณะราษฎร์ ใน พ.ศ. 2478 ได้สร้างผลกระทบให้สังคมไทยมีความต้องการบริการทางเพศที่สูงขึ้น และมีจำนวนซ่องโสเภณีเพิ่มขึ้นอีกด้วย
—
ตัวแปรที่สร้างอิทธิพลต่อการเข้าควบคุมและกวาดล้างอาชีพโสเภณีของไทย มาจากนโยบายของสหประชาชาติ ซึ่งประเทศไทย ในฐานะประเทศสมาชิกสหประชาชาติ ย่อมต้องปฏิบัติตาม โดยไทยเริ่มดำเนินการปราบปรามมาตั้งแต่ พ.ศ. 2503
ซึ่งเมื่อหันไปพิจารณาใน “อนุสัญญาว่าด้วยการปราบปรามการค้ามนุษย์และการแสวงหาประโยชน์จากการค้าประเวณีของผู้อื่น” (Convention for the Suppression of the Traffic in Persons and of the Exploitation of the Prostitution of Others) ค.ศ. 1950
ในย่อหน้าที่ 1 ของ คำนำของอนุสัญญานี้ ระบุว่า
“โดยที่การค้าประเวณีและความชั่วร้ายที่มากับการค้ามนุษย์เพื่อการค้าประเวณีไม่สอดคล้องกับศักดิ์ศรีและคุณค่าของมนุษย์และเป็นภัยต่อสวัสดิภาพของบุคคล ครอบครัว และชุมชน”
ซึ่งนี่แสดงให้เห็นถึง “ทัศนคติ” ที่สหประชาชาติมีต่อการค้าประเวณี และวิชาชีพโสเภณี ในแง่ลบ
มองว่าเป็นการค้ามนุษย์ หยามเหยียดศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ และ “เป็นภัย” ต่อสวัสดิภาพของบุคคล ครอบครัว และชุมชน
และอนุสัญญาฉบับนี้ มีผลบังคับใช้มาตั้งแต่ ค.ศ. 1951 (พ.ศ. 2494) มาจวบจนปัจจุบัน
—
สำหรับมุมมองของ “กลุ่มแนวร่วมต่อต้านการค้ามนุษย์ในสตรี” (Coalition Against Trafficking in Women, CATW) ซึ่งเป็น NGO ด้านสิทธิมนุษยชนในระดับนานาชาติ ที่ต่อต้านการค้ามนุษย์ การค้าประเวณี และการค้าประเวณีรูปแบบอื่นๆ นั้น มองการค้าประเวณีว่า
“ไม่ว่าจะถูกกฎหมายก็ดี ผิดกฎหมายก็ช่าง การค้าประเวณีก็ถูกใช้เพื่อการแสวงหาผลประโยชน์เชิงพาณิชย์จากผู้หญิงและเด็กที่อยู่ตามชายขอบเพื่อการแสวงหาผลกำไร
มีรากฐานมาจากปิตาธิปไตย (ระบบที่ผู้ชายเป็นใหญ่ในสังคม), ประวัติศาสตร์ของการล่าอาณานิคม และระบบการตลาดของการใช้ความรุนแรงทางเพศที่ต้องเสียค่าใช้จ่าย
นอกจากนี้ ยังทำให้ผู้หญิงและเด็กผู้หญิงทุกคนกลายเป็นวัตถุทางเพศ และกลายเป็นเรื่องทางเพศต่อไป”
—
เมื่อไม่นานมานี้เอง กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ เปิดเผยรายงานค้ามนุษย์ ประจำปีนี้ ปรับระดับของประเทศไทยให้กลับขึ้นมาอยู่ที่ เทียร์ 2 ซึ่งจัดอยู่ในระดับที่ต้องจับตามอง
ซึ่งประเทศที่จัดว่าอยู่ในระดับนี้นั้น คือประเทศที่อเมริกามองว่า ไม่ได้ปฏิบัติตามมาตรฐานขั้นต่ำของ พ.ร.บ. คุ้มครองเหยื่อการค้ามนุษย์ “Trafficking Victims Protection Act (TVPA)” โดยสมบูรณ์แต่กำลังใช้ความพยายามอย่างยิ่งในการที่จะปฏิบัติให้ได้ตาม มาตรฐาน
ซึ่ง พ.ร.บ. คุ้มครองเหยื่อการค้ามนุษย์ ที่สหรัฐอเมริกาใช้ในการจัดระดับนี้ มองว่า การค้าประเวณี เป็นส่วนหนึ่งของการค้ามนุษย์
เมื่อหันกลับไปมองการค้าประเวณีในอเมริกา ก็จะเห็นได้ว่า มีเพียงรัฐเนวาดาเพียงรัฐเดียวเท่านั้นที่อนุญาตให้มีการค้าประเวณี และมิได้ให้เสรีทั่วทั้งรัฐ แต่เป็นเพียงบางพื้นที่เท่านั้น ที่ได้รับอนุญาตให้มีการค้าประเวณี
—
จากทั้งหมดที่ได้กล่าวไว้ข้างต้นนี้ เราจะเห็นได้ว่า พุทธศาสนา จารีตและกฎหมายไทยในสมัยก่อนนั้น มิได้ห้ามการค้าประเวณี
แต่เป็นเพราะแรงกดดันจากนานาชาติ ไม่ว่าจะเป็นการปรับแก้ไขกฎหมายตาม “อนุสัญญาว่าด้วยการปราบปรามการค้ามนุษย์และการแสวงหาประโยชน์จากการค้าประเวณีของผู้อื่น” ของสหประชาชาติ
และการจัดอันดับที่เกี่ยวข้องกับการต่อต้านการค้ามนุษย์ของสหรัฐอเมริกา ก็ส่งผลกระทบให้เกิดข้ออ้างในการกีดกันทางการค้า ซึ่งเป็นผลเสียทางเศรษฐกิจของประเทศไทย
ดังนั้น กรรมการผู้ตั้งคำถามของกองประกวดนางงาม ฯ ควรจะหันไปถามสหประชาชาติ, สหรัฐอเมริกา และ NGO ด้านสิทธิมนุษยชน
ในปมประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ และศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ในการค้าประเวณี
มากกว่าที่จะหันมาถามเอากับประเทศไทย ที่เป็นเพียงผู้ปฏิบัติตามข้อตกลงของสหประชาชาติ และสหรัฐอเมริกา
โดย ศิราวุธ ภุมมะกสิกร
อะไรคือปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจเชิงยุทธศาสตร์ของมหาอำนาจระดับโลก
หัวใจของประชาธิปไตย ไม่ใช่สภาหรือการเลือกตั้ง แต่เป็นประชาชนที่เข้าใจและเคารพ ภราดรภาพ
ศิราวุธ ภุมมะกสิกร
อดีตวิศวกรโครงการ ระดับผู้จัดการ จบปริญญาตรีวิศวกรรมเครื่องกล จาก พระจอมเกล้าธนบุรี และ โท ด้าน Advanced Manufacturing Engineering จาก University of South Australia มีความสนใจในเรื่องประวัติศาสตร์ การเมือง และสวัสดิการสังคม