‘ลิเบอรัล’ ที่ไม่ ‘ลิเบอรัล’ รู้ความหมายที่แท้จริงของ ‘ลิเบอรัล’ ที่อาจจะทำให้เหล่า ‘ลิเบอรัล’ ในปัจจุบัน ไม่มีความ ‘ลิเบอรัล’ อยู่ในตัวเลย
เดี๋ยวนี้คำว่า liberal นั้นถูกใช้กันในความหมายที่เป็นบวกอยู่แถบจะตลอด โดยความหมายในภาษาไทยที่มักแปลออกมาก็คือความหมายว่า “เสรีนิยม” ดังนั้นใครกันที่จะไม่นิยมในความเสรี ใครกันที่จะไม่นิยมในความอิสระ? ดังนั้นจึงเป็นเรื่องแน่นอนว่าคำว่า liberal หรือเสรีนิยม ก็จะมีนัยยะเป็นด้านบวก ด้านดี ด้านที่ถูกต้องในตัวมันเองอยู่อย่างอัตโนมัติไปโดยปริยาย
อย่างไรก็ตาม ในประวัติศาสตร์ คำว่า liberal นั้นมีความหมายและนัยยะที่ซับซ้อนและไม่ตายตัว มันสามารถหมายถึงทั้งในด้านบวกและลบ ไม่ว่าจะหมายถึงผู้ “ใจกว้าง, ใจง่าย, มีอิสระ, ไม่มีขอบเขต” [1] ไม่เพียงเท่านั้น คำว่า liberal นั้นกลับมีมาก่อนการพัฒนาและกำเนิดขึ้นของแนวคิด liberalism หรือ ปรัชญา “เสรีนิยม” ด้วยซ้ำ ดังนั้นการกล่าวว่า liberal หมายถึง “เสรีนิยม” หรือ “ผู้ที่ยึดถือแนวคิดเสรีนิยม” นั้นก็อาจจะไม่ถูกต้องตามความหมายอย่างสมบูรณ์
แล้วความหมายของคำว่า liberal นั้นคืออะไร?
Liberal นั้นมาจากรากศัพท์ภาษาละตินว่า liber ซึ่งแปลว่า “อิสระ, เสรี” โดยในประวัติศาสตร์โรมันนั้นใช้บ่งบอกถึงสถานะของบุคคล ด้วยการแบ่งคนออกเป็นสองกลุ่มคือ “เสรีชน” หรือ liberi และ servi นั้นก็คือ “ผู้รับใช้” หรือ “ทาส” [2] ในยุคแรกนี้ liberal นั้นจึงเป็นคำขยายที่ใช้หมายถึงสถานะหรือสภาวะของคน ๆ หนึ่ง ไม่ได้หมายถึงสิ่งที่คน ๆ นั้นคิด เชื่อ หรือยึดถือ
ต่อมาในยุคกลาง ด้วยความที่ศาสนาคริสต์เริ่มเข้ามามีอิทธิพลในทุกมิติของสังคม สถานะทาสนั้นก็ได้เริ่มหายไป จากการที่ศาสนาคริสต์มีความพยายามในการห้ามชาวคริสต์กันเองเป็นทาส การแบ่งผู้คนเป็น “เสรีชน” กับ “ทาส” จึงไม่มีอีกต่อไป และ ทาส หรือ servus (servi คือรูปพหูพจน์) ก็ได้พัฒนาขึ้นเป็น “ไพร่” หรือ serf นั่นเอง
อย่างไรก็ตาม แม้การควบคุมในฐานะที่เป็นทาสนั้นจะไม่มีแล้ว ในยุคกลางก็ได้มีการพัฒนาระบบการศึกษาและสถาบันการศึกษาขึ้นอย่างชัดเจน ผู้ที่มีความรู้หรือกลุ่มปัญญาชน ซึ่งส่วนมากก็คือบรรดาชนชั้นสูง โดยเฉพาะบาทหลวงหรือนักบวชที่รับองค์ความรู้ของอารยธรรมกรีก-โรมันมานั้นก็ได้พัฒนาแนวทางการศึกษาเพื่อให้คนมี “เสรีภาพ” จากการควบคุมรูปแบบอื่น liberal ในที่นี้มาจากคำว่า liberalis ซึ่งแปลว่า “เป็นอิสระ” การศึกษาที่พัฒนาขึ้น ซึ่งเรียกว่า liberal arts นั้นจึงแปลตรงตัวคือ “ศาสตร์ที่ทำให้เป็นอิสระ”
หมายความว่า ศาสตร์เหล่านี้นั้นจะเป็นองค์ความรู้หรือวิชาการที่ทำให้ผู้คนนั้น สามารถหลุดพ้นจากพันธะต่าง ๆ ที่มีมาก่อนหน้า ให้ผู้ที่ศึกษาได้หลุดออกจากการดำเนินชีวิตตามสัญชาติญาณ, ตามประเพณีหรือกระแสสังคม, หรือตามอิทธิพลของการเมืองการปกครอง ฯลฯ แต่กลายเป็นผู้ที่มีความคิดความอ่านเป็นของตนเอง มีอิสรภาพ มีเสรีภาพ ในการคิดอย่างไม่ถูกครอบงำ ถูกชักชวน หรือถูกจูงจมูก
