สังคมไทย ไม่เปิดโอกาสให้คนจนจริงหรือ ?
เป็นที่ฮือฮาอย่างมาก กับข่าว Miss Universe Thailand 2022 คนใหม่ คุณแอนนา เสืองามเอี่ยม ผู้มีภูมิหลังเป็น “ลูกคนกวาดถนน” และ “คนเก็บขยะ” ซึ่งพยายามสู้ชีวิตจนกระทั่งความตำแหน่งนางงาม ให้คนทั้งประเทศได้ชื่นชม
ซึ่งเมื่อหันมามองดีกรีของเธอ จะเห็นว่าเธอนั้นคว้า “เกียรตินิยมอันดับ 1 เหรียญทอง” จากคณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มาได้อีกด้วย
นี่หมายความว่าเธอนั้น จะต้องมีผลการเรียนเป็นที่ 1 ของรุ่นตลอดหลักสูตร 4 ปี
นอกจากนี้ จากในบทความ “แอนนา เสืองามเอี่ยม จากลูกคนเก็บขยะสู่เกียรตินิยมอันดับ 1 ก่อนทะยานขึ้นสู่นางงามจักรวาล ปี 2022” ของ The Structure จะเห็นได้ว่า คุณแอนนานั้นมีทัศนคติที่เชื่อว่า
“คนเราต้องปรับปรุงตัวอยู่เสมอ คนเราพัฒนาได้ตลอด และต้องไม่หยุดที่จะเรียนรู้”
—
ตัวตน และความสำเร็จของคุณแอนนานั้น “ขัดแย้ง” กับความคิดของคุณชูเวช เดชดิษฐรักษ์ นักร้องนำวงดนตรีสามัญชน ที่เล่าถึงแรงบันดาลใจในการแต่งเพลง “อยากจะมีชีวิตที่ดีกว่านี้” อย่างรุนแรง
เนื่องจากคุณชูเวชเชื่อว่า “ชีวิตคนจน ต่อให้ขยันก็ยังต้องจน” นั่นเอง
นี่นำมาสู่คำถามว่า “สังคมไทย ไม่เปิดโอกาสให้คนจนจริงหรือ ?”
—
ซึ่งเมื่อคิดถึงโอกาส แทบทุกคนจะนึกถึง “การศึกษา” และเมื่อหันกลับไปมองรากฐานด้านการศึกษา เราจะเห็นการวางรากฐานด้านการศึกษาในสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งเห็นได้จากพระราชดำรัสของในหลวงพระจุลจอมเกล้า เมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ พ.ศ. 2427 ว่า
“เจ้านายราชตระกูล ตั้งแต่ลูกฉันเปนต้นลงไป ตลอดจนถึงราษฎรที่ต่ำที่สุด จะให้ได้มีโอกาศเล่าเรียนได้เสมอกัน ไม่ว่าเจ้า ว่าขุนนาง ว่าไพร่ เพราะฉนั้น จึงขอบอกได้ว่าการเล่าเรียนในบ้านเมืองเรานี้จะเปนข้อสำคัญที่หนึ่ง ซึ่งฉันจะอุตสาห์จัดให้เจริญขึ้นจงได้”
และโรงเรียนสวนกุหลาบ ก็เปิดโอกาสให้ลูกเจ้า ลูกขุนนาง ลูกคนรวย และลูกคนจน ได้เรียนหนังสือร่วมกัน
ตัวอย่างศิษย์เก่าที่มีฐานะยากจนของโรงเรียนสวนกุหลาบคือ อาจารย์ “สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล” ซึ่งประวัติของอาจารย์นั้น เป็นลูกคนจีนอพยพ และมีฐานะยากจน
นอกจากนี้ ในรุ่นพ่อแม่ของอาจารย์สมศักดิ์นั้น เป็นช่วงเวลาที่คนจีนลี้ภัยสงคราม อันเนื่องมาจาก สงครามสมัยขุนศึก และการรุกรานของญี่ปุ่น มามาก และเข้ากับคนไทยไม่ได้ ทำให้เกิดปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนไทย และผู้อพยพชาวจีนนั่นเอง
นั่นคือช่วงเวลาที่คนไทย ดูถูกเหยียดหยามคนจีนด้วยคำ “เจ๊ก” นั่นเอง
แต่ถึงกระนั้น เด็กชายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ก็ได้รับการศึกษาจากโรงเรียนสวนกุหลาบ และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อีกทั้งในภายหลังยังได้รับทุนการศึกษาจนสำเร็จปริญญาเอก จากประเทศออสเตรเลีย
