
หายนะแห่งตรรกะวิบัติ การปลุกระดมคนไทยด้วยเงินทุนใต้ดินต่างชาติคือ’เสรีภาพ’ เมื่อรัฐบาลออกกฎหมายตรวจสอบ’NGOS’ แต่ถูกต่อต้านด้วยการไล่กลับไปออกกฎหมายที่ทำให้รัฐบาลโปร่งใสก่อน
เคยไหม เมื่อคุณถกเถียงกับใครแล้วเขากล่าวตอบมาว่า “คนนั้นก็ทำ-คนนี้ก็ทำ” การใช้ตรรกะวิบัติหรือ logical fallacy ลักษณะนี้นั้นมีชื่อเฉพาะว่า tu quoque แปลตรงตัวว่า “คุณก็ด้วย” (you too)
มันมักจะเกิดขึ้นเมื่อฝ่ายหนึ่งกำลังถูกวิพากษ์วิจารณ์ แต่กลับโต้ตอบการวิพากษ์วิจารณ์นั้น ๆ ด้วยการวิพากษ์วิจารณ์อีกฝ่ายกลับคืน เพื่อเป็นการหลีกเลี่ยงและกลบเกลื่อนเรื่องที่ตนเองกำลังถูกวิพากษ์วิจารณ์อยู่ ซึ่งนี่คือสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในประเด็นเกี่ยวกับ “พ.ร.บ. การดำเนินกิจกรรมขององค์การไม่แสวงหากำไร”
ซึ่งคือกฎหมายที่ถูกเสนอโดยรัฐบาลเพื่อใช้ในการตรวจสอบการดำเนินกิจการขององค์การไม่แสวงหากำไร หรือ NGO (Non-Governmental organization ; องค์กรที่มิใช่หน่วยงานรัฐ) ต่าง ๆ ในประเทศ ซึ่งก็เป็นกฎหมายที่มีการบังคับใช้ในหลากหลายประเทศประชาธิปไตยต่าง ๆ ตามข้อมูลในบทความที่เราเคยเผยแพร่ไป [1]
แม้ว่ากฎหมายฉบับนี้จะถูกเสนอขึ้นโดยภาครัฐ แต่การตั้งข้อสงสัยและความต้องการในการเรียกร้องถึงความโปร่งใสของบรรดา NGO ทั้งหลายนั้นเป็นสิ่งที่ประชาชนคนไทยส่วนหนึ่งมีการแสดงออกอย่างเห็นได้ชัดอยู่แล้ว
และจากข้อมูลของ “นิด้าโพล” [2] ก็แสดงให้เห็นว่าประชาชนส่วนมากนั้นมีความต้องการให้มีการเปิดเผยแหล่งที่มาของเงินทุนของ NGO ต่าง ๆ
คำถามจึงมีขึ้นมาว่า เหตุใดความพยายามในการทำให้ NGO มีการดำเนินการที่โปร่งใสมากขึ้นนั้น กลับกลายเป็นข้ออ้างในการย้อนกลับมาวิพากษ์วิจารณ์ภาครัฐว่า ‘ไม่โปร่งใส’ ได้ ตามบทบรรณาธิการล่าสุดของหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ [3] ทำไมกฎหมายที่ต้องการสร้างให้ NGO ในประเทศไทยมีธรรมาภิบาลในการเปิดเผยแหล่งทุนที่สนับสนุน กลับถูกมองว่าเป็นการโจมตีจากภาครัฐ?
ไม่เพียงเท่านั้น ตามที่ได้กล่าวไปกฎหมายลักษณะนี้ มีการบังคับใช้ในหลายประเทศประชาธิปไตยอย่างเช่น สหรัฐอเมริกา เช่นนั้นแปลว่าประเทศที่มีกฎหมายลักษณะนี้ถือว่าไม่มีความเป็นประชาธิปไตยงั้นหรือ? ถือว่ารัฐบาลในประเทศเหล่านั้นพุ่งเป้าโจมตีภาคประชาสังคมงั้นหรือ?
