“สภาล่ม” งบประมาณชาติที่ ”สูญเปล่า” ส่องงบประมาณชาติที่ต้อง “เสีย” อย่าง “สูญเปล่า” ต่อเหตุการณ์สภาล่มสนองเกมชิงอำนาจในเวทีรัฐสภา
จากกรณี “สภาล่ม” ที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งช่วงก่อนหน้านี้ และเป็นคำถามสำคัญที่สังคมต้องการคำตอบว่า “สภาล่มเป็นสิ่งที่ควรเกิดขึ้นหรือไม่ และเหตุการณ์สภาล่มทำให้เกิดผลกระทบอะไรตามมา” กลายเป็นความต้องการรับรู้ของสังคมในเรื่อง งบประมาณที่ใช้ในองค์กรรัฐสภา โดยเฉพาะการปฏิบัติงานของบรรดาสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและคณะผู้ติดตาม ในความรับรู้ของสังคม และการทำความเข้าใจในส่วนนี้จะเป็นประโยชน์ต่อการเข้าใจเรื่องกลไกของฝ่ายนิติบัญญัติและการทำงานในภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง
โดยงบประมาณที่ใช้ในการจัดประชุมรัฐสภานั้น จะมีอยู่ประมาณ 2 ส่วนคร่าว ๆ คือ ส่วนบุคลากร และส่วนครุภัณฑ์ โดยส่วนบุคลากร คือ ค่าใช้จ่ายสำหรับบุคลากรที่ปฏิบัติหน้าที่ในรัฐสภา เช่น สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา คณะผู้ติดตามของ ส.ส. และ ส.ว. ซึ่งประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญ 1 คน ผู้ชำนาญการ 2 คน และผู้ช่วยปฏิบัติงาน 5 คน ต่อ ส.ส. และ ส.ว. 1 คน ซึ่งยังรวมสวัสดิการในตำแหน่งดังกล่าว เช่น ค่าเดินทางภายในประเทศ สิทธิรักษาพยายาล เบี้ยเลี้ยงเมื่อเดินทางไปต่างประเทศ และยังไม่รวมค่าเบี้ยประชุมกรรมาธิการต่อครั้งที่ได้รับจากการประชุม ทั้งหมดนี้ยังไม่รวมถึงค่าใช้จ่ายของเจ้าหน้าที่ภายในรัฐสภาที่ปฏิบัติหน้าที่ในบทบาทต่าง ๆ และอีกส่วนหนึ่งที่เป็นค่าใช้จ่ายสำคัญคือ ส่วนครุภัณฑ์ ที่เป็นค่าใช้จ่ายสำหรับการบำรุงรักษาสถานที่ การเปิดใช้งานสถานที่ที่จะมีค่าใช้จ่ายปกติจำพวก ค่าไฟ ค่าน้ำ ต่าง ๆ รวมทั้งการจัดซื้ออุปกรณ์เครื่องมือต่าง ๆ เข้ามาในพื้นที่รัฐสภา ทั้งนี้ยังไม่รวมถึงการปรับปรุงหรือก่อสร้างอาคารสำหรับใช้ในการประชุมรัฐสภาในรัฐสภาใหม่ที่ใช้ในการประชุมอยู่ในขณะนี้ที่มีการใช้จ่ายเป็นจำนวนมาก และยังไม่รวมถึงกระบวนการในการได้ ส.ส. เข้ามาในรัฐสภาที่จะต้องมีการจัดการเลือกตั้งในระดับชาติ ผ่านหน่วยงานการจัดเลือกตั้งทั่วประเทศซึ่งมีค่าใช้จ่ายในการจัดเลือกตั้งในแต่ละครั้งเป็นจำนวนมหาศาล
ดังนั้น เมื่อได้รับรู้เรื่องกลไกงบประมาณที่ใช้ในการจัดประชุมรัฐสภานั้นจึงไม่ใช่ปัญหาว่า ต้องใช้หรือลดการใช้งบประมาณเท่าไหร่ในกลไกรัฐสภาจึงจะดี แต่เรื่องความคุ้มค่าในกลไกเหล่านี้และผลงานที่ออกมาจากการใช้งบประมาณเหล่านี้คือ สิ่งที่สำคัญที่สุดในกลไกระบอบประชาธิปไตย และเมื่อสังคมมองว่าการใช้งบประมาณในส่วนนี้ไม่ค่อยคุ้มค่ามากนักเมื่อเทียบกับสิ่งที่ได้รับกลับมา จึงกลายเป็นภาพสะท้อนถึงความน่าเชื่อถือ ภาวการณ์พึ่งพาได้ และความศรัทธาในตัวนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งที่ถูกในแง่ลบจากกรณี “สภาล่ม”
และหลังจากที่ได้ร่วมเข้าใจงบประมาณในการจัดประชุมรัฐสภาเบื้องต้น ย่อมทำให้เข้าใจในกลไกรัฐสภาได้มากขึ้นและสามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมผ่านการเลือกอ่านแหล่งข้อมูลประกอบด้านล่างเพื่อพิจารณาตามความเหมาะสม ซึ่งหลังจากนี้คงมีหลายคนที่เกิดข้อสงสัยว่า “การใช้งบประมาณข้างต้นนั้นคุ้มค่าต่อการปฏิบัติหน้าที่และผลลัพธ์ที่ออกมาหรือไม่ และการที่เคยเกิดเหตุการณ์สภาล่ม จะทำอย่างไรไม่ให้เกิดขึ้นอีก เพื่อให้กลไกประชาธิปไตยในฝ่ายนิติบัญญัติยังคงเดินหน้าได้ในสถานการณ์ปัจจุบัน” และได้คาดหวังว่า จะเป็นบทเรียนในประวัติศาสตร์การเมืองไทยและไม่ซ้ำรอยกันอีกต่อไป