ลูกหนี้ไม่ใช่ทาส ข่มเหงกันเกินไป ระวังถูกฟ้องกลับ
การไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐ ฉันใดก็ฉันนั้น การไม่มีหนี้ก็เป็นลาภอันประเสริฐ เช่นกัน แต่ในสถานการณ์โรคระบาดที่เศรษฐกิจไม่ดีแบบนี้ เชื่อว่าคงมีหลาย ๆ คนที่อาจต้องไปกู้หนี้ยืมสินหรือเข้าค้ำประกันในการกู้เพื่อประคองธุรกิจหรือชีวิตให้รอด สุดท้ายก็ต้องถูกเจ้าหนี้มาทวงหนี้ทุกวันเวลา จะทำอะไรก็ลำบากต้องให้ความสำคัญกับเจ้าหนี้ก่อนเสมอ ประหนึ่งชีวิตต้องอยู่ใต้เงื้อมมือของเจ้าหนี้
แต่รู้หรือไม่ว่าอันที่จริงแล้วถึงแม้จะเป็นหนี้ แต่ลูกหนี้ก็มีสิทธิเหมือนกัน วันนี้ผู้เขียนจึงจะช่วยแนะนำสิทธิบางอย่างของลูกหนี้ที่อาจจะไม่ทราบตามพระราชบัญญัติการทวงถามหนี้ พ.ศ. 2558 เพื่อไม่ให้ถูกเจ้าหนี้เอาเปรียบกันเพราะผู้เขียนเชื่อว่า ผู้อ่านหลายคนตอนนี้อาจเป็นลูกหนี้ หรือ เป็นเจ้าหนี้ หรือเป็นทั้งคู่เช่นกัน
- เจ้าหนี้นั้นไม่ใช่แค่เจ้าหนี้โดยตรง ที่เป็นสถาบันการเงินหรือผู้ให้บริหารสินเชื่อ/เช่าซื้อ เท่านั้น แต่ ยังรวมถึง เจ้าหนี้นอกระบบและเจ้าหนี้ไม่ชอบด้วยกฎหมายด้วย ดังนั้นอย่าคิดว่าเป็นหนี้นอกกฎหมายแล้วกฎหมายจะไม่คุ้มครองนะ ส่วนเจ้าหนี้ที่เป็นแค่เพื่อนพี่น้องกันไม่จำต้องปฏิบัติตามกฎหมายนี้แต่อย่างใด
- การทวงหนี้นั้นเจ้าหนี้หรือผู้รับมอบอำนาจพร้อมใบมอบอำนาจต้องทวงกับตัวลูกหนี้โดยตรงเท่านั้นเว้นแต่มีบุคคคลอื่นที่ลูกหนี้กำหนดไว้ ณ สถานที่ที่ระบุหรือภูมิลำเนา สถานที่ทำงานของลูกหนี้หากไม่ได้ระบุไว้เท่านั้น หากส่งหนังสือทวงถามต้องส่งโดยทนายความเท่านั้น
- เวลาไปทวงห้ามเจ้าหนี้บอกหรือสื่อถึงความเป็นหนี้ของลูกหนี้ไม่ว่าจะทวงโดยตรงหรือใช้วิธีอื่นเช่น ซองจดหมาย รวมทั้งรายละเอียดหนี้ด้วย เว้นแต่เป็นคนในครอบครัวลูกหนี้ เช่น สามี ภริยา บุพการี ผู้สืบสันดาน และก็ห้ามหลอกถามรายละเอียดเกี่ยวกับลูกหนี้จากคนอื่นเป็นอันขาด นอกจากนี้ก็ห้ามดูหมิ่น ดูถูก ใช้คำหยาบคายต่อลูกหนี้เวลาทวงหนี้ด้วย
- เวลาและความถี่ในการทวงหนี้นั้น หากทวงหนี้โดยบุคคล โทรศัพท์ สื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือสื่อเทคโนโลยีสารสนเทศ ทวงได้ระหว่างวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 8.00 น.- 20.00 น. หรือ วันหยุดราชการเวลา 08.00 น.-18.00 น. โดยสามารถทวงได้ไม่เกินวันละหนึ่งครั้งเท่านั้น ซึ่งจะนับหนึ่งเมื่อลูกหนี้รับทราบการทวงอย่างชัดเจน เช่น รับรู้ผ่านทางโทรศัพท์ หรือเปิดไลน์อ่านข้อความทวงหนี้
- ห้ามข่มขู่ ใช้กำลัง เช่นการพาคนไปล้อมวงทวงหนี้ และห้ามหลอกลูกหนี้โดยใช้เอกสารที่เหมือนเอกสารจากศาลในการทวง ฝ่าฝืนกรณีนี้ อาจรับโทษสูงถึง จำคุกไม่เกิน 5 ปีหรือปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เลยทีเดียว
- ห้ามบังคับให้ลูกหนี้ออกเช็คทั้ง ๆ ที่รู้ว่าไม่มีเงินพอจ่าย
- ค่าใช้จ่ายในการทวงหนี้หรือค่าธรรมเนียมนั้น หากค้างชำระ 1 งวด เก็บได้ไม่เกิน 50 บาทต่อรอบการทวงถามหนี้ หากค้างชำระมากกว่า 1 งวดเก็บได้ไม่เกิน 100 บาทต่อรอบการทวงถามหนี้ แต่กรณีการให้เช่าซื้อหรือให้เช่าแบบลิสซิ่งรถ เรียกเก็บค่าการลงพื้นที่เพิ่มเติมไม่เกิน 400 บาทต่อรอบการทวงถามหนี้ และไม่ว่ายังไงก็ตามหากมีหนี้ไม่เกิน 1,000 บาท ห้ามเก็บ
โดยโทษของการฝ่าฝืนนั้น นอกจากในข้อ 5 ที่เขียนไว้ จะต้องติดคุกไม่เกิน 1 ปีหรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หากลูกหนี้คนใดพบเจอพฤติกรรมดังกล่าวที่ฝ่าฝืนต่อกฎหมายนี้ สามารถร้องเรียนได้ที่คณะกรรมการกำกับการทวงหนี้ประจำจังหวัด หากไม่ทราบว่าต้องติดต่อที่ไหนให้โทรเบอร์ 1111 เพื่อถามได้ว่าจะต้องติดต่อใคร
หวังว่าบทความนี้จะช่วยผู้อ่านที่เป็นลูกหนี้รักษาสิทธิของตนเองได้และช่วยให้คนที่เป็นเจ้าหนี้ไม่เผลอทำผิดกฎหมายเสียเอง