ทำไมเมื่อมีการพูดว่า NGO ต้องถูกตรวจสอบ กลับมีการตอบกลับมาว่า รัฐก็ควรถูกตรวจสอบ? ทั้งที่สองเรื่องนี้เป็นคนละประเด็นกัน
ก่อนอื่นเราควรจะต้องย้อนกลับไปพูดคุยถึง ‘หลักการ’ กันก่อน ว่าอะไรคือรากฐานทางความความคิดในการร่างกฏหมาย NGO ฉบับนี้ ซึ่งโดยสรุปแล้วอาจกล่าวได้ถึง 2 หลักการคือ
1.) การไม่เข้าแทรกแซง
ธรรมเนียม-พิธีการทางการทูต กฏหมายระหว่างประเทศ และรวมทั้งกฎบัตรสหประชาชาติ (UN Charter) นั้นมีการกล่าวถึงหลักการข้อหนึ่ง ซึ่งเปรียบเหมือนกระดูกสันหลังของการเมืองระหว่างประเทศ นั่นคือ “หลักการการไม่เข้าแทรกแซง” (Non-Intervention Principle)
ซึ่งคือการที่ประเทศใด ๆ จะต้องไม่ถูกประเทศอื่นเข้าแทรกแซงในกิจการภายในของประเทศตนเอง [4] หลักการนี้นั้นนำไปสู่การร่างกฎหมายต่าง ๆ ในหลายประเทศ ตัวอย่างเช่นในประเทศสหรัฐอเมริกา โดยกฎหมายของพวกเขานั้นมีชื่ออย่างตรงตัวถึงหลักการนี้ นั่นคือกฎหมายที่มีชื่อว่า “รัฐบัญญัติว่าด้วยการจดทะเบียนตัวแทนต่างชาติ” (Foreign Agent Registration Act หรือที่เรียกกันอย่างสั้น ๆ ว่า กฎหมาย FARA)
ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว ชื่อเต็มอย่างเป็นทางการของกฎหมายฉบับนี้นั้นยิ่งจะแสดงให้เห็นถึงหลักการนี้อย่างชัดเจนอีกด้วย ในชื่อ “An Act to require the registration of certain persons employed by agencies to disseminate propaganda in the United States and for other purposes”
อันแปลเป็นไทยว่า “รัฐบัญญัติเพื่อใช้บังคับขึ้นทะเบียนกับบุคคลที่รับจ้างจากหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อเข้ามาเผยแพร่การโฆษณาชวนเชื่อในสหรัฐฯ และเพื่อการอื่น ๆ”
โดยกฎหมายฉบับนี้ของสหรัฐนั้นบังคับให้ NGO ทั้งหลาย “ต้องแสดงถึงสัญญา รายละเอียดต่าง ๆ ระหว่างผู้รับและผู้ให้เงินให้แก่สถาบันอัยการของรัฐ และเปิดเผยต่อสาธารณะด้วย นอกจากนี้เอกสารและข้อมูลทุกอย่างต้องมีการแจ้งว่ารับเงินจากต่างชาติแก่สาธารณะ” [1]
ทั้งนี้เพื่อทำให้สาธารณชนเห็นว่า NGO เหล่านั้นเป็นผู้แทนของต่างชาติ (foreign agent) นั่นคือเป็นผู้ที่ดำเนินกิจการต่าง ๆ เพื่อผลประโยชน์ต่างชาติ ไม่ใช่หน่วยงานหรือองค์กรที่เป็นตัวแทนของประชาชนหรือดำเนินกิจการเพื่อผลประโยชน์ของประชาชนของประเทศนั้น
2.) ธรรมาภิบาลและความโปร่งใส
หลักธรรมาภิบาล (good governance) โดยเฉพาะในเรื่องความโปร่งใส (transparency) นั้นคือหนึ่งในหลักการสำคัญที่จำเป็นต่อการบริหารกิจการสาธารณะ ทั้งจากหน่วยงานภาครัฐที่เป็นผู้แทนในดำเนินกิจการสาธารณะ และองค์กรภาคประชาสังคมที่ถือว่าตนเองเป็นตัวแทนของผลประโยชน์สาธารณะ
