Articlesนายกผิดจริง หรือผิดเพราะเราอคติ

นายกผิดจริง หรือผิดเพราะเราอคติ

เมื่อต้นปีที่ผ่านมาหลายคนคงจะยังจำได้ดีเกี่ยวกับข่าวการเสียชีวิตอย่างน่าสลดของ พญ.วราลัคน์ สุภวัตรจริยากุล หรือ หมอกระต่าย จากการขับรถจักรยานยนต์ของ ส.ต.ต.นรวิชญ์ บัวดก โดยไม่หยุดให้ทางคนข้าม แม้ว่าจะล่าสุดจะมีข่าวออกมาแล้วว่าสำนักงานอัยการ ฯ ได้ตั้งข้อหา 9 ข้อ จนทำให้ส.ต.ต.นรวิชญ์สารภาพไม่สู้คดี [1] แต่เหตุการณ์นี้ก็ทำให้เกิดการตั้งคำถามและการออกมาแสดงท่าที่ของหลายฝ่ายในสังคม ไม่ว่าจะเป็นการออกมาเรียกร้องให้ผู้ขับขี่ใช้ถนนเคารพกฎจราจร และรณรงค์มีวินัยในการให้ทางกับคนเดินเท้าและผู้ใช้ทางข้ามถนน

หรือการที่มีผู้คนจำนวนหนึ่งตั้งข้อสังเกตถึงการที่ผู้กระทำผิดนั้นเป็นตำรวจ ซึ่งคือเจ้าหน้าที่รัฐที่มีหน้าที่ควบคุมบังคับใช้กฎหมาย แม้จะไม่ได้อยู่ในระหว่างการปฏิบัติราชการก็ตามแต่ก็ควรจะมีพฤติกรรมการขับขี่ใช้ถนนที่ดีกว่านี้ แต่หนึ่งในปฏิกิริยาของคนในสังคมกลุ่มหนึ่งในประเด็นนี้ที่ชวนให้ฉุกคิดถึงมันคือปฏิกิริยาที่มีตรรกะเหตุผลหรือไม่นั้นก็คือกลุ่มคนที่ใช้ข้อเท็จจริงที่ว่าผู้กระทำผิดนั้นเป็นตำรวจ แล้วเชื่อมโยงไปสู่การโทษรัฐ โทษรัฐบาล หรือกระทั่งโทษนายกรัฐมนตรี

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือคำพูดของนักวิชาการและอินฟลูเอนเซอร์ท่านหนึ่งที่กล่าวไว้ในเฟสบุคของเขาว่า “คนที่ขับมอเตอร์ไซค์ชนคุณหมอบนทางม้าลายจนคุณหมอเสียชีวิต ไม่ใช่คนทั่วไปแต่คือเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งเป็นผู้บังคับใช้กฎหมาย ท่านนายกฯ จึงจะพูดว่าปัญหาเกิดจาก “คน” ไม่มีวินัยจราจรแบบลอย ๆ แบบนี้ไม่ได้” และจึงจับโยงไปถึงว่า “ท่านนายกฯ ไม่ทราบหรือครับว่าท่านเป็นผู้บังคับบัญชาตำรวจ! ท่านนายกฯ จึงกล่าวโทษคนว่าไม่มีวินัยโดยตัวเองไม่ผิด ตัวเองไม่เกี่ยวแบบนี้ไม่ได้ครับ” [2]
การใช้ตรรกะเชื่อมโยงในลักษณะนี้ เมื่ออ่านอย่างผิวเผินแล้วอาจจะเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายเห็นด้วยไปตามนั้น แต่เมื่อเราทำความเข้าใจถึงข้อเท็จจริงก็อาจจะทำให้เราฉุกคิดขึ้นได้หลายอย่าง

อย่างแรกอาจจะเป็นการที่ผู้โพสต์ข้อความนี้นั้นคิดว่าตำรวจนั้นอยู่ในราชการตลอดเวลา และการกระทำของตำรวจทุกอย่างนั้นเป็นสิ่งที่ต้องได้รับการบังคับบัญชาโดยตรงตลอด ซึ่งในความเป็นจริงแล้วไม่ใช่ เพราะ “ตำรวจ” เองก็เป็น “ประชาชน” ตำรวจเมื่อไม่ได้อยู่ในการปฏิบัติหน้าที่ในราชการแล้ว เขาก็ถือว่าเป็นประชาชนคนหนึ่งเท่านั้น และโดยเฉพาะในกรณีของ ส.ต.ต.นรวิชญ์ บัวดก ผู้กระทำความผิดในกรณีนี้ ก็ไม่ได้อยู่ในราชการเมื่อก่อเหตุ การขับรถเร็วและไม่ให้สิทธิกับผู้เดินเท้าข้ามทางม้าลายนั้น ก็ไม่ใช่สิ่งที่ถูกบังคับบัญชาสั่งการให้ทำจากใครทั้งสิ้น การที่ใช้ตรรกะเชื่อมโยงในลักษณะนี้อาจจะสรุปได้หรือไม่ว่าเป็นการเชื่อมโยงอย่างมีอคติและต้องการพุ่งเป้าทางการเมือง ?

อย่างที่สอง เมื่อเราคิดตามข้อสังเกตแรกแล้ว นั่นคือว่านายตำรวจผู้นั้นก็ถือเป็นประชาชนคนหนึ่ง เมื่อนั่นเราจะเห็นได้ว่า การกะทำของเขานั้นก็ตกอยู่ในฝั่งของการที่ประชาชนกระทำผิดและไม่เคารพกฏหมาย ไม่ใช่การที่เจ้าหน้าที่รัฐกระทำผิดหรือไม่เคารพกฏหมายเสียเอง แม้ว่ากรณีการกระทำผิดและไม่เคารพกฏหมายของเจ้าหน้าที่รัฐนั้นจะเป็นเรื่องที่สำคัญเช่นกัน แต่ก็ไม่ควรถูกเข้าใจว่าสำคัญกว่า เพราะหากเราสามารถทำให้เจ้าหน้าที่รัฐเคารพกฎหมายโดยสมบูรณ์ แต่หากมีประชาชนที่ไม่เคารพกฎหมายอยู่ตลอดด้วยแล้ว สังคมก็ไม่ได้มีความดีงามหรือสงบสุขได้เช่นเดียวกัน การเคารพกฏหมายของทั้งประชาชนและรัฐจึงเป็นสิ่งที่จะทำให้บ้านเมืองและสังคมเป็นเช่นนั้น

ซึ่งในประเด็นนี้เองที่เราควรจะให้ความสำคัญควบคู่กันไปด้วย จากการที่นักวิชาการและผู้มีอิทธิพลทางสังคมการเมืองหลายกลุ่มออกมาพูดถึงการที่เจ้าหน้าที่รัฐหรือนักการเมืองจะต้องเคารพกฏหมาย ต้องมีหลักนิติรัฐ-นิติธรรม แต่กลับเลือกที่จะปิดตาข้างเดียวต่อข้อเท็จจริงที่ว่าในสังคมเราก็มีประชาชนที่กระทำความผิด ไม่เคารพกฏหมายอยู่มากมาย เกิดเป็นหตุการณ์ต่าง ๆ เป็นคดีความ และถึงขั้นเป็นโศกนาฏกรรมที่มีรายงานข่าวให้เห็นกันอยู่ตลอดเวลา และเรื่องนี้ก็อาจกล่าวถึงขนาดว่าเป็นข้อเท็จจริงที่ประชาชนทุกคนประสบกันอย่างเป็นประจักษ์ เรียกได้ว่าแทบจะทุกวันที่เราเห็นประชาชนคนไทยด้วยกันเองที่ไม่ปฏิบัติตามหรือไม่เคารพกฏหมายจนเป็นเรื่องปกติ

เรื่องทำนองเดียวกันนี้นั้นสะท้อนออกมาอย่างน่าสนใจอยู่ในรายงานของ “โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน” หรือ iLaw ที่ได้มีการเปิดเผยสถิติเกี่ยวกับการกระทำผิดของประชาชนและนักการเมืองในกรณีสมมติต่าง ๆ (แม้กลุ่มตัวอย่างจะเล็กน้อยมากก็ตาม) ว่ากรณีนั้น ๆ ควรจะเป็นความผิดที่ทำให้นักการเมืองถูกถอดออกจากตำแหน่งหรือไม่ เทียบกับกรณีเดียวกันนั้นว่าประชาชนผู้ให้ข้อมูลเคยทำในสิ่งเองนั้นหรือไม่

โดยในกรณีเหล่านั้นก็เช่น รับเบี้ยประชุมโดยไม่เข้าประชุม, เบิกค่าใช้จ่ายหรือค่าเดินทางเเกินจริง, จ่ายเงินแทนการเกณฑ์ทหาร, ใช้เส้นฝากเข้าทำงาน, หรือกระทั่งการจ่ายเงินให้ตำรวจแทนใบสั่ง [3] ซึ่งตัวเลขที่รายงานโดย iLaw นี้เองก็ชี้ให้เห็นว่าแม้ประชาชนจะมีความเห็นว่าผู้มีอำนาจหรือนักการเมืองควรจะได้รับโทษในเรื่องหนึ่ง ๆ ใด ๆ แต่ก็มีกรณีที่ประชาชนเองทำสิ่งเหล่านั้นเสียเอง ซึ่งก็มีผู้ให้ความเห็นในกรณีนี้เอาว่าอย่างชัดเจน “ตัวเองก็ทำมันเลยมีช่องโหว่สองมาตรฐานไปหมด ปฏิรูปอันดับแรกคือพวกประชาชนนี่แหละ”

การสร้าง ปฏิรูป ปฏิวัติ ให้เกิดสังคมที่ดีได้จริงจึงไม่ควรเริ่มด้วยการผลักไสหรือกล่าวโทษว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นฝ่ายผิด แต่คือการมองให้เห็นถึงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น โดยไม่เอาอคติมาบังตา ไม่เอาวาทะกรรมหรือคำใด ๆ มาเป็นคำวิเศษที่ปิดบังข้อเท็จจรงที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นคำต่าง ๆ ที่เราเคยได้ยินกันเช่น “รู้เท่าไม่ถึงการ”, หรือ “เป็นเยาวชน”, หรือที่ถูกใช้ในปัจจุบันอย่างแพร่หลายคือ “เป็นฝ่ายประชาชน” ไม่ควรจะมีการโทษกันไปกันมาว่าใครหรือฝ่ายไหนผิด แต่ควรจะเริ่มด้วยการเรียกร้องหรือรณรงค์ให้ถูกจุด เพราะหากทั้งภาคประชานชนและภาครัฐร่วมมือกันร่วมใจกันในการเคารพกฎหมายทั้งสองฝ่าย เราก็อาจจะเห็นสังคมที่ดีขึ้นมาได้

การเสียชีวิตของหมอกระต่ายนั้นควรจะจุดประกายการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการขับขี่อย่างปลอดภัยและมีวินัยจราจร และเสนอการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ อย่างเช่นที่ฝ่ายรัฐ นั่นคือนายกรัฐมนตรี ได้มีการนำเสนอ เช่น “ติดกล้องรถยนต์ใหม่ทุกคันเพื่อคอยบันทึกเหตุการณ์และใช้เป็นหลักฐานหากเกิดอุบัติเหตุขึ้น…ให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการแจ้งเบาะแสผู้กระทำความผิดกฎหมายจราจร โดยให้พิจารณาจัดสรรเงินรางวัลตอบแทน” และรวมทั้งการที่รัฐบาลรับข้อเสนอให้วันเกิดเหตุ ซึ่งคือวันที่ 21 มกราคม ของทุกปีเป็น “วันถนนปลอดภัยแห่งชาติ” [5] ในขณะที่การทำกายกรรมทางตรรกะเชื่อมโยงเพื่อ “โหน” ความตายของหมอกระต่ายโดยคนกลุ่มหนึ่ง [2] จึงอาจเรียกได้ว่าเป็นการกล่าวโทษเพื่อหวังผลทางการเมืองที่ไม่ได้มีข้อเสนอที่มีประโยชน์และช่วยพัฒนาสังคมใด ๆ เลยแม้แต่น้อย

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า