รู้จัก Hot Scramble หลักการนำเครื่องบินขึ้นรับมือภายใน 5 นาที หลังเรดาห์แจ้งเตือน
เป็นข่าวกระหื่มโลกโซเชียล หลังเครื่องบินขับไล่ MIG 29 ของกองทัพอากาศเมียนมา รุกล้ำน่านฟ้าไทย ที่ ต.วาเล่ย์ อ.พบพระ จ.ตาก เมื่อวันที่ 30 มิถุนายนที่ผ่านมา
ในส่วนของกองทัพอากาศ พล.อ.ต. ประภาส สอนใจดี โฆษกกองทัพอากาศ ยืนยันว่า “ปฏิบัติตามขั้นตอน วิธีการปฏิบัติ ที่มีอยู่อย่างต่อเนื่อง”
นอกจากนี้ยังตอบคำถามด้วยว่า “นักบินก็พร้อมวิ่งขึ้นภายใน 5 นาที ระยะทาง 100 กว่าไมล์ ประมาณ 10 กว่านาทีก็จะถึงเป้าหมาย แต่การไปด้วยเครื่องรบทางอากาศ นักบินก็ต้องระมัดระวัง” [1]
และในความเป็นจริงแล้ว กองทัพไทย และกองทัพในหลายประเทศทั่วโลก ในฐานะกองกำลังรักษาความปลอดภัยจากภัยคุกคามภายนอกนั้น จะต้องมีความพร้อมที่จะรับมือกับเหตุไม่คาดฝัน ได้อย่างทันท่วงทีอยู่แล้ว ดังนั้น การจัดเตรียมหน่วยเฝ้าระวัง และหน่วยปฏิบัติการฉุกเฉินนั้น คือหลักปฏิบัติที่เป็นสากลอยู่แล้ว
สำหรับกองทัพอากาศไทยนั้น มีการจัดเตรียมกำลังเพื่อรับมือกับภัยคุกคามทางอากาศมาตลอด ไม่ว่าจะเป็นการจัดอบรมในหลักสูตร “นักบินพร้อมรบ (COMBAT READY)” เพื่อเสริมสร้างความรู้และทักษะให้แก่นักบินกองทัพอากาศตลอดเวลา
และยังมีการจัดการฝึกซ้อมอยู่เป็นระยะ ๆ โดยกองบินแต่ละกอง จะจัดการฝึกประจำ เพื่อให้กำลังพลมีความพร้อมที่จะรับมือกับภัยคุกคามในทุกรูปแบบได้อย่างทันท่วงที
สำหรับกองบิน 4 อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งเป็นกองบินที่เข้ารับมือกับสถานการณ์ ทำการบินประกบ กดดัน ขับไล่ในครั้งนี้นั้น [2]
เพิ่งจะผ่านการฝึกปฏิบัติการเตรียมความพร้อมของหน่วยบินขับไล่สกัดกั้นที่จะทำการขึ้นบินสกัดกั้นอากาศยานที่ไม่ทราบฝ่ายเข้าล้ำน่านฟ้าของประเทศไทย (Hot Scramble) มาเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน ที่ผ่านมานี้เอง [3]
—
สำหรับหลักปฏิบัติของกองทัพอากาศนั้น หากตรวจพบอากาศยานที่ไม่มีระบุในแผนการบินเข้ามาในระยะ 100 ไมล์ทะเล (185.2 กิโลเมตร) จากแนวชายแดน กองทัพจะมีการแจ้งเตือนไปยังหน่วยบินขับไล่และสกัดกั้น (Quick Reaction Alert) [3]
และหากอากาศยานนั้น ยังรุกล้ำเข้ามาอีกในระยะ 50 ไมล์ทะเล (92.6 กิโลเมตร) จะสั่งให้หน่วยบินขึ้นบินสกัดกั้น (Intercept) โดยเครื่องบินจะต้องออกบินภายใน 5 นาที นับแต่ได้รับคำสั่ง “Hot Scramble”[3]
อย่างไรก็ตาม ระยะทางจากสนามบินตาคลี จ.นครสวรรค์ ถึงที่เกิดเหตุระยะห่างกัน 111 ไมล์ทะเล (205.6 กิโลเมตร) ต้องใช้เวลาอีก 10 นาทีในการเดินทางนั่นเอง [3]
จึงอาจกล่าวได้ว่า การออกปฏิบัติการปกป้องอธิปไตยของชาติในครั้งนี้นั้น เป็นไปตามขั้นตอน และมีการฝึกฝนเตรียมพร้อมของกองทัพอากาศอยู่ตลอดเวลา
“นักบินกองทัพอากาศทุกคน ฝึกมาทั้งชีวิต ให้มีความพร้อมที่จะรับมือกับเหตุการณ์แบบนี้อยู่ตลอดเวลาที่ได้รับคำสั่ง” เพจเรื่องเล่าอดีตนักบินรบ กล่าวทิ้งท้าย
—
สำหรับทางกองทัพเมียร์มาร์นั้น
วันที่ 1 กรกฎาคม นายกรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้มีการแถลงการณ์ว่า ทางการเมียนมา ได้ประสานงานผ่านทูตทหารไทยประจำกรุงย่างกุ้งมาว่า ทางการเมียนมาแล้ว ยอมรับว่ารุกล้ำจริง โดยการรุกล้ำดังกล่าว เกิดขึ้นจากความผิดพลาดของนักบิน ระหว่างปฏิบัติการสู้รบในพื้นที่รัฐกระเหรี่ยง [1]
และขอโทษถึงรัฐบาลไทย ว่าไม่มีความตั้งใจและไม่ต้องการมีปัญหากับกองทัพไทย [1]
สุดท้าย พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวทิ้งท้ายว่า
“วันนี้เรา [กับเมียนมา] ก็มีความสัมพันธ์ที่ดีกันอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นมีอะไรก็พูดคุยหารือกัน สิ่งสำคัญที่สุดคือเรามีสมรรถนะพอเพียงที่จะป้องกันอธิปไตยของเราไว้ได้ แต่วันหน้าก็ต้องดูว่าเรามีความเข้มแข็งทันสมัยเพียงพอหรือไม่ในอนาคต ฝากเอาไว้ด้วยแล้วกัน และย้ำว่า ไม่ใช่เรื่องใหญ่โต” [4]
โดย ศิราวุธ ภุมมะกสิกร
อ้างอิง :
[1] เมียนมา : พล.อ. ประยุทธ์ชี้ เครื่องบินรบเมียนมาตีวงเลี้ยวเข้าน่านฟ้าไทยไม่ใช่เรื่องใหญ่
[2] กองทัพอากาศ ดำเนินการจัดการทดสอบการใช้กำลังทางอากาศ ประจำปี ๒๕๖๕
[3] เพจ เรื่องเล่าอดีตนักบินรบ Tales from ex-fighter pilot วันที่ 1 กรกฎาคม 65 เวลา 03:28 น.
[4] นายกฯ เคลียร์เมียนมาขอโทษแล้ว ยันไม่ใช่เรื่องใหญ่ ความสัมพันธ์ดีอยู่
ในน้ำมัน 1 ลิตร ประกอบไปด้วย ค่าอะไรบ้าง และนำไปใช้ประโยชน์อย่างไรในการพัฒนาประเทศ
กรณีกองทัพอิสราเอลยิงนักข่าว Al-Jazeera กับพฤติกรรมสองมาตรฐานของสื่อมวลชนตะวันตก
ราชตฤณมัยสมาคม ไม่ใช่ ‘สนามม้านางเลิ้ง’ การพาดหัวของสื่อที่ทำให้คนเข้าใจผิดไปไกล
ศิราวุธ ภุมมะกสิกร
อดีตวิศวกรโครงการ ระดับผู้จัดการ จบปริญญาตรีวิศวกรรมเครื่องกล จาก พระจอมเกล้าธนบุรี และ โท ด้าน Advanced Manufacturing Engineering จาก University of South Australia มีความสนใจในเรื่องประวัติศาสตร์ การเมือง และสวัสดิการสังคม