ถึงเวลาที่คนไทย จะตื่นตัว ไม่ยินยอมต่อพฤติกรรมการดูหมิ่นเหยียดหยาม พร้อมทั้งผลักดันกฎหมายว่าด้วยการต่อต้านการดูหมิ่นเหยียดหยามได้แล้วหรือยัง
ท่ามกลางกระแสการแบนลาซาด้า จากการใช้เนื้อหาที่ทำให้คนดูหลายคนรู้สึกว่า “ดูหมิ่นเหยียดหยามผู้ป่วย” โดยผู้ป่วยคนดังกล่าว ทำให้หลายคนเข้าใจว่าเป็น “เจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดิน” ซึ่งทำให้คนไทยรู้สึกว่า “รับไม่ได้” และยื่นถอดถอนบัญชีของตนเองออก ตั้งแต่ผู้ซื้อ ผู้บริโภค ลงมาจนถึงตัวผู้ขายสินค้าเอง
อย่างไรก็ตาม มีคนจำนวนหนึ่ง ให้ความเห็นว่า ทีมผู้บริหารคงมีการพิจารณาแล้วว่า เนื้อหาลักษณะนี้ น่าจะถูกใจผู้บริโภคจำนวนหนึ่ง ซึ่งน่าจะมากพอที่จะทำให้เกิดผลลัพธ์ทางการตลาด
จึงตัดสินใจอนุมัติโฆษณาชุดนี้ออกมา
และโชคร้าย ที่ผลลัพธ์กลับไม่เป็นไปดั่งหวังนั่นเอง
—-
แต่เป็นข้อเท็จจริงอย่างหนึ่งที่สังคมไทย “จะต้อง” ยอมรับ อย่างกลืนไม่เข้า คายไม่ออก ว่า “วัฒนธรรมการเหยียดหยามดูหมิ่น” คือเงามืดที่แฝงตัวอยู่ในสังคมไทยมาอย่างช้านาน
ไม่ว่าจะผ่านภาพยนตร์ไทยในหลาย ๆ เรื่องที่มีฉากตลก ที่มีเนื้อหาดูหมิ่นเหยียดหยามคนจน คนหน้าตาไม่ดี คนอ้วน คนผิวคล้ำ คนอีสาน และคนใช้
และคนไทยเราก็รู้สึกตลกไปกับหนัง โดยไม่ได้รู้สึกว่ามันคือพฤติกรรมการดูหมิ่นเหยียดหยาม ที่ไม่สมควรจะได้รับการยอมรับ
แต่เราก็ซึมซับมันไปโดยที่แม้แต่เราก็ไม่รู้ตัว
จากรายงานของกรมสุขภาพจิต และ Amnesty International Thailand กล่าวสอดคล้องกันว่า “สังคมไทยนั้นเคยชินกับพฤติกรรมการเหยียดหยาม” [1] [2]
นี่คือความเคยชิน ที่มันไม่ควรจะมี แต่เราก็มี มันแฝงตัวอยู่รอบ ๆ สังคมไทยของเรานั่นเอง
—-
ดราม่าครั้งนี้ บังเกิดเพราะคนในโฆษณา ทำให้หลายคนรู้สึกว่าคลับคล้ายกับบุคคลอันเป็นที่รักของคนไทยจำนวนหนึ่ง ซึ่งมีจำนวนมากเพียงพอที่จะทำให้เกิดแรงสั่นสะเทือนไปทั่วประเทศ
แต่นี่ก็ไม่ใช่ครั้งแรกที่เคยมีเหตุการณ์เช่นนี้
พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร หรือในหลวงรัชกาลที่ 9 ก็มักจะถูกเหยียดหยามโดยฝ่ายที่ไม่ชอบสถาบัน เพียงเพราะพระเนตรของพระองค์บอดจากอุบัติเหตุทางรถยนต์
ซึ่งในมุมนี้นั้น ไม่มีใครพึงพอใจจากการทุพพลภาพสูญเสียอวัยวะ จากการประสบอุบัติเหตุอย่างแน่นอน
และในคนเหล่านั้น คงไม่มีใครยินดีที่มีการนำลักษณะที่พิการคล้ายกับตนเองมาล้อเลียน ดูหมิ่นเหยียดหยาม
ไม่ว่าคน ๆ นั้นจะเป็นพระมหากษัตริย์ หรือขอทานก็ตาม
น่าเสียดาย
คนเหยียดหยามเองก็ไม่ได้คิดว่า การกระทำของเขานั้น คือการเหยียดหยามคนตาบอดคนอื่น ๆ ไปด้วย
เป็นการวิพากษ์โดยอารมณ์ ที่ขาดการใคร่ครวญ
และละเลยข้อเท็จจริงที่ว่า “คนตาบอด ไม่ใช่คนไร้ความสามารถ อยู่ที่ว่าสังคมจะเปิดโอกาสให้เขาได้แสดงออก หรือเหยียบย่ำให้เขาจมลงไป ก็เท่านั้นเอง”
—-
ผลการสำรวจของกรมสุขภาพจิต พบว่าการใช้ความรุนแรง การข่มเหงรังแกกันหรือการบูลลี่ในประเทศไทยติดอันดับ 2 