‘ศีลธรรมสำเร็จรูป’ ภัยร้าย ที่แฝงตัวมาในคราบ ‘ศีลธรรมอันดีงาม’
ศีลธรรม เป็นกติกาทางสังคมแรก ๆ ที่มีตัวตนในสังคมมนุษย์และมีบทบาทสำคัญในการสร้างกรอบทางสังคมตั้งแต่นั้นมา และอาจเรียกได้ง่าย ๆ ว่าเป็นกฎหมายที่มีชีวิต มีตัวตนเคลื่อนไหวได้แต่ไม่ค่อยมีการแสดงออกที่ชัดเจนเมื่อเทียบกับกฎหมายที่มีการจัดทำเป็นลายลักษณ์อักษรและมีตัวตนที่มากกว่า
และขึ้นชื่อว่า ศีลธรรมทางสังคม ก็เป็นอะไรที่จำเป็นมาก ๆ นับตั้งแต่การสร้างสังคมมนุษย์ขึ้นมาจนถึงโลกปัจจุบันที่มีเทคโนโลยีล้ำสมัย แม้ว่าจะมีการปรับเปลี่ยนตามยุคสมัยก็ตาม ในฐานะจุดร่วมของสังคม
แต่จุดร่วมของสังคมโดยมากแล้วมักเป็นกติกาทางสังคมที่มีการตกลงไว้ร่วมกันและมีการยอมรับในระดับหนึ่งโดยเฉพาะการยอมรับในคุณค่าศีลธรรมที่ไม่ได้เป็นการล่วงละเมิดสิทธิส่วนบุคคลของบุคคลอื่น ๆ ตราบที่ไม่ได้ล่วงละเมิดสิทธิส่วนบุคคลของผู้อื่นอยู่เช่นกัน และหลักพวกนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งของคุณค่าทางการเมืองแบบประชาธิปไตยที่มั่นคงและมีส่วนร่วมในหัวข้อของการไม่ล่วงละเมิดผู้อื่นกันและกัน
และทุกอย่างคงไปได้ด้วยดี ยกเว้นการเข้ามาของความคิด “ศีลธรรมแบบสำเร็จรูป” ที่เริ่มสั่นสะเทือนคุณค่าศีลธรรมร่วมกันของสังคมไทยไปเรื่อย ๆ ซึ่งตัว “ศีลธรรมแบบสำเร็จรูป” แปลง่าย ๆ คือ ความดีงามที่ตนคิดเอาเองว่า ถูกต้อง และบริสุทธิ์กว่าความดีงามของบุคคลอื่น ๆ รวมทั้งการพยายามยัดเยียดกรอบศีลธรรมที่ตนมีอยู่ให้คนอื่นที่ไม่อยู่ในกรอบเดียวกันต้องปฏิบัติตาม นั่นแหละ “ศีลธรรมแบบสำเร็จรูป”
แล้วเหตุที่ “ศีลธรรมแบบสำเร็จรูป” กับ “ความละอาย” กลับสวนทางกันแทนที่จะไปด้วยกัน ก็เพราะ “ศีลธรรมแบบสำเร็จรูป” คือ การยัดเยียดความคิดของตนที่คิดว่าถูกต้องและมองว่าเป็นการทำความดีเพื่อสังคมในเวลาเดียวกัน ซึ่งเป็นอะไรที่แปลกประหลาดดี เพราะการทำความดีคือสร้างความดีงามและผลงานแก่สังคม ไม่ใช่การยัดเยียดความดีของตนว่าเป็นของดีและไปด้อยค่าความดีของผู้อื่นให้ด้อยลง
และพฤติกรรมเหล่านี้ก็ได้ทำลาย แนวคิด “ความละอาย” ลงในชั่วพริบตา เพราะกลายเป็นว่าการทำความดีคือการแย่งกันทำความดีและนำเสนอความดีที่ตนเองทำว่าดีที่สุด แทนที่จะยอมรับในคุณค่าความดีของผู้อื่น คนที่ทำความดีแต่ไม่ได้แสดงออกมาจึงถูกคนทำดีแบบปลอม ๆ กลบฝังลงด้วยการแสดงออกอะไรต่าง ๆ นานา และทำให้ “ความดี” เป็นเพียงสินค้ารายการหนึ่งที่ใช้เพื่อเสริมโปรไฟล์ตนมากกว่าที่จะทำจริง ๆ
ทั้งหมดนี้จึงทำให้ “กรอบความคิดศีลธรรมแบบสำเร็จรูป” จึงเป็นอันตรายต่อกรอบกติกาศีลธรรมสังคมเป็นอย่างยิ่ง เพราะหากปล่อยไป กรอบกติกาศีลธรรมของสังคมไทยซึ่งก็เน้นที่ตัวบุคคลแทนที่จะเน้นแนวคิดส่วนรวมและการอยู่ร่วมกันในสังคมอยู่แล้ว ก็จะยิ่งหนักขึ้นไปอีก กลายเป็นลัทธิบูชาบุคคลที่ทำความดีเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือแทนที่จะเป็นการทำความดีเพื่อสังคมอย่างแท้จริง
ซึ่งยิ่งไปกันใหญ่เมื่อมีปรากฏการณ์ “ผู้พิพากษาโซเชียล” ที่เลือกที่จะตัดสินเรื่องราวต่าง ๆ ว่าสิ่งนี้เป็นความดี อีกสิ่งไม่ใช่ความดี และมีการปั่นหัวทางความคิดในโลกออนไลน์เต็มไปหมด กลายเป็นว่าความดีก็มีมาตรฐานว่าอันไหนเป็น อันไหนไม่เป็น แถมแนวคิดผู้พิพากษาโซเชียลส่วนใหญ่ยังให้ค่าของการทำความดีที่ออกไปทางการเอาหน้ามากกว่าที่จะเป็นการทำความดีแต่ผู้คนมักมองไม่เห็นเรื่องราวเหล่านั้น
ดังนั้น ความดีที่พัฒนาเป็นกรอบศีลธรรมในสังคมจำเป็นเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีพื้นที่ให้ผู้คนในสังคมมีส่วนร่วม ไม่ใช่เป็นพื้นที่ผูกขาดของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งที่มีกรอบศีลธรรมสำเร็จรูปและคอยชี้ผิดผู้อื่น ชี้ถูกตนเอง และทำให้ศีลธรรมเป็นสินค้าเสริมโปรไฟล์ของตน แทนที่ศีลธรรมเหล่านั้นจะเป็นพลังในการพัฒนาสังคม และเมื่อกรอบศีลธรรมร่วมกันในสังคมเป็นของทุกคน ก็จะเป็นการผลักดันให้สังคมเดินหน้าอย่างเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น
โดย ชย
ชัยชนะสมัย 2 ของมาครง เมื่อคนฝรั่งเศสเบื่อทั้งซ้าย-ขวา แล้วมุ่งสู่การเมืองสายกลาง (Centrist)
อะไรคือปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจเชิงยุทธศาสตร์ของมหาอำนาจระดับโลก
ศิราวุธ ภุมมะกสิกร
อดีตวิศวกรโครงการ ระดับผู้จัดการ จบปริญญาตรีวิศวกรรมเครื่องกล จาก พระจอมเกล้าธนบุรี และ โท ด้าน Advanced Manufacturing Engineering จาก University of South Australia มีความสนใจในเรื่องประวัติศาสตร์ การเมือง และสวัสดิการสังคม