Articlesพินิจอดีตของเงินตรา สู่อนาคตของคริปโต และเทคโนโลยีบล็อกเชน

พินิจอดีตของเงินตรา สู่อนาคตของคริปโต และเทคโนโลยีบล็อกเชน

ข่าวการล้มดีล บิทคับ ของธนาคารไทยพาณิชย์ กลายเป็นข่าวใหญ่ที่ได้รับความสนใจจากคนหลายคนในสังคม

บิทคับ คือแพลตฟอร์มการซื้อขายคริปโตเคอร์เรนซี่ (Cryptocurrency) ซึ่งเป็นสินทรัพย์ดิจิทัลประเภทหนึ่ง ที่อาศัยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain Technology) ซึ่งมีศักยภาพในการป้องกันการปลอมแปลงหรือการแทรกแซงขั้นสูง นี่ทำให้ เทคโนโลยีบล็อกเชน มีความปลอดภัย และความน่าเชื่อถือ โดยไม่ต้องใช้ธนาคาร หรือรัฐบาลของประเทศเป็นตัวกลาง

จุดเด่นของคริปโตเคอร์เรนซี่ คือการเป็นตัวกลางในการแลกเปลี่ยนที่มีต้นทุนที่ต่ำกว่าเงินทั่วไป  สามารถแปลกเปลี่ยนได้รวดเร็วมากกว่า และเป็นระบบที่ไม่ต้องการตัวกลาง

 
ถึงแม้ว่าผู้เชี่ยวชาญหลายท่านจะเชื่อว่า เทคโนโลยีบล็อกเชนและเทคโนโลยีอื่นที่เกี่ยวข้อง (รวมถึงคริปโต ฯ) จะเข้ามาเปลี่ยนโลก โดยเฉพาะในแวดวงการเงินและกฎหมาย

 

แต่มันก็มีจุดอ่อนที่ใหญ่หลวงสำหรับการเป็นตัวกลางทางการเงินที่สำคัญยิ่ง นั่นคือ “ความผันผวน” ของมูลค่าในตัวของมันเอง



สำนวน “ไก่ได้พลอย” จากนิทานอีสป เป็นสำนวนที่เปรียบเปรยมูลค่าของสิ่งของเอาไว้อย่างดียิ่ง ถึงแม้ในภายหลัง จะถูกตีความกลายเป็นว่า “ได้สิ่งที่มีค่าแต่ไม่รู้คุณค่า”

ต้นฉบับของนิทาน เล่าถึงไก่ตัวหนึ่งคุ้ยเขี่ยหาอาหารแล้วพบอัญมณีเม็ดหนึ่ง มันจึงอุทานขึ้นว่า “โอ้! เจ้ามีค่ายิ่งอย่างมิต้องสงสัย หากใครก็ตามที่ได้พบเจ้า เขาย่อมจะมีความยินดีเป็นแน่”

“แต่สำหรับข้าแล้ว เมล็ดข้าวโพดเมล็ดหนึ่ง มีค่ามากกว่าอัญมณีทั้งมวลในโลก”

นิทานเรื่องนี้ สะท้อนให้เห็นถึงวิธีการตีค่าวัตถุของแต่ละปัจเจกบุคคล

ไก่ในนิทานนั้น รู้ดีว่า อัญมณีเม็ดงามเม็ดนั้นมีค่าสำหรับบุคคลอื่นยิ่ง แต่สำหรับมันแล้ว อัญมณีเม็ดนั้น ไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์อะไรแก่ตัวมันเลย จึงกลายเป็นสิ่งไม่มีค่าสำหรับมัน



ความผันผวนของค่าเงินเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา แม้ในช่วงภาวะปกติ ค่าของเงินก็จะมีการเปลี่ยนแปลงเล็กน้อย แต่ในภาวะไม่ปกติ จะมีอัตราการเปลี่ยนแปลงสูง และหากสูงมาก ก็จะกลายเป็นภาวะวิกฤติ

ประเทศไทยเองเคยเผชิญกับภาวะวิกฤติใหญ่ 2 ครั้ง คือ วิกฤติการณ์การเงินในเอเชีย พ.ศ. 2540 (วิกฤติการณ์ต้มยำกุ้ง) และวิกฤติการเงินโลก พ.ศ. 2551 ซึ่งส่งผลกระทบต่อค่าเงิน, เศรษฐกิจ และการใช้ชีวิตของคนไทยทั้งคู่

โชคยังดีที่ยังไม่ถึงขั้น “ระบบการเงินล่มสลาย” อย่างที่เคยเกิดขึ้นในซิมบับเว และฮังการี ซึ่งเป็นเหตุการณ์ “เงินเฟ้อยิ่งยวด” (Hyperinflation) ที่เลวร้ายที่สุดเท่าที่โลกเคยเผชิญมา

ในซิมบับเว พ.ศ. 2552 เกิดภาวะเงินเฟ้อยิ่งยวด โดยสกุลเงินดอลลาร์ซิมบับเวขึ้นไปที่ 79,000 ล้านเปอร์เซ็นต์ ส่วน พ.ศ. 2489 หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 อัตราเงินเฟ้อของฮังการี พุ่งขึ้นไปถึง 41,900,000,000 ล้านเปอร์เซ็นต์

 

ในสถานการณ์ข้างต้นนั้น วัตถุสิ่งของ โดยเฉพาะอาหาร เป็นที่ต้องการอย่างยิ่งยวด จนมีเรื่องเล่าว่า หากนำธนบัตรที่มีค่าที่สุดใส่จนเต็มตะกร้าแล้ววางไว้ในที่สาธารณะ ตะกร้าอาจจะหาย แต่เงินยังอยู่ครบ

นี่สะท้อนให้เห็นว่า ตัวเงินแท้จริงแล้วไม่ได้มีคุณค่าอะไรในตัวมันเองเลย แต่มีค่าเพราะความเชื่อของสังคมว่ามันมีค่า และอาจไร้ค่าได้ในสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป



เงิน เกิดขึ้นในอารยธรรมของมนุษย์จากความต้องการในการแลกเปลี่ยนสินค้าระหว่างกัน และเงินในยุคแรก ใช้วัตถุสิ่งของที่เป็นที่ต้องการ เป็นตัวแลกเปลี่ยนสินค้า

ผู้ที่ชำนาญในการล่าสัตว์ นำสัตว์ที่ล่าได้ไปแลกเปลี่ยนเป็นอาวุธเพื่อใช้ในการล่า กับผู้ที่ชำนาญในการผลิตอาวุธ และผู้ผลิตอาวุธอาจนำทั้งสัตว์ที่ได้มาและอาวุธที่ตนผลิตได้ ไปแลกเปลี่ยนเป็นข้าวจากเกษตรกรผู้ปลูกข้าว

 

ในเวลาต่อมา มนุษย์มีความสามารถด้านโลหการสูงขึ้น สามารถแปรรูปโลหะได้ และเริ่มนำโลหะที่มีค่ามาใช้เป็นตัวกลางในการแลกเปลี่ยนสินค้า การใช้โลหะเป็นตัวกลางในการแลกเปลี่ยนนั้น ทำให้เกิดความสะดวกในการทำการค้ามากขึ้น เนื่องจากสินค้าบางอย่างมีน้ำหนักมาก ทำให้เกิดข้อจำกัดในการขนย้ายเพื่อการแลกเปลี่ยน

และในเวลาต่อมา มนุษย์คิดค้น “โลหะแท่ง” และ “เหรียญกษาปณ์” เพื่อใช้เป็นตัวแทนของเงิน โดยเหรียญที่เก่าแก่ที่สุดที่เคยมีการขุดพบมานั้น พบในประเทศจีน ถูกผลิตขึ้นช่วง 1 พันปีก่อนคริสตกาล

วัสดุที่ใช้ทำโลหะแท่งและเหรียญกษาปณ์ในยุคโบราณ คือ ทอง, เงิน และทองแดง ซึ่งล้วนแต่เป็นโลหะมีค่า และในยุคแรกนั้น มูลค่าของเงินจะเท่ากับน้ำหนักของวัสดุที่ใช้สร้างมันขึ้นมา

แต่ในเวลาต่อมา รัฐบาลเริ่มผลิตเหรียญที่มีมูลค่ามากกว่าตัวของมันเอง โดยอาศัยความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อรัฐบาล ซึ่งหมายความว่า หากเมื่อใดก็ตามที่ประชาชนไม่เชื่อใจในระบบการค้ำประกันของรัฐบาล ไม่เชื่อว่ารัฐบาลมีความสามารถในการชำระหนี้คืนทรัพย์สินให้แก่ตนได้

ประชาชนก็จะมีพฤติกรรมที่ทำให้มูลค่าของเงินนั้นต่ำลง

หลักการนี้ ถูกนำมาใช้กับ “ธนบัตร” “เงินกระดาษ” และตั๋วแลกเงินด้วย โดยเงินกระดาษมีการใช้ครั้งแรกสมัยราชวงศ์ถัง ประเทศจีน ในศตวรรษที่ 7 โดยอยู่ในรูปแบบของตั๋วแลกเงิน เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่พ่อค้าที่ต้องเดินทางไกล โดยพ่อค้าจะแลกเงินเป็นตั๋วกระดาษในที่หนึ่ง แล้วพกพาเพื่อนำไปแลกเป็นเงินเหรียญในอีกที่หนึ่ง

ต่อมาถูกพัฒนาเป็น “ธนบัตร” ที่ออกโดยรัฐบาลในสมัยราชวงศ์ซ่ง ค.ศ. 960 ซึ่งในเวลานั้น รัฐบาลซ่งขาดแคลนโลหะที่ใช้ผลิตเหรียญกษาปณ์ จึงเริ่มออก “ธนบัตร” เพื่อทดแทนการใช้เหรียญขึ้นมา ซึ่งธนบัตรดังกล่าวผลิตมาจากกระดาษ ไม่ได้มีมูลค่าเทียบเท่ากับมูลค่าที่ถูกพิมพ์ลงบนธนบัตร แต่อาศัยความเชื่อถือที่ประชาชนมีต่อรัฐบาลเป็นหลักค้ำประกันนั่นเอง

อย่างไรก็ตาม ปัญหาของธนบัตรและเหรียญในหน้าประวัติศาสตร์ยุคโบราณ คือ “การปลอมแปลง” ซึ่งหากว่าเงินเหล่านั้นถูกปลอมแปลงเป็นจำนวนมาก จะทำให้ความเชื่อมั่นของประชาชนหดหาย และอาจกลายเป็นหายนะทางเศรษฐกิจและการเงินของประเทศได้

 

สิ่งสำคัญที่สุดของเหรียญและธนบัตรยุคโบราณ คือ เมื่อใดก็ตามที่รัฐบาลผู้ค้ำประกันเกิดล่มสลาย  เงินเหล่านั้นจะกลับไปมีมูลค่าเท่ากับตัวของมันเองในทันที

กองเงินธนบัตรมูลค่านับหมื่นล้าน อาจกลายเป็นเพียงแบงก์กงเต๊ก แบงก์กาโม่ ในทันทีที่รัฐบาลผู้ค้ำประกันได้ล่มสลายหายไป

แต่ถึงกระนั้น ในปัจจุบันเหรียญเงินและธนบัตรที่เราใช้ ก็ยังคงยึดถือหลักการดั้งเดิมมาแต่ยุคโบราณ นั่นคือ มูลค่าที่ระบุเอาไว้จะสูงกว่ามูลค่าที่แท้จริงของตัวมันเองเสมอ 

 

ตราบเท่าที่รัฐบาลผู้รับประกันยังคงอยู่ และระบบการค้ำประกันค่าของเงินยังมีความน่าเชื่อถือในสายตาของประชาชน



จะเห็นได้ว่า “เงิน” ที่เราใช้กันอยู่ในปัจจุบันนั้น แท้จริงแล้วมีมูลค่าต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริงของมันมานับตั้งแต่โบราณ จวบจนปัจจุบัน

แต่ทุกคนก็ยังคงใช้เงินตามมูลค่าที่ถูกระบุเอาไว้ โดยมิมีใครสนใจมูลค่าที่แท้จริงของมัน เพราะทุกคน “เชื่อ” ว่าเงินเหล่านั้น มีมูลค่าตามที่ถูกระบุเอาไว้อยู่จริง

 



การถือกำเนิดขึ้นมาของ “เงินเสมือน (Virtual Currency)” และ “เทคโนโลยีการเงิน” (Fintech) นั้น ลดความจำเป็นของการใช้ “เงินกายภาพ” ซึ่งเงินเสมือนเหล่านี้ ข้อดีที่ชัดเจนที่สุดของมัน คือ การทำให้เงินสามารถถ่ายโอนข้ามโลกได้อย่างรวดเร็ว และลดต้นทุนของตัวเงินลงไปได้อย่างมาก

สิ่งนี้ส่งผลดีอย่างมากต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ และการค้าขายระหว่างประเทศ ทำให้เศรษฐกิจของโลกพัฒนาได้อย่างรวดเร็ว 

 

แต่มันก็เป็นดาบสองคมด้วยเช่นกัน

ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุด คือ “วิกฤติสินเชื่อซับไพรม์ พ.ศ. 2550” ซึ่งเกิดขึ้นจากนโยบายการปล่อยกู้ซื้อบ้านที่มากจนเกินไปในอเมริกา จนผู้กู้ส่วนใหญ่ ไม่มีความสามารถในการชำระค่างวดและผิดนัดชำระเงิน จนเกิดการยึดบ้านจำนวนมหาศาล ก่อให้เกิดผลกระทบทางการเงินอย่างรุนแรง

จนเกิดความไม่เชื่อมั่นในระบบการเงินและการธนาคาร โดยเฉพาะกับนักลงทุน ที่พากันถอนเงินออกจากการลงทุนและพันธบัตรที่เกี่ยวข้องกับสินเชื่อที่มีความเสี่ยงสูง และหุ้นที่มีราคาไม่แน่นอน

ทำให้เศรษฐกิจของอเมริกาทรุด และลุกลามไปทั่วโลก จนกลายเป็น “วิกฤติการเงินโลก พ.ศ. 2551 โดยเฉพาะประเทศที่มีเศรษฐกิจผูกโยงกับอเมริกาอย่างแนบแน่น เช่น ออสเตรเลีย, ยุโรป และไทย

แต่อย่างไรก็ตาม ทุกวิกฤติที่ผ่านมา ล้วนถูกกอบกู้ขึ้นใหม่โดยรัฐบาลและธนาคารกลางเป็นแกนนำ




จากบทความข้างต้น จะเห็นได้ว่า มูลค่าของเงิน ซึ่งเป็นเครื่องมือและสิ่งสมมติทางการเงิน ที่ใช้ในการบริหารจัดการทางเศรษฐกิจและการกระตุ้นเศรษฐกิจนั้น ล้วนแต่ได้รับการค้ำประกันโดยรัฐบาล ที่ได้รับความเชื่อถือจากประชาชนและผู้ใช้

ความน่าเชื่อถือของผู้ค้ำประกัน คือ ที่มาหลักของมูลค่าของเงินนั่นเอง

แต่หลักการนี้ ไม่ปรากฏในสกุลเงินคริปโต ฯ ซึ่งออกให้โดยเอกชน ที่ประชาชนหลายคนไม่ทราบถึง ตัวตนของผู้ค้ำประกันสกุลเงิน จนเกิดเป็น “ความไม่เชื่อถือ” ในสกุลเงินคริปโต และกลายเป็นการไม่ยอมรับ และทำให้สกุลเงินด้อยค่าลงมานั่นเอง

นอกจากนี้ ด้วยคุณลักษณะที่ออกโดยใครก็ได้ โดยไม่ผ่านการควบคุมจากส่วนกลาง ทำให้นักวิชาการบางส่วนกังวลว่า คริปโตนั้นจะถูกนำมาใช้โดยกลุ่มอาชญากร ในการทำธุรกรรมผิดกฎหมาย และการฟอกเงิน

ที่สำคัญ “หน้าที่ของเงิน” คือ ใช้เพื่อการแลกเปลี่ยน ก่อให้เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจ

แต่ด้วยการไม่เป็นที่ยอมรับในเงินคริปโตของคนส่วนใหญ่ ทำให้มันไม่สามารถทำหน้าที่ตัวกลางในทางเศรษฐกิจได้อย่างเต็มที่ ซึ่งนี่เป็นการลดคุณค่าในตัวของมันเองลงไปยิ่งกว่าเดิม และใช้ประโยชน์ได้เพียงเพื่อการเก็งกำไร ซึ่งขัดแย้งกับคุณลักษณะที่ดีของเงิน และสื่อกลางทางการเงิน

โอกาสที่สกุลเงินคริปโตเคอร์เรนซี่จะได้ไปต่อนั้น มีน้อยมากเหลือเกิน หากไม่มีการจัดตั้งสถาบันทางการเงินที่มีความน่าเชื่อถือขึ้นมา ทำหน้าที่รับรองและค้ำประกันสกุลเงินคริปโต



สิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ คือ เทคโนโลยีบล็อกเชน ซึ่งเป็นแกนกลางของสกุลเงินคริปโตเคอร์เรนซี่นั้น มีข้อดีในตัวของมันเองในด้านเสถียรภาพและความปลอดภัยในการทำธุรกรรมดิจิทัล ที่สูงกว่าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Money) ที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน

ข้อดีนี้ เป็นความท้าทายอย่างยิ่งของนักการเงินและนักการธนาคาร ว่าจะสามารถนำเทคโนโลยีนี้มาประยุกต์ใช้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและความปลอดภัยในการทำธุรกรรมดิจิทัล และเศรษฐกิจดิจิทัลได้อย่างไร ?

 

นี่จึงเป็นที่มาของ “สกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลาง” (Central Bank Digital Currency; CBDC) ที่ธนาคารกลางหลายประเทศ ซึ่งรวมถึง “ธนาคารแห่งประเทศไทย” สนใจ

ตั้งแต่ พ.ศ. 2560 เป็นต้นมา ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ร่วมกับธนาคารพาณิชย์ 8 แห่ง ดำเนิน “โครงการอินทนนท์” เพื่อศึกษาประสิทธิภาพและความเป็นไปได้ของการใช้ CBDC ในภาคสถาบันการเงิน รวมถึงมีการทดลองการโอนเงินข้ามประเทศร่วมกับธนาคารกลางฮ่องกงด้วย 

 

และได้ขยายมาทดลองใช้กับภาคเอกชน โดยได้รับความร่วมมือจาก บริษัท ปูนซีเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) และคู่ค้าในห่วงโซ่อุปทาน

เมื่อวันที่ 5 สิงหาคมที่ผ่านมา ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ประกาศเตรียมขยายขอบเขตการทดลองใช้ “CBDC สำหรับประชาชน” โดยแบ่งการทดสอบออกเป็น 2 ส่วน

1) การทดสอบระดับพื้นฐาน (Foundation Track) เพื่อศึกษาการใช้งาน CBDC ในการรับแลก หรือใช้ชำระค่าสินค้าหรือบริการในวงจำกัด คาดว่าจะเริ่มในปลายปี พ.ศ. 2565 และสิ้นสุดจนถึงกลางปี ​​พ.ศ. 2566


2) การทดสอบระดับนวัตกรรม (Innovation Track) เพื่อศึกษาแนวทางการพัฒนาต่อยอดการใช้งาน CBDC ในกรณีต่าง ๆ โดย ธนาคารแห่งประเทศไทยจะเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนหรือนักพัฒนาเข้าร่วมทดสอบด้วย ผ่านการทำ แฮกกาธอน (Hackathon) และเปิดรับผู้สมัครจากภาคเอกชนเข้าร่วมโครงการตั้งแต่วันที่ 5 สิงหาคม จนถึง 12 กันยายน

 

ดังนั้น โอกาสที่จะไปต่อของเทคโนโลยีบล็อกเชนนั้นยังมีอยู่ และในอนาคต คงมีโอกาสถูกนำมาใช้งานอย่างแพร่หลายในโลกต่อไป

 

โดย ศิราวุธ ภุมมะกสิกร

อ้างอิง :

[1] “SCBX ล้มดีล Bitkub มีผลตั้งแต่ 25 ส.ค.2565”, The Structure 
[2] Bitkub 
[3] “นวัตกรรมโอนเงินระหว่างประเทศยุคใหม่ ฉับไวแบบเรียลไทม์”, กรุงศรีเพลินเพลิน 

[4] “What Is Cryptocurrency?”, Investopedia 
[5] ไก่ได้พลอย 
[6] “The Cock and the Jewel”, Wikipedia 

[7] “Hyperinflation”, Wikipedia 
[8] “Hungarian pengő/Hyperinflation”, Wikipedia 

[9] “1997 Asian financial crisis”, Wikipedia 
[10] “Subprime mortgage crisis”, Wikipedia 
[11] “Financial crisis of 20072008, Wikipedia 
[12] “Coined เงินเปลี่ยนโลก”, คาบีร์ เซห์กัลป์ (พ.ศ. 2558), วนาลี เศรษฐกุล แปล, สำนักพิมพ์ โพสต์บุ๊กส์

[13] Finance: The History of Money (combined), OpenLearn from The Open University 
[14] “Coin”, Wikipedia 
[15] “Banknote”, Wikipedia 

[16] Money: Humanity’s Biggest Illusion, Aperture 
[17] How is Money Created? – Everything You Need to Know, 

ColdFusion 

[18] “ทำความรู้จักกับ CBDC และความคืบหน้าในประเทศไทย”, ธนาคารแห่งประเทศไทย (พ.ศ. 2563) 
[19] “ข่าว ธปท. ​ฉบับที่ 60/2564 เรื่องสกุลเงินดิจิทัลสำหรับประชาชนที่ออกโดย ธปท. (Retail CBDC): การศึกษาผลกระทบต่อภาคการเงินไทย เเละผลสำรวจความเห็นจากสาธารณชน”,ธนาคารแห่งประเทศไทย (พ.ศ. 2564

[20] “BOT Press Release No. 39/2022 Progress of Retail Central Bank Digital Currency (Retail CBDC) Development”, ธนาคารแห่งประเทศไทย (พ.ศ. 2565) 

อดีตวิศวกรโครงการ ระดับผู้จัดการ จบปริญญาตรีวิศวกรรมเครื่องกล จาก พระจอมเกล้าธนบุรี และ โท ด้าน Advanced Manufacturing Engineering จาก University of South Australia มีความสนใจในเรื่องประวัติศาสตร์ การเมือง และสวัสดิการสังคม

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า