ซึ่งจากหลักการข้อแรก การที่องค์กรภาคประชาสังคม หรือ NGO รับเงินทุนสนับสนุนจากต่างประเทศนั้นจึงอาจเป็นการขัดกันของผลประโยชน์ (conflict of interest) เมื่อองค์กรเหล่านั้นแสดงออกว่าตนเองเป็นตัวแทนของสาธารณะชนในประเทศ แต่ได้รับเงินทุนมาจากต่างชาติ
การที่ พรบ. นั้นมีการบังคับให้ NGO เปิดเผยข้อมูลการสนับสนุนเงินทุน และรวมทั้งถูกตรวจสอบการดำเนินกิจการ จึงเป็นเรื่องที่จะทำให้การดำเนินการของ NGO นั้นมีความโปร่งใสและได้รับความน่าเชื่อถือมากขึ้น
หลักการทั้งสองดังกล่าวนั้นควรจะเป็นหลักการที่ทุกฝ่ายเห็นพ้องต้องกันว่ามีความสำคัญต่อประโยชน์สาธารณะ ดังนั้นการสนับสนุนให้มีกฎหมายให้เป็นไปตามหลักการดังกล่าว จึงเป็นเรื่องที่ทุก ๆ คนในสังคมได้ประโยชน์
จึงเป็นเรื่องน่าคิดว่าทำไมคนไทยกลุ่มหนึ่ง เช่น ผู้เขียนบทบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ กลับไม่ต้องการให้กฎหมายฉบับนี้มีการบังคับใช้ กระทั้งมีการมองว่าเป็นเป็นการ “ขัดขวาง” (obstruct), “ละเมิด” (infringe), และ “รังแก” (harass) องค์กร NGO ต่าง ๆ [3]
ไม่เพียงเท่านั้น ตามที่ปรากฏในบทบรรณาธิการดังกล่าว ยังมีการกล่าวถึงสิ่งที่ไม่มีข้อเท็จจริงอ้างอิงหรือไม่มีการสนับสนุนจากข้อมูลเชิงประจักษ์ใด ๆ เช่นที่กล่าวว่า
“อย่างไรก็ตาม เป้าหมายที่แท้จริง [ของการออกกฏหมายฉบับนี้] คือการนำภาคประชาสังคมมาอยู่ภายใต้การควบคุมโดยสมบูรณ์ของรัฐ” (“The real motive, however, is to bring civil society under total state control.”) — คำถามคือ มีข้อเท็จจริงหรือข้อมูลเชิงประจักษ์ใด ๆ ที่แสดงให้เห็นถึง “เป้าหมายที่แท้จริง” ที่ถูกอ้างถึงนั้นได้?
หรือการกล่าวว่ากฎหมายฉบับนี้ “เป็นการละเมิดสิทธิในการรวมตัว รวมกลุ่ม และแสดงออก อย่างน่าเกลียด” (“is a gross violation of the rights to freedom of assembly, association and expression.”) และขัดต่อหลักการที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ทั้งที่การบัญญัติกฎหมายฉบับนี้ แม้จะมีการจำกัดสิทธิเสรีภาพ ก็เป็นสิ่งที่ยังอยู่ในกรอบที่รัฐธรรมนูญกำหนด “ซึ่งมาตรา ๒๖ ประกอบกับมาตรา ๓๒ มาตรา ๓๗ และมาตรา ๔๒ บัญญัติให้กระทําได้ โดยอาศัยอํานาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย…สอดคล้องกับเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๖ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย” [5]
อีกสิ่งหนึ่งที่บทบรรณาธิการนี้กล่าวอ้างอย่างไม่มีข้อมูลเชิงประจักษ์สนับสนุน นั่นคือการกล่าวว่า “กลุ่ม[องค์กร]สิทธิส่วนมากนั้นต้องพึงพาเงินทุนต่างประเทศ เพราะผู้บริจาคท้องถิ่น[ชาวไทย]นั้นไม่กล้าสนับสนุนกิจกรรมของพวกเขา เนื่องจากกลัวการโจมตีทางการเมือง” (“most right groups depend on international resources because local donors dare not support their cause for fear of political backlash.”)
