สงสัยมั้ย ? ทำไม ‘อำนาจนิยม’ กับ ‘ความสุดโต่ง’ ทางการเมืองถึงเข้ากันได้ดี ? แม้ในกลุ่มเสรีประชาธิปไตย แต่ทำไมพอ ’สุดโต่ง’ จึงมีพฤติกรรมแบบ ‘เผด็จการ อำนาจนิยม’?
ทำไมอำนาจนิยมกับความสุดโต่งทางการเมืองจึงมักเดินไปด้วยกันอย่างไม่น่าเชื่อ ทั้งที่อำนาจนิยมสามารถเกิดขึ้นได้บนอุดมการณ์ทางการเมืองทุกอุดมการณ์บนโลกใบนี้ ทว่าความสุดโต่งทางการเมืองคือเชื้อเพลิงขนาดใหญ่ที่ทำให้แนวคิดโครงสร้างทางการเมืองที่เป็นอำนาจนิยมทรงพลังขึ้น เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น
เหตุผลสำคัญ คือ ความสุดโต่งทางการเมืองที่เข้มแข็งจะไม่เกิดขึ้นในประเทศที่ไม่มีวิกฤตรุนแรง เพราะเมื่อประชาชนมีความสุขและเศรษฐกิจที่ดีก็ต้องการนโยบายที่เสริมคุณภาพชีวิตของตนและให้คณะรัฐบาลรักษาสถานะเดิมที่ดีอยู่แล้วไว้ซึ่งมักเป็นแนวคิดสายกลางหรือกลางซ้าย – กลางขวา เป็นหลัก
แต่เมื่อเกิดวิกฤตใหญ่และรัฐบาลที่มีอำนาจดูแลขณะนั้นไม่สามารถแก้ไขปัญหาเหล่านั้นก็จะเป็นการเปิดทางให้ความคิดทางการเมืองสุดโต่งเข้ามามีบทบาทและมีพลังทางสังคมที่สูงขึ้นจากการเกิดขึ้นของวิกฤต
และเมื่อแนวคิดทางการเมืองแบบสุดโต่งเข้ามามีบทบาทในสังคมมากขึ้น สิ่งที่จะตามมาด้วยคือการเผชิญหน้าอย่างรุนแรงในทางการเมืองระหว่างการเมืองสุดโต่ง 2 ฝั่ง รวมทั้งการเมืองสายกลางที่เคยมีบทบาทก่อนหน้าด้วย ซึ่งเมื่อเกิดการเผชิญหน้าอย่างรุนแรงมากขึ้นก็จะเป็นการทำลายความสงบเรียบร้อยของประเทศและเป็นช่องว่างขนาดใหญ่ในการสร้างโอกาสในการขึ้นสู่อำนาจของกลุ่มอำนาจใหม่
ซึ่งวิธีที่นิยมใช้ คือ การทำตัวเองให้เข้ากับประชาชน สามารถเป็นผู้นำของประชาชน และดูเป็นความหวังของประชาชนในการทำให้พ้นวิกฤตทางสังคมเหล่านั้น หรือที่เรียกกันว่า “เดมาก๊อก” ซึ่งหลังจากผู้นำแบบเดมาก๊อกเข้ามามีบทบาทในอำนาจรัฐก็จะเริ่มสร้างความนิยมแก่ตนเองด้วยการแยกกลุ่มคนออกเป็น 2 กลุ่ม คือกลุ่มประชาชนที่ดีและกลุ่มแพะรับบาปที่มักจะเป็นกลุ่มมวลชนที่ไม่ได้สนับสนุนหรือเห็นต่างกับตน
ท้ายที่สุดก็จะเข้าสู่กรอบความคิดแบบอำนาจนิยมในทางการเมืองเพื่อรักษาอำนาจ ความน่าเชื่อถือและสถานะเดิมที่ได้รับการยอมรับจากประชาชนซึ่งจะเบาหรือหนักก็แล้วแต่สถานการณ์ที่เข้ามาในช่วงหลังจากการขึ้นสู่อำนาจ เพราะการขึ้นมาช่วงวิกฤตก็มักจะมีคนที่ท้าทายและมองว่าตนสามารถแก้ไขปัญหาได้ดีกว่า ซึ่งจะแตกต่างจากการเข้ามามีบทบาทในช่วงภาวะปกติที่จะอยู่ในระบบการเมืองที่มีเสถียรภาพมากกว่า
ยิ่งกว่านั้น กรอบอุดมการณ์การเมืองแบบสุดโต่งไม่ได้เปิดโอกาสให้มีการเห็นต่าง มีการเสนอแนะ มีการหาความเข้าใจร่วมกัน เหมือนกรอบความคิดแบบสายกลาง และให้ความสำคัญกับการบรรลุเป้าหมายทางการเมืองตามแบบของอุดมการณ์ที่ตนนับถือมากกว่า จึงยิ่งเป็นการทำให้ความเป็นอำนาจนิยมที่อาจมีอยู่แล้วจากวิธีการของพวกเดมาก๊อกก็จะยิ่งสูงขึ้นไปอีก
และอาจพัฒนากลายเป็นแนวคิดเผด็จการเบ็ดเสร็จที่ทำทุกวิถีทางเพื่อรักษาอำนาจของเดมาก๊อกไว้รวมทั้งการกลายเป็นเผด็จการในทางการเมือง เศรษฐกิจและสังคมอย่างเด็ดขาด เหมือนที่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประวัติศาสตร์โลกที่สุดท้ายก็จบลงอย่างไม่สวยนักด้วยมูลค่าของชีวิตมนุษย์ที่ต้องสูญเสียเป็นจำนวนมากเพื่อเพียงรักษาอุดมการณ์สุดโต่งอันบริสุทธิ์ไว้แทนที่จะเป็นการร่วมใจกันพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้าร่วมกัน
ดังนั้น การหลีกเลี่ยงเส้นทางสู่ความสุดโต่งทางการเมืองที่จะกลายเป็นเชื้อเพลิงของการยกระดับความเป็นอำนาจนิยมในทางการเมืองนั้น สิ่งสำคัญคือ การหาจุดร่วมกันทางการเมืองเพื่อเป็นการลดการเผชิญหน้าในอนาคตรวมทั้งการรับฟังความคิดเห็นอะไรต่าง ๆ ทั้งที่อยู่ในกลุ่มการเมืองของตนหรือไม่ได้อยู่ก็ถือว่าสำคัญ เพราะอย่างน้อยที่สุดก็คือการเรียนรู้มุมมองของผู้คนที่หลากหลาย
ซึ่งมุมมองเหล่านี้ก็ย่อมมีบางสิ่งบางอย่างที่สามารถใช้ประโยชน์ได้ในการขับเคลื่อนสังคมหรือแม้แต่ประเทศชาติให้ไปข้างหน้าแทนที่จะเอาอุดมการณ์ของตนที่คิดว่าบริสุทธิ์มาเผชิญหน้ากับกลุ่มคนอื่น ๆ ที่ไม่ได้คิดเหมือนตน ก็ถือว่าสำคัญอยู่เช่นกันในการประคับประคองชุมชนขนาดใหญ่เหล่านี้ให้ยังคงเป็นพื้นที่ร่วมกันสำหรับทุกคนและสิ่งเหล่านี้แหละคือพลังในการต่อต้านอุดมการณ์สุดโต่งและอำนาจนิยมที่เด็ดขาดที่สุด !
ประวัติศาสตร์บอกเล่า อ่านวิกฤตยูเครนผ่านวิกฤตคิวบา ความขัดแย้งที่เข้าใกล้มหาสงคราม “นิวเคลียร์” โลกมากที่สุดในประวัติศาสตร์
‘ปลดล็อกท้องถิ่น’ นโยบายแก้เหลื่อมล้ำที่แก้เหลื่อมล้ำไม่ได้ และยังมีแนวโน้มนำไปสู่โครงสร้างความเหลื่อมล้ำที่ถ่างออกยิ่งขึ้นกว่าเดิมอย่างน่าวิตก
ศิราวุธ ภุมมะกสิกร
อดีตวิศวกรโครงการ ระดับผู้จัดการ จบปริญญาตรีวิศวกรรมเครื่องกล จาก พระจอมเกล้าธนบุรี และ โท ด้าน Advanced Manufacturing Engineering จาก University of South Australia มีความสนใจในเรื่องประวัติศาสตร์ การเมือง และสวัสดิการสังคม