และเพื่อนร่วมรุ่นของอาจารย์ คือนายวัฒนา เมืองสุข ลูกเกษตรกร และนายเนวิน ชิดชอบ ลูกประธานสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งทั้งคู่ต่อมาได้เป็นถึงระดับ “รัฐมนตรีว่าการ” และ ส.ส. หลายสมัย
สังคมไทยในอดีต ให้ความเสมอภาคด้านการศึกษา ไม่ว่าจะลูกหลานจีนอพยพ หรือลูกพ่อค้าชาวนา ยังได้เรียนหนังสือร่วมกับลูกหลานนักการเมือง และประสบความสำเร็จในวิชาชีพของตัวเองได้เหมือน ๆ กัน
—
สำหรับโอกาสทางเศรษฐกิจ
เมื่อหันมองดูตระกูลใหญ่ ๆ ที่เป็นตระกูลนายทุนมีชื่อในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นตระกูล “เจียรวนนท์” เจ้าของกลุ่ม CP, ตระกูล “จิราธิวัฒน์” เจ้าของกลุ่มเซ็นทรัล, ตระกูล “โสภณพนิช” เจ้าของธนาคารกรุงเทพ หรือตระกูล “ล่ำซำ” เจ้าของธนาคารกสิกร ก็ล้วนแต่เป็นลูกหลานจีนอพยพทั้งสิ้น
คุณพัฒนา จึงรุ่งเรืองกิจ แต่เดิมก็เป็นคนจีนที่อพยพมายังประเทศไทย โดยเริ่มต้นจากการช่วยเหลือพ่อแม่ขายก๋วยเตี๋ยวตั้งแต่อายุ 8 – 9 ปี โดยมีวุฒิการศึกษาเพียงประถม 4 เท่านั้น
ต่อมาคุณพัฒนาไปช่วยงานที่ร้านซ่อมเบาะ และสบโอกาสได้รับงานจากยามาฮ่า และแสดงฝีมือจนได้รับงานจากทั้งยามาฮ่า และบริษัทยานยนต์อื่น ๆ ก่อนที่จะพัฒนากิจการ จนกลายมาเป็น “ซัมมิท ออโต อินดัสตรี” ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของ กลุ่มไทยซัมมิท ในปัจจุบัน
ตำนานเจ้าสัวเหล่านี้เอง ก็เป็นภาพสะท้อนถึงโอกาสที่เปิดกว้างของสังคมไทยในด้านการเติบโตในเชิงเศรษฐกิจนั่นเอง
ดังนั้น สังคมไทย มีความเปิดกว้าง และให้โอกาสแก่ผู้คน
—
ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หน้าที่โดยตรงคือการดูแลตลาดทุนในประเทศไทย ให้เป็นไปด้วยความเป็นธรรม และเชื่อถือได้ ตอบสนองต่อการเจริญเติบโตในภาคการเงินและการลงทุนของประเทศไทย และเกิดประโยชน์ต่อทุกภาคส่วนของสังคม
การส่งเสริม และให้ความรู้แก่ประชาชนทุกคน ทุกหมู่เหล่า และทุกระดับ ก็เป็นอีกหนึ่งบทบาทการส่งเสริมของตลาดหลักทรัพย์
ไม่ว่าจะเป็นการให้บริการห้องสมุด, งานวิจัย และการจัดอบรมเพื่อส่งเสริมความรู้แต่ทุกคน
แม้แต่แม่บ้าน และพนักงานรักษาความปลอดภัยของที่นี่ ยังประสบความสำเร็จ มีความมั่งคั่งทางการเงินได้ ผ่านการขวนขวายหาความรู้ และเข้ารับการฝึกอบรม
ตัวอย่างคือ คุณวิทยา พนักงานรักษาความปลอดภัยของตลาดหลักทรัพย์ ฯ และเข้าร่วมการอบรมในโครงการ Happy Money ของตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งผลของการลงมือทำตามการฝึกอบรม ทำให้คุณวิทยาสามารถล้างหนี้บัตรเครดิต 5 หมื่นบาท และมีเงินเก็บถึง 5 แสนบาทได้ใน 2 ปี
หรืออีกตัวอย่างคือ คุณปาริชาติ พงษ์คำ พนักงานทำความสะอาด หรือ แม่บ้าน ที่ในปัจจุบันมีเงินเก็บถึง 1 ล้านเศษ ๆ เลยทีเดียว
คุณปาริชาติ เริ่มเข้ามาทำงานในกรุงเทพเมื่ออายุ 14 มีอาชีพแม่บ้านได้เงินเดือน ๆ ละ 700 บาท แต่อาศัยความกตัญญู ส่งเงินกลับบ้านทั้งหมด ส่วนตัวเองกินอยู่ในบ้านเจ้านาย ไม่เที่ยวไม่ซื้อของฟุ่มเฟือย จึงได้รับความเอ็นดูจากเจ้านาย ทั้งซื้อของให้ และสอนให้รู้จักการออม
เธอย้ายมาทำงานเป็นพนักงานทำความสะอาดของตลาดหลักทรัพย์ ฯ เมื่อ พ.ศ. 2544 ซึ่งเธอเล่าว่า ในยุคที่ค่าแรงขั้นต่ำอยู่ที่ 165 บาท เธอจะออมเงินเดือนละ 5 พันบาท
ต่อมาเมื่อค่าแรงถูกปรับมาที่ 300 บาท เธอออมเงินได้ถึงเดือนละ 1 หมื่นบาทเลยทีเดียว
จากการทำงานที่ตลาดหลักทรัพย์ ฯ เธออาศัยเวลาว่างในการหาความรู้จากห้องสมุดมารวย และเข้าร่วมการสัมมนาของตลาดหลักทรัพย์ตลอด
ซึ่งนี่ทำให้เธอมีทั้งความเข้าใจในทั้ง กองทุนรวม หุ้น และตราสารหนี้ จนกลายมาเป็นหลักในการแบ่งเงินออกเป็น 4 ส่วนของเธอคือ
1. ฝากประจำ
2. ตราสารหนี้
3. กองทุนรวม
4. เผื่อฉุกเฉิน
นอกจากนี้ เธอยังให้หลักว่า จำเป็นต้องมี “การวางแผนการเงิน”, มีวินัยต่อตัวเอง และมีความขวนขวาย
สำหรับผู้ที่มีความสนใจในแนวทางของพี่ปาริชาติ แม่บ้าน และพี่วินัย รปภ สามรถหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ของตลาดหลักทรัพย์ หัวข้อ “ความรู้ วางแผนเรื่องเงิน”
—
สุดท้ายนี้ การไต่เต้าทางสังคม ไม่ว่าจะทั้งหน้าที่การงาน และการเงิน ล้วนแต่ต้องใช้ความพยายาม อดทน และใช้ปัญญา
และสังคมไทย เป็นสังคมที่เปิดโอกาส แต่ต้องมีความสามารถ ถึงจะไขว่คว้าสิ่งที่หวังไว้ได้สำเร็จ เท่านั้นเอง
โดย ศิราวุธ ภุมมะกสิกร
อ้างอิง :
[3] “ประวัติจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย”, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
[4] “สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล”, วิกิพีเดีย (ไทย)
[5] “ไทยเชื้อสายจีน/สมัยรัตนโกสินทร์”, วิกิพีเดีย (ไทย)
[7] “วัฒนา เมืองสุข”, วิกิพีเดีย (ไทย)
[8] “เนวิน ชิดชอบ”, วิกิพีเดีย (ไทย)
[9] “ธนินท์ เจียรวนนท์”, วิกิพีเดีย (ไทย)
[10] “ตระกูลจิราธิวัฒน์”, วิกิพีเดีย (ไทย)
[11] “ชิน โสภณพนิช”, วิกิพีเดีย (ไทย)
[12] “ตระกูลล่ำซำ”, วิกิพีเดีย (ไทย)
[14] “วิสัยทัศน์และพันธกิจ”, ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
[15] “เป๋าตุง by ศิรัถยา EP.87 l อาชีพแม่บ้าน – รปภ. ก็มีเงินเก็บ เป็นแสนเป็นล้านได้”, True4U
[16] “ติดเครื่องเรื่องการเงิน : แม่บ้านเงินล้าน (3 ต.ค. 61)”, Thai PBS
[17] “ความรู้ วางแผนเรื่องเงิน”, ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
ทำไมนักวิชาการจึงเชื่อว่า “ชาตินิยม” คือแนวคิดที่ทรงพลังที่สุด : เข้าใจความสำคัญของแนวคิดชาตินิยมเมื่อโลกเต็มไปด้วย “รัฐชาติ”
ศิราวุธ ภุมมะกสิกร
อดีตวิศวกรโครงการ ระดับผู้จัดการ จบปริญญาตรีวิศวกรรมเครื่องกล จาก พระจอมเกล้าธนบุรี และ โท ด้าน Advanced Manufacturing Engineering จาก University of South Australia มีความสนใจในเรื่องประวัติศาสตร์ การเมือง และสวัสดิการสังคม