ทั้งที่การบริจาคเงินจากประชาชนทั่วไปนั้นก็สามารถทำได้โดยนิรนาม (anonymously) และการรายงานข่าวเกี่ยวกับการโจมตีทางการเมืองเนื่องมาจากการบริจาคเงินนั้นก็ไม่เคยมีขึ้นในระดับที่ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่นั้น “ไม่กล้าสนับสนุน” องค์กรต่าง ๆ
ทั้งนี้ยังอีกหลายส่วนในบทบรรณาธิการดังกล่าว เช่น การตั้งใจใส่เครื่องหมายคำพูดในคำว่า “ความโปร่งใส” ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าเป็นการเสียดสี แดกดัน ว่าความโปร่งใสนั้นเป็นเรื่องไม่เป็นเรื่องหรือไม่สำคัญ หรือการที่ทั้งบทบรรณาธิการนี้พยายามฉายภาพราวกับว่ารัฐบาลเป็นฝ่ายเดียวที่ผลักดันให้เกิดกฎหมายฉบับนี้ ว่ามันเป็น “การใช้หลักความโปร่งใสเพื่อรังแกภาคประชาสังคม” (“using the notion of transparency to harass civil society”)
โดยดูเหมือนจะเป็นการด้อยค่าและไม่สนใจการที่ประชาชนจำนวนมากกลุ่มหนึ่งในสังคม ก็มีความต้องการให้ NGO มีความโปร่งใสด้วยการเปิดเผยแหล่งเงินทุน ตามข้อมูลจากนิด้าโพลที่ได้กล่าวไปในตอนต้น [2]
และการใช้ตรรกะที่กล่าวในทำนองว่า “คนนั้นก็ทำ-คนนี้ก็ทำ” เพื่อเบี่ยงเบนประเด็นไปว่าภาครัฐเองต่างหากที่จะต้องเปิดเผยและโปร่งใส ที่ปรากฏในย่อหน้าสุดท้ายของบทบรรณาธิการนี้ที่กล่าวว่า “สิ่งที่ประเทศไทยต้องการไม่ใช่กฎหมายที่ใช้ควบคุมภาคประชาสังคม แต่คือกฎหมายเพื่อทำให้หน่วยงานรัฐมีความโปร่งใส่และรับผิดชอบ” (“What Thailand needs is not a law to control civil society but a law to make state agencies transparent and accountable.”)
แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าเป็นตรรกะวิบัติในการหลีกเลี่ยงและกลบเกลื่อนความพยายามในการทำให้ NGO เปิดเผยและโปร่งใสผ่านการบัญญัติกฎหมายฉบับนี้ เพราะเรื่องนี้ต่างหากที่เป็นประเด็นหลักของการออกกฎหมายฉบับนี้
เราทุกคนคงเห็นพ้องต้องกันและปฏิเสธไม่ได้ว่าภาครัฐนั้นต้องอยู่ในหลักการความโปร่งใส และกฎหมายบ้านเมืองหลายฉบับก็มีการตราขึ้นเพื่อให้เกิดสิ่งนั้นขึ้นกับการบริหารราชการแผ่นดิน แต่วันนี้บรรดา NGO และองค์กรภาคประชาสังคมก็จำเป็นต้องออกมาจากเงามืดของความเป็นไปได้ในอิทธิพลและการปกปิดในรูปแบบต่าง ๆ และต้องดำเนินการด้วยความโปร่งใสขึ้นเช่นเดียวกัน นั้นคือสิ่งที่ประชาชนในสังคมเรียกร้องและคือสิ่งที่ภาครัฐกำลังตอบรับข้อเรียกร้องนั้นด้วยการตรากฎหมายฉบับนี้ขึ้นมา
การเบี่ยงเบนประเด็นนี้ออกไป ไม่ว่าจะโดยสื่อหรือโดยคนไทยกลุ่มอื่น ๆ นั้น ไม่ได้ช่วยอะไรนอกจากการทำให้คนไทยอีกกลุ่มหนึ่งตั้งคำถามว่า อะไรคือความต้องการที่แท้จริงในความพยายามในการต่อต้านกฎหมายฉบับนี้?
อ้างอิง :
[1] กฎหมายควบคุม NGOs เป็นกฎหมายที่ “ประเทศประชาธิปไตย” ทั่วโลกประกาศใช้ – The Structure
[2] นิด้าโพล ชี้ คนส่วนใหญ่เห็นด้วย ให้ NGO ต้องเปิดเผยแหล่งที่มาของเงินทุน
[3] NGOs deserve their place
[4] Non-Intervention (Non-interference in domestic affairs)
[5] 2022-02-23-10:09:49_ร่างพระราชบัญญัติการดำเนินกิจกรรมขององค์กรไม่แสวงหากำไร.pdf (law.go.th)