
ผ่าประเด็นร้อน! อเมริกาจ่อเลิกสิทธิ ‘ทำแท้ง’ เมื่ออำนาจศาลถูกผูกกับฝ่ายการเมือง
ในปี ค.ศ. 1973 ศาลสูงสุดแห่งสหรัฐอเมริกา (SCOTUS ; Supreme Court of the United States) ได้วินิจฉัยคำฟ้องร้องของเจน โรว์ (Jane Roe ; ซึ่งเป็นนามแฝง โดยชื่อจริงของเธอคือ นอร์มา แมคคอร์วี ; Norma McCorvey) ต่ออัยการเขตเท็กซัสเหนือ เฮนรี เวด (Henry Wade) ว่าประมวลกฎหมายของรัฐเท็กซัสนั้นไม่เป็นไปตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญสหรัฐฯ จากการบัญญัติข้อจำกัดในการทำแท้งของรัฐเท็กซัสว่าจะทำได้ในกรณีที่เป็นภัยต่อชีวิตของมารดาเท่านั้น และการทำแท้งนอกเหนือจากนั้นถือเป็นความผิดทางอาญา [1]
คำตัดสินของศาลสูงสุดสหรัฐฯ ในครั้งนั้นยืนยันสิทธิในการทำแท้งของสตรีโดยปราศจากการแทรกแซงอย่างเกินพอดีของรัฐบาล ซึ่งถือเป็นหนึ่งในคำตัดสินที่สำคัญ (landmark decision) ของระบบยุติธรรมของสหรัฐฯ และเป็นการสร้างบรรทัดฐานให้กับหลายประเทศ
อย่างไรก็ตามเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคมที่ผ่านมานี้ สำนักข่าว Politico ได้เผยแพร่เอกสารร่างคำวินิจฉัยศาลสูงสุดของสหรัฐฯล่าสุดที่มีเนื้อหาในการกลับ (overturn) คำวินิจฉัยเดิม [2] ซึ่งส่งผลให้สิทธิการทำแท้งที่ศาลสูงสุดเคยยืนยันว่าได้รับการปกป้องตามรัฐธรรมนูญของสหรัฐฯนั้นอาจจะถูกยกเลิกไป และทำให้แต่ละรัฐกลับมามีเสรีภาพในตั้งบัญญัติข้อกฎหมายและตั้งข้อหาเกี่ยวกับการทำแท้งได้อย่างอิสระโดยไม่ถือว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญ
ซึ่งเอกสารร่างคำวินิจฉัยที่หลุดออกมานี้นั้นก็ถูกยืนยันโดยผู้พิพากษาสูงสุดจอห์น โรเบิร์ตส์ (Chief Justice John Roberts) ว่าเป็นของจริง และแม้ว่าเขาจะกล่าวเตือนว่าร่างคำวินิจฉัยนี้นั้นไม่ได้สะท้อนความเห็นสุดท้ายของศาลสูงสุด แต่แนวโน้มที่ผลลัพธ์จะออกมาเป็นการกลับคำวินิจฉัยเดิมนั้นก็ชัดเจนมาก่อนหน้านี้แล้ว และคำวินิจฉัยสุดท้ายก็ถูกคาดเดาว่าน่าจะมีการตัดสินในช่วงปลายเดือนมิถุนายนที่จะถึงนี้ [3]
สำหรับคนที่เชื่อในกรอบความคิดแบบเสรีนิยม มนุษย์นิยม โลกวิสัย ฯลฯ ซึ่งคือแนวคิดอันเป็นโลกทัศน์หลักของสังคมตะวันตก ที่มีคำอธิบายและความเชื่อเกี่ยวกับธรรมชาติมนุษย์ และประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติผ่านหลักการการพัฒนาเป็นเส้นตรง (linear/progressive development) นั่นคือว่ามนุษย์จะพัฒนาความคิด ความเชื่อ สังคม การเมือง ไปสู่สิ่งที่ดีกว่าทดแทนสิ่งเก่าซึ่งไม่ดี และไม่เหมาะสมไปสู่สิ่งที่เหมาะสม [4]
ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นจากการที่สหรัฐฯ ซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศที่เรียกได้ว่าเป็นผู้นำของแนวคิดเสรีนิยมประชาธิปไตย กลับมีการ ‘พัฒนาถอยหลัง’ คือมีการกลับคำวินิจฉัยที่ให้และปกป้องสิทธิ กลับไปสู่การลิดรอนและยกเลิกสิทธิได้นั้น เป็นการพิสูจน์ให้เห็นว่าหลักการหรือความเชื่อเกี่ยวกับการพัฒนาเป็นเส้นตรงทางเดียวอย่างไม่หันกลับนั้นก็ดูเหมือนจะเป็นเพียงอย่างหลังเท่านั้น คือเป็นเพียงความเชื่อ
การพัฒนาไปข้างหน้านั้นไม่ใช่สิ่งที่มีการยืนยันว่าถูกต้องตลอดหรือจะเป็นเช่นนั้นเสมอ ด้วยเหตุปัจจัยหลากหลายอย่างในสังคมมนุษย์อาจสามารถดำเนินไปสู่การ ‘หันกลับ’ ไปสู่คุณค่าและกรอบความคิดเดิมได้เทียบเท่ากับการไปสู่งสิ่งที่มีขึ้นมาใหม่
กล่าวอีกอย่างหนึ่งก็คือ ไม่มีการการันตีความมนุษย์นั้นจะมองและเดินไปข้างหน้าอย่างเสมอ ๆ แต่การมองไปข้างหลังหรือเดินไปข้างหลังนั้นก็อาจจะเกิดขึ้นในสังคมมนุษย์ได้
แต่ไม่เพียงเท่านั้น การจะกล่าวว่าเหตุการณ์ในครั้งนี้คือการที่ “มนุษย์” หรือในที่นี้คือประชาชนอเมริกันในสังคมอเมริกานั้น เห็นพ้องต้องกันในการ “หันกลับ” ไปสู่การยกเลิกสิทธิในการทำแท้งทั้งหมด ก็อาจจะเป็นการสรุปความที่ไม่ได้ตรงกับความเป็นจริงเท่าใดนัก
นั่นเพราะเหตุการณ์ครั้งนี้นั้นเกิดขึ้นจากโครงสร้างและแบบแผนทางการเมืองของประเทศอเมริกา โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับระบบกระบวนการยุติธรรมและการได้มาซึ่งศาลสูงสุดนั้นเองที่ทำให้เกิดการ ‘พัฒนาถอยหลัง’ จนนำไปสู่การยกเลิกสิทธิการทำแท้งไปได้
แต่สิ่งนี้กลับเป็นความเห็นที่ถูกเรียกร้องจากคนไทยกลุ่มหนึ่ง นั่นคือการเรียกร้องให้ศาลนั้น “ยึดโยงกับประชาชน” หรือบางครั้งถึงขนาดว่ามีความต้องการให้มีการ “เลือกตั้งผู้พิพากษา” [5] [6] [7]
คำถามที่ย้อนกลับไปถามผู้ที่มีความเห็นเช่นนี้นั้นก็คือ : ถ้าหากการที่ระบบศาลและกระบวนการยุติธรรมนั้นยึดโยงกับประชาชน แล้วทำให้เกิดผลลัพธ์เช่นที่เกิดขึ้นนี้ ซึ่งขัดต่อหลักการที่ควรจะเป็นในแนวคิดเสรีนิยมที่เชื่อถึงการพัฒนาไปสู่สิ่งที่ดีกว่า การยึดโยงนั้นเป็นสิ่งที่มีประโยชน์สุทธิ (net positive) หรือไม่?
เราคงต้องทำความเข้าใจเสียก่อนว่าการยึดโยงกับประชาชนของศาลสูงสุดของสหรัฐอเมริกานั้นเป็นอย่างไร
ก่อนอื่นเราอาจจะต้องทำความเข้าใจกันเสียก่อนว่าเมื่อมีการคำว่า “ประชาชน” ในกรอบความคิดของระบอบเสรีนิยมประชาธิปไตยนั้น มันไม่ได้เป็นการสื่อถึงประชาชนโดยตรง (ยกเว้นในบางกรณีเช่นการทำประชามติหรือการเลือกตั้ง)
แต่หมายถึงการที่นักการเมืองหรือ “ฝ่ายการเมือง” เข้ามาใช้อำนาจอธิปไตยของ “ประชาชน” แทน ดังนั้นประชาชนในที่นี้จึงหมายถึงฝ่ายการเมือง การยึดโยงกับประชาน จึงคือการยึดโยงหรือผูกกับฝ่ายการเมืองไปโดยปริยาย
และแม้ว่าองค์คณะผู้พิพากษาสูงสุดของสหรัฐอเมริกานั้นจะไม่ได้มาจากการเลือกตั้งโดยตรง ก็สามารถกล่าวได้ว่าศาลสูงสุดของสหรัฐฯนั้นมาจากหรือยึดโยงกับประชาชน ผ่านทางการเสนอชื่อโดยประธานาธิบดีและแต่งตั้งโดยวุฒิสภา ซึ่งทั้งสองฝ่ายหลัง (ประธานาธิบดีและวุฒิสภานั้นก็มาจาก/ยึดโยงกับประชาชน)
ในกรณีที่เกิดขึ้นในปัจจุบันมีต้นเหตุมาจากการเสนอชื่อผู้พิพากษาในวาระการดำรงตำแหน่งของโดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) ซึ่งในช่วงการดำรงตำแหน่งได้มีผู้พิพากษาสูงสุดเสียชีวิต 2 คนและอีกหนึ่งคนได้เกษียณอายุตนเองและลาออกจากตำแหน่ง จึงทำให้ทรัมป์มีโอกาสในการเสนอชื่อผู้พิพากษาถึง 3 คน
จากการที่ทรัมป์นั้นมาจากพรรครีพับลิกันและฐานเสียงของเขานั้นคือมวลชนฝ่ายอนุรักษนิยม ผู้พิพากษาที่เขาเสนอชื่อทั้ง 3 คนนั้นก็เป็นผู้พิพากษาที่มีความโอนเอียงตามความคิดทางสังคมการเมืองและนิติศาสตร์ฝ่ายอนุรักษนิยมไปด้วย ทำให้องค์คณะของศาลสูงสุด ซึ่งมีอยู่ 9 คน ซึ่งผู้พิพากษาในองค์คณะนั้นมีความเอนเอียงทางความคิดทางการเมืองและนิติศาสตร์อย่างเท่า ๆ กัน กลับกลายเป็นองค์คณะศาลสูงสุดที่มีความคิดเอนเอียงไปในฝ่ายอนุรักษนิยมมากกว่า
คือมีฝ่ายอนุรักษนิยม 6 จากเดิม 4 ต่อฝ่ายเสรีนิยมหัวก้าวหน้า ซึ่งมีอยู่ 4 ลดลงเหลือ 3 (ซึ่งก่อนหน้านั้นทั้งสองฝ่ายมีจำนวนเท่ากันเป็น 4-4 คือมีองค์คณะ 8 คน เพราะในสมัยโอบามา วุฒิสภานั้นมีฝ่ายรีพับลิกันคุมเสียงข้างมาก จึงไม่มีการแต่งตั้งผู้พิพากษาที่โอบามาเสนอชื่อ แต่มีการยื้อเวลาไปจนถึงวาระของทรัมป์ ทำให้มีองค์คณะ 9 คน แต่องค์คณะก็มีการเปลี่ยนความโน้มเอียงไปโดยปริยาย)
ตามกรอบความคิดแล้ว ผู้พิพากษาที่ทรัมป์เลือก ซึ่งเขาก็เป็นผู้ชนะการเลือกตั้งและถือเป็นผู้แทนประชาชน ก็จะต้องกล่าวว่าเป็นผู้พิพากษาที่ยึดโยงกับประชาชนอย่างชอบธรรม การที่องค์คณะของศาลสูงสุดในปัจจุบันนั้นเอนเอียงในทางความคิดไปฝ่ายใด ๆ ก็ตามนั้นก็จะต้องเป็นสิ่งที่คนในสังคมทั้งหมดยอมรับกันได้ เพราะศาลนั้นก็ยึดโยงกับประชาชนแล้ว แม้นั้นจะหมายถึงการเอาศาลไปผูกกับฝ่ายการเมืองก็ตาม
ข้อเท็จจริงเหล่านี้ชี้ให้เห็นว่าการที่มีศาลที่ยึดโยงกับประชาชนและผูกกับฝ่ายการเมืองนั้นก็อาจจะไม่ได้นำไปสู่การพัฒนาไปในทางถูกต้องและดีขึ้นได้ กลับกันการที่มีศาลที่ยึดโยงกับประชาชนอาจจะนำไปสู่สิ่งที่ไม่ได้นำไปสู่การคุ้มครองปกป้องสิทธิ และสวัสดิภาพของสังคมโดยรวมได้ แต่กลับเป็นสิ่งที่อาจตรงตามความต้องการของคนกลุ่มเดียว นั้นคือฝ่ายการเมืองฝ่ายเดียว
การเรียกร้องให้ฝ่ายตุลาการ ศาล และกระบวนการยุติธรรมนั้น “ยึดโยงกับประชาชน” ก็อาจจะเป็นเพียงวาทะกรรมทางการเมือง
ที่เมื่อพิจารณาอย่างรอบคอบแล้วนั้นก็อาจจะไม่ได้นำไปสู่ผลดีหรือประโยชน์สุทธิของประชาชนทั้งหมดในสังคมได้ เมื่อศาลเอนเอียงตามความต้องการของประชาชน ไม่ได้ตัดสินตรงตัวตามกฎหมาย สังคมจะมีความยุติธรรมได้อย่างไร
เพราะเมื่อนั้นมันอาจจะไม่สามารถเรียกการตัดสินของศาลได้ว่าเป็นการ “ยุติ” ด้วย “ธรรม” แล้ว แต่เป็นยุติด้วยสภาวการณ์แบบ “พวกมากลากไป” สังคมก็จะไม่ได้อยู่ด้วย “กฎหมาย” อีกต่อไป แต่จะกลายเป็นสังคมของ “กฎหมู่” แทน เช่นนี้หรือคือความยุติธรรมที่อันเป็นอุดมคติ? ความยุติธรรมเช่นนี้หรือจะยังประโยชน์สุขให้ประชาชนได้เท่าเทียมกันอย่างแท้จริง?
อ้างอิง :
[1] Roe v. Wade, 410 U.S. 113 (1973)
[2] Supreme Court has voted to overturn abortion rights, draft opinion shows
[3] A Supreme Court in Disarray After an Extraordinary Breach
[4] A Supreme Court in Disarray After an Extraordinary Breach
[5] “คืนความยุติธรรมให้ประชาชน” (9): ตามหลักการประชาธิปไตยศาลต้องยึดโยงกับประชาชน