‘วิกฤตต้มยำกุ้ง 2540’ วิกฤตที่ทำให้ประเทศไทยล้ม ก่อนที่จะลุกขึ้นมาใหม่ เป็นไทยที่แข็งแรงมั่นคงกว่าเดิม
วิกฤตต้มยำกุ้ง หรือ วิกฤตเศรษฐกิจเอเชีย ที่เกิดขึ้นใน พ.ศ.2540 ซึ่งผ่านมาถึง 25 ปีถึงปัจจุบัน ได้ทิ้งร่องรอยสำคัญจากวิกฤตเศรษฐกิจครั้งนั้นที่ได้เป็นตราบาปของความเจ็บปวดครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจไทยกำลังเติบโตขึ้นมาอย่างรวดเร็วและดูมีความหวัง
ซึ่งร่องรอยความเจ็บปวดที่คนไทยต่างต้องแบกรับภาระดังกล่าว เช่น การปิดตัวของบริษัทห้างร้านเป็นจำนวนมาก ระดับราคาอสังหาริมทรัพย์ที่ตกลงอย่างรวดเร็ว ความคึกคักทางเศรษฐกิจที่เคยคึกคักได้หายไปและไม่อาจจะเรียกกลับมาได้อีกในระดับที่เทียบเท่ากับช่วงก่อนวิกฤต
ทว่าเหตุการณ์วิกฤตเศรษฐกิจครั้งนั้นได้กลายเป็นบทเรียนสำคัญที่ทำให้ประเทศไทยก้าวไปข้างหน้ามาถึงปัจจุบัน และอาจเป็นก้าวที่มั่นคงยิ่งกว่า เมื่อมองถึงสถานการณ์โลกปัจจุบัน
ซึ่งร่องรอยสำคัญของเรื่องนี้ คือ การเป็นจุดเริ่มต้นของการปฏิรูปครั้งใหญ่ โดยเฉพาะในด้านการเงินที่มีการปฏิรูปจากแรงกดดันภายในประเทศผ่านวิกฤตการเงินที่เกิดขึ้นในช่วงขณะนั้นและแรงกดดันภายนอกประเทศที่บังคับให้มีการปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้เพื่อสามารถรับความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจในครั้งนั้น หลาย ๆ อย่างในวันนี้ก็ที่มาจากเรื่องนี้
โดยในส่วนของแรงกดดันภายในประเทศ คือ การพยายามฟื้นฟูการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจให้กลับมาทำงานได้ตามปกติและทำให้อัตราการว่างงานลดน้อยลง หลังการล่มสลายของภาคเอกชนโดยเป็นจำนวนมากโดยเฉพาะในกลุ่มการเงิน ซึ่งทำให้ภาคส่งออกและภาคการท่องเที่ยวกลายเป็นเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจที่มีบทบาทสูงจากระดับค่าเงินที่อ่อนค่าลงและเป็นโอกาสในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ
ขณะเดียวกันการเข้าถึงแหล่งเงินจากภายนอกประเทศก็มาพร้อมกับเงื่อนไขที่เด็ดขาดจากผู้ให้เงินกู้และก็ต้องจำใจยอมรับเงื่อนไขการได้รับเงินกู้เร่งด่วนจากหลายแหล่งเพื่อใช้ในการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศให้กลับมาปกติดี โดยเฉพาะการเข้าถึงแหล่งสกุลเงินต่างประเทศที่มีความจำเป็นเร่งด่วน
และนโยบายที่เกิดขึ้นจากเงื่อนไขการได้รับเงินกู้ก็มีทั้งกรอบเวลาในการเริ่มแปรรูปรัฐวิสาหกิจให้เป็นของเอกชนเพื่อส่งเสริมการแข่งขันทางเศรษฐกิจในตลาดทุนนิยมและลดภาระค่าใช้จ่ายการกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจโดยภาครัฐ ที่เป็นเงื่อนไขสำคัญจากผู้ให้เงินกู้สกุลเงินต่างประเทศ ซึ่งก็มีหลายรัฐวิสาหกิจที่ถูกแปรรูปเป็นเอกชนและก็มีหลายรัฐวิสาหกิจที่ยังเป็นรัฐวิสาหกิจมาถึงตอนนี้
รวมทั้งนโยบายทางการเงินที่จำเป็นต้องมีการรัดเข็มขัด หรือควบคุมการใช้จ่ายงบประมาณอย่างเข้มงวด ตัดทอนรายจ่ายที่ไม่จำเป็น รวมทั้งการดำเนินนโยบายทางการเงินและคลังที่เข้มงวดกว่าช่วงก่อนวิกฤตอยู่มาก ในจุดนี้แม้ว่าจะไม่ได้มีบังคับใช้นโยบายรัดเข็มขัดจากผู้ให้กู้ในระยะหลัง ๆ แล้วแต่ก็ยังส่งผลต่อนโยบายทางการเงินอยู่เป็นอันมากในลักษณะการดำเนินนโยบายที่ระมัดระวัง
อาทิ การให้ความสำคัญกับความเป็นอิสระในการดำเนินนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ชัดเจนมากขึ้นโดยบทบาทในการรักษาเสถียรภาพทางการเงินที่ได้ถูกให้ความสำคัญเป็นลำดับต้น ๆ
รวมทั้งการสะสมทุนสำรองระหว่างประเทศให้มีปริมาณที่มากเพียงพอในการรองรับสถานการณ์ที่ไม่คาดคิดในอนาคต ซึ่งเคยทำให้เงินทุนสำรองหายไปแทบทั้งหมด โดยจากการดำเนินนโยบายทางการเงินดังกล่าวได้ทำให้ทุนสำรองระหว่างประเทศของไทยมีจำนวนมหาศาลและติดอันดับโลก
และยังมีผลถึงการกู้เงินในการใช้จ่ายภาครัฐในช่วงหลังจากวิกฤตเศรษฐกิจที่เน้นการกู้เงินจากภายในประเทศมากกว่าภายนอกประเทศซึ่งได้ปรากฏขึ้นในรูปแบบสัดส่วนหนี้สาธารณะไทยที่มีสัดส่วนจากการกู้ยืมจากแหล่งเงินภายในประเทศเป็นสัดส่วนหลักของหนี้สาธารณะไทย
เพราะบทเรียนจากกู้เงินในสกุลเงินต่างประเทศของภาคเอกชนที่ปริมาณหนี้ได้สูงขึ้นรวดเร็วจากการลอยค่าเงินก่อนวิกฤตต้มยำกุ้ง และยังทำให้มีกรอบวินัยการเงินที่กำหนดกรอบขีดจำกัดหนี้สาธารณะภายในประเทศเพื่อไม่ให้มีหนี้สาธารณะในสัดส่วนที่มากจนเกินไป
ตรงนี้ คือ มรดกและร่องรอยที่วิกฤตเศรษฐกิจ 2540 ได้ส่งต่อให้ปัจจุบันนี้ การปล่อยกู้เงินจากธนาคารไม่ได้เป็นล่ำเป็นสันเหมือนช่วงก่อนวิกฤต การใช้จ่ายเงินในอนาคตไม่คล่องตัวเหมือนช่วงก่อนวิกฤต การมีมาตรการตรวจสอบการเงินที่เข้มงวดและมีมาตรการสำรองรองรับมากมาย
รวมทั้งการให้ความสำคัญกับเสถียรภาพทางเศรษฐกิจมากกว่าการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในระดับที่สูงก็เกิดขึ้นหลังจากวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่นี้ เพราะการเติบโตทางเศรษฐกิจในช่วงก่อนวิกฤตเศรษฐกิจโดยเฉพาะในภาคอสังหาริมทรัพย์เป็นการเติบโตแบบฟองสบู่ที่เป็นการเจริญเติบโตเกินความเป็นจริงซึ่งเมื่อเกิดปัจจัยอ่อนไหวใด ๆ เกิดขึ้นก็จะทำให้มูลค่าเทียมเหล่านั้นหายไปอย่างรวดเร็ว
ซึ่งสิ่งเหล่านี้คือรากฐานทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากบทเรียนราคาแพงที่ต้องแบกรับและทำให้นโยบายเศรษฐกิจรวมทั้งพฤติกรรมการใช้เงินเปลี่ยนไปมาจนถึงทุกวันนี้ไปในทางที่ระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น โดยมีการนำแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงเข้ามาใช้ในชีวิตประจำวันและแนวนโยบายแห่งรัฐ
จริง ๆ แล้ว แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงได้มีการกล่าวถึงมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2517 มาเรื่อย ๆ แต่กระแสการตอบรับแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงของคนไทยอย่างล้มหลามนั้น เกิดขึ้นหลังจากวิกฤตเศรษฐกิจ พ.ศ.2540 และได้กลายเป็นหมุดหมายสำคัญที่ทำให้แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงถูกนำเสนอและเอาใช้งานอย่างจริงจังในภาครัฐและประชาชนหลังจากวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจได้อุบัติขึ้น
จุดนี้ คือ จุดสำคัญที่ทำให้หลาย ๆ คนเริ่มกังขาในวัฒนธรรมการใช้ชีวิตช่วงก่อนวิกฤตเศรษฐกิจที่มีความเป็นบริโภคนิยมและให้ความสำคัญกับการใช้เงินในอนาคตมาใช้ในสิ่งต่าง ๆ มากกว่าที่จะสร้างเสถียรภาพทางการเงินของตนเองและเน้นการพึ่งพาตนเอง และปรากฏการณ์ทางสังคมนี้ก็ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าเวลาจะผ่านไปนานเท่าใดและมีแนวโน้มจะกังขามากขึ้นไปอีกจากสถานการณ์โลก
ทั้งนี้ จากเรื่องราวนี้สามารถกล่าวได้ว่า มรดกจากเหตุการณ์วิกฤตเศรษฐกิจ พ.ศ.2540 ที่เกิดขึ้นจากการลอยค่าในวันที่ 2 กรกฎาคม และได้ครบรอบ 25 ปีในวันนี้ ถือว่าเป็นเหตุการณ์ที่สะเทือนจิตใจคนไทยเป็นอย่างยิ่ง มีการสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สิน และได้เปลี่ยนแปลงหลาย ๆ สิ่งในสังคมไทยและยังคงส่งผลตกทอดผ่านความทรงจำของคนไทยที่ยังคงจดจำเหตุการณ์เหล่านี้ได้ดี
โดย ชย
Finland Model ทั้งโลกรอดได้ถ้ายูเครน ‘ยุติการเลือกข้าง’ อย่างฟินแลนด์
‘ตำรวจตระเวนชายแดน’ ผู้ปิดทองหลังพระ ที่เป็นทั้ง ตำรวจ ครู แพทย์ พยาบาล และทหารของประชาชน
ด้วยเอกลักษณ์ของบริบท ประเทศไทยจึงควรเป็น ประชาธิปไตยแบบ “สั่งตัดพอดีตัว”
ศิราวุธ ภุมมะกสิกร
อดีตวิศวกรโครงการ ระดับผู้จัดการ จบปริญญาตรีวิศวกรรมเครื่องกล จาก พระจอมเกล้าธนบุรี และ โท ด้าน Advanced Manufacturing Engineering จาก University of South Australia มีความสนใจในเรื่องประวัติศาสตร์ การเมือง และสวัสดิการสังคม