นโยบายของอินโดนีเซีย อาจทำนักลงทุนหนีไปเวียดนาม นักเศรษฐศาสตร์เตือนนโยบายป้องกันการค้าภายในประเทศ อาจทำให้นักลงทุนหนีไปยังประเทศอื่นที่จูงใจกว่า
นักเศรษฐศาสตร์เตือนว่า กฎการใช้ชิ้นส่วนและวัตถุดิบในประเทศ (Local Content Requirement: LCR) ของรัฐบาลอินโดนีเซีย ซึ่งกำหนดให้สมาร์ทโฟนที่จำหน่ายในประเทศต้องประกอบด้วยชิ้นส่วนที่ผลิตในประเทศไม่น้อยกว่า 40% นั้นไม่เพียงพอที่จะสร้างผลกำไรในระยะยาวและอาจส่งผลเสียได้
เมื่อวันที่ 3 ธ.ค. รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมของอินโดนีเซีย กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า รัฐบาลมีแผนปรับเพิ่มสัดส่วนการใช้ชิ้นส่วนในประเทศสำหรับผู้ผลิตสมาร์ทโฟน
แผนดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากที่รัฐบาลปฏิเสธข้อเสนอเพิ่มเงินลงทุนในอินโดนีเซียอีก 100 ล้านดอลลาร์ (3.41 พันล้านบาท) ของ Apple ยักษ์ใหญ่เทคโนโลยีสหรัฐฯ แลกกับให้ขาย iPhone 16 แต่กลับเรียกร้องให้ Apple ลงทุน 1,000 ล้านดอลลาร์ (3.41 หมื่นล้านบาท) เพื่อสร้างโรงงานผลิตชิ้นส่วนสมาร์ตโฟนในประเทศแทน
LCR ซึ่งใช้กับอุตสาหกรรมต่างๆ ตั้งแต่แผงโซลาร์เซลล์ ไปจนถึงยานยนต์ไฟฟ้า มีเป้าหมายเพื่อปกป้องอุตสาหกรรมในท้องถิ่นและสร้างห่วงโซ่อุปทานที่มีมูลค่าเพิ่มในอินโดนีเซีย แผนการปรับเพิ่มสัดส่วนการใช้ชิ้นส่วนในประเทศ เกิดขึ้นในช่วงที่อินโดนีเซียกำลังแข่งขันกับประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น เวียดนาม เพื่อดึงดูดการลงทุนและห่วงโซ่อุปทานที่เปลี่ยนเส้นทางไปจากประเทศจีน
อย่างไรก็ตาม นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่ที่ให้สัมภาษณ์กับ CNBC กล่าวว่า พวกเขาไม่เชื่อว่า LCR จะดึงดูดบริษัทอย่าง Apple ได้ และจะส่งผลตรงกันข้ามแทน
“LCR ไม่ประสบความสำเร็จในการดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) มายังอินโดนีเซีย ในทางตรงกันข้าม LCR ยังทำให้บริษัทต่างๆ เช่น Foxconn และ Tesla ถอนแผนการลงทุนในประอินโดนีเซียในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา Arianto Patunru สมาชิกคณะกรรมการของศูนย์การศึกษานโยบายอินโดนีเซีย กล่าว
Yessi Vadila ผู้เชี่ยวชาญด้านการค้าจากสถาบันวิจัยเศรษฐกิจอาเซียนและเอเชียตะวันออก กล่าวว่า LCR ของอินโดนีเซียนั้นมีความเชื่อมโยงกับต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ความสามารถในการแข่งขันด้านการส่งออกที่ลดลง และการสูญเสียผลิตภาพ ในขณะที่ส่งผลกระทบเพียงเล็กน้อยต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจและการจ้างงาน
นอกเหนือจาก LCR แล้ว อินโดนีเซียยังได้นำนโยบายคุ้มครองทางการค้าอื่นๆ มาใช้ รวมถึงภาษีศุลกากร เพื่อผลักดันการลงทุนในประเทศ เมื่อปีที่แล้ว กฎหมายฉบับใหม่ของอินโดนีเซียสั่งแบน TikTok Shop จนกว่าบริษัทจะลงทุนผ่านพันธมิตรในท้องถิ่น
Krisna Gupta นักเศรษฐศาสตร์กล่าวว่า กลยุทธ์ดังกล่าวอาจประสบความสำเร็จได้บ้างในระยะสั้นถึงระยะกลาง แต่ในระยะยาวจะประสบปัญหา เว้นแต่รัฐบาลจะสามารถเพิ่มผลผลิตและสภาพแวดล้อมทางธุรกิจโดยรวมได้ พร้อมตั้งข้อสังเกตว่าบริษัทต่างๆ พิจารณาหลายปัจจัย รวมถึงการบังคับใช้กฎหมาย เสถียรภาพของนโยบายการค้า และตลาดแรงงาน
นักเศรษฐศาสตร์ที่ให้สัมภาษณ์กับ CNBC ชี้ว่า เวียดนามเป็นประเทศที่สามารถดึงดูดการลงทุนด้านเทคโนโลยีได้มากกว่า แม้ว่าตลาดผู้บริโภคในประเทศจะไม่ใหญ่เท่าอินโดนีเซียก็ตาม แทนที่จะมีข้อกำหนดสัดส่วนการใช้ชิ้นส่วนและวัตถุดิบในประเทศที่เข้มงวด เวียดนามกลับสามารถใช้ประโยชน์จากแรงจูงใจในการลงทุน นโยบายที่สอดคล้องกัน และโครงสร้างพื้นฐานที่แข็งแกร่งเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาค
เวียดนามยังสามารถจัดทำข้อตกลงการค้าเสรีกับยุโรปได้ ในขณะที่อินโดนีเซียยังคงพยายามบรรลุข้อตกลง นอกจากนี้ เวียดนามยังเป็นหนึ่งในผู้ได้รับประโยชน์หลักจากการเปลี่ยนห่วงโซ่อุปทานจากจีนท่ามกลางความตึงเครียดทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่ทวีความรุนแรงขึ้น
แม้ว่าการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศของอินโดนีเซียจะเติบโตขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แต่การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ของอินโดนีเซียเมื่อเทียบเป็นสัดส่วนของ GDP กลับลดลงในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา ตามข้อมูลของธนาคารโลก
(1 ดอลลาร์ = 34.18 บาท)