
ปัญหาของการขาดแคลนพลังงาน ส่งผลกระทบกระทั่งพิธีกรรมทางศาสนาก็ไม่ยกเว้น
วิกฤตค่าครองชีพถือเป็นสิ่งที่อยู่ใกล้ตัวเราทุกคน แต่ความใกล้ตัวนี้ก็อาจทำให้เราโฟกัสไปมองเห็นสิ่งที่อยู่เฉพาะหน้าเราเท่านั้น โดยมองไม่เห็นถึงข้อเท็จจริงอื่นที่อยู่ไกลตัวออกไป ว่าในความเป็นจริง วิกฤตนี้เกิดขึ้นไม่ใช่เพียงกับประชาชนคนไทย แต่เกิดขึ้นกับผู้คนในหลายประเทศที่มีเงื่อนไขและสถานะที่คล้ายคลึงกับประเทศของเรา
โดยเงื่อนไขและสถานะดังกล่าวคือ ประเทศไทยนั้นไม่ใช่ผู้ผลิตและส่งออกพลังงานรายใหญ่ แต่ในขณะเดียวกันก็มีความต้องการใช้พลังงานมากกว่ากำลังที่ผลิตได้ จึงทำให้ประเทศเราต้องพึ่งพาการนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศ เพื่อให้เศรษฐกิจดำเนินไปได้อย่างราบรื่น
ความจำเป็นที่ต้องพึ่งพาพลังงานจากต่างประเทศนั้นทำให้เมื่อมีเหตุการณ์ใด ๆ ที่สร้างความผันผวนต่อราคาพลังงานแล้ว ก็จะทำให้ประเทศไทยได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์นั้นไปด้วย ซึ่งปัจจุบันผู้คนในสังคมก็ได้รู้สึกถึงผลกระทบเหล่านั้นมาเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้ว ในรูปของค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้นจากเดิม หลังจากเหตุการณ์ความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน
ในขณะเดียวกันประเทศที่อยู่ในเงื่อนไขและสถานะคล้ายกับไทย ก็เผชิญปัญหาเดียวกัน นั่นคือการพุ่งสูงขึ้นของค่าครองชีพ
โดยเฉพาะในประเทศแถบยุโรป ซึ่งมีปัญหาแทรกซ้อนอันเป็นผลมาจากการตัดสินใจทางยุทธศาสตร์การเมืองระหว่างประเทศ นั่นคือยุโรปต้องนำเข้าพลังงานจากรัสเซีย แต่กลับต้องร่วมกันคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อประเทศรัสเซีย นำไปสู่การตัดพลังงานจากรัสเซีย จนเกิดวิกฤตพลังงานและวิกฤตค่าครองชีพจนทุกวันนี้
กรณีหนึ่งที่ทำให้เห็นภาพถึงผลกระทบของวิกฤตพลังงานและค่าครองชีพที่เกิดขึ้นเป็นวงกว้างในยุโรปนั่นก็คือรายงานข่าวเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายในการ ‘ฌาปนกิจศพ’ ในประเทศฝรั่งเศส
หลายคนอาจจะแปลกใจที่ฝรั่งเศส ซึ่งเป็นประเทศที่มีวัฒนธรรมความเชื่อแบบคริสต์นั้นกลับมีพิธีเผาศพ เพราะเราจะมีภาพจำว่าชาวคริสต์นั้นจะใช้วิธีการฝังศพเป็นหลักมาแต่โบราณ แต่ในยุคหลังจนถึงปัจจุบัน การเผาศพก็เป็นหนึ่งในตัวเลือกหนึ่งที่ทำได้และถือเป็นตัวเลือกที่มีค่าใช้จ่ายถูกกว่าการฝังศพมาก แต่ด้วยวิกฤตพลังงาน ปัจจุบันค่าใช้จ่ายการฌาปนกิจศพนั้นก็พุ่งสูงขึ้นจนเรียกได้ว่าไม่ใช่ตัวเลือกที่คุ้มค่าอีกต่อไป ด้วยความที่ค่าพลังงานนั้นถือเป็น 15-25% ของค่าใช้จ่ายในการเผาศพ จากรายงานข่าว ค่าฌาปนกิจศพนั้นอาจพุ่งขึ้นเป็นเงินไทยกว่าหมื่นบาทต่อครั้ง (จาก 605-675 ยูโร ขึ้นไปเป็น 910 กว่ายูโร) [1]
จะเห็นได้ว่าผลกระทบจากวิกฤตค่าครองชีพนั้นแผ่ไปยังหลากหลายมิติในการดำเนินชีวิตของชาวยุโรป และแม้ในไทยก็ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์นี้ แต่ก็ยังไม่ลงไปสู่มิติที่สำคัญกับวิถีชีวิตของคนไทยส่วนใหญ่ นั่นคือการฌาปนกิจศพ เพราะประเทศไทยมีนโยบายและกลไกรัฐที่ตั้งขึ้นเพื่อป้องกันไม่ให้ประเทศได้รับผลกระทบอย่างหนัก จึงทำให้คนไทยพอจะมีพื้นที่หายใจ ในช่วงวิกฤตที่เกิดขึ้นทั่วโลก
#TheStructureArticle
#ค่าครองชีพ #พลังงาน #งานศพ #PTT
‘วิกฤตอาหาร’ และ ‘วิกฤตพลังงาน’ สุดปลายสายปฏิกิริยาลูกโซ่ อันเนื่องมาจาก ‘สงครามรัสเซีย–ยูเครน’
ศิราวุธ ภุมมะกสิกร
อดีตวิศวกรโครงการ ระดับผู้จัดการ จบปริญญาตรีวิศวกรรมเครื่องกล จาก พระจอมเกล้าธนบุรี และ โท ด้าน Advanced Manufacturing Engineering จาก University of South Australia มีความสนใจในเรื่องประวัติศาสตร์ การเมือง และสวัสดิการสังคม