ศาสตร์พื้นฐานที่สุดนั้นในการศึกษาแบบ liberal arts นั้นก็คือกลุ่มวิชาที่เรียกว่า Trivium อันประกอบด้วย
- ภาษาและไวยากรณ์ หรือ Grammar
- ตรรกะ/วิภาษวิธี หรือ Logic/Dialectics และ
- วาทกรรม หรือ Rhetoric
ซึ่งเมื่อมองผ่าน ๆ นั้นเราอาจจะเห็นว่าศาสตร์และศิลป์ทั้งสามอย่างนี้นั้น ดูเหมือนจะไม่มีความพิเศษอะไรในตัวมันเอง แต่ในอีกมุมหนึ่งนั้น มันไม่เพียงแต่จะเป็นการศึกษาในองค์ความรู้ของวิชาเหล่านี้เพียงเท่านั้น แต่การศึกษาแต่ละวิชานี้นั้นเป็นเหมือนเครื่องมือที่นำไปสู่ความเข้าใจสังคมมนุษย์ได้ด้วย [3]
นั้นคือการศึกษาภาษาและไวยากรณ์ ไม่เพียงแต่จะเข้าใจภาษาหนึ่ง ๆ ที่เลือกมาศึกษา แต่คือการเข้าใจถึงความสำคัญของการมีกฎเกณฑ์ การมีกรอบ มีระเบียบวิธีการ เหมือนภาษาที่จำเป็นต้องมีกฎ มีไวยากรณ์ ถึงจะนำไปสู่การสื่อสารที่รู้เรื่องกันทั้งสองฝ่าย
หรือการศึกษาตรรกะและวิภาษวิธี ไม่เพียงแต่จะทำให้ผู้เรียนได้รู้ถึงการใช้เหตุผล แต่ยังเป็นการทำให้เกิดความเข้าใจถึงความสัมพันธ์ ความเชื่อมโยง และความแตกต่าง ของสิ่งคล้ายกันที่ถูกนำมาเปรียเทียบกัน เพื่อให้เห็นว่ากฎเกณฑ์ต่าง ๆ นั้นมีขึ้นมาด้วยสาเหตุอะไร
และท้ายที่สุด วิชาวาทกรรมหรือวาทศิลป์นั้น ไม่เพียงแต่จะพัฒนาความสามารถในการใช้ภาษา แต่เป็นการแสดงให้เห็นถึงความเชื่อมโยงกันระหว่าง กฎเกณฑ์ และ เหตุผล และการนำทั้งสองสิ่งนั้นไปใช้ให้เป็นไปตามเป้าหมายของผู้นำเสนอ
ตรงนี้เอง โดยเฉพาะในศาสตร์วิชาสุดท้าย นั้นคือ rhetoric หรือ วิชาวาทกรรมหรือวาทศิลป์ ที่ชี้ให้เห็นว่าคำว่า liberal ในความหมายดั้งเดิมแตกต่างกับ liberal ในความเข้าใจปัจจุบันอย่างไร
เพราะในขณะที่ liberal ในปัจจุบันหมายถึง ผู้ที่เชื่อและยึดถือในชุดความคิด แนวคิด หรือลัทธิความคิดหนึ่ง ๆ นั่นคือ “ลัทธิแนวคิดเสรีนิยม” หรือ liberalism แต่ liberal ในความหมายทางประวัติศาสตร์ที่พัฒนาขึ้นมาจากการศึกษาแบบ liberal arts นั้นกลับหมายถึง ผู้ที่มีอิสระจากการควบคุมของชุดความเชื่อ ความคิด แนวคิด ใด ๆ และมีวิจารณญาณที่จะสามารถพัฒนาองค์ความคิดเป็นเอกเทศของตัวเองได้
สำหรับผู้ที่เรียกตัวเองว่าเป็น liberal นั้นจึงมีความจำเป็นเป็นอย่างยิ่ง ที่จะต้องเข้าใจถึงความหมายดั้งเดิมของคำนี้ ๆ เพราะไม่เช่นนั้นในยุคที่โลกออนไลน์นั้นเต็มไปผู้มีอิทธิพลทางความคิด หรือ อินฟลูเอนเซอร์ (influencer) และอุตสาหกรรมสื่อที่พยายามเข้ามาชักจูงเปลี่ยนแปลงความคิดของคน ผู้ที่ไม่ได้คิดได้ด้วยตนเอง แต่ได้รับอิทธิพลทางความคิดจากกระแสสังคม จากสื่อ หรือจากบุคคล ผ่านการใช้ภาษา ความสามารถในการใช้หลักเหตุผล หรือความสามารถในการใช้วาทกรรม ถ้าตกเป็นเหยื่อจากการไม่มีวิจารณญาณแล้ว แม้ว่าจะเรียกตัวเองว่าเป็น liberal ก็จะไม่สามารถถูกเรียกได้อย่างสมบูรณ์ว่าเป็น liberal นั้นคือ เป็นเสรีชนผู้ที่มีความคิดเป็นอิสระอย่างแท้จริง
อ้างอิง :
[1] Gross, Jonathan. Byron: the erotic liberal. Lanham: Rowman & Littlefield Publishers, Inc., 2001. ISBN 0-7425-1162-6. หน้า 5
[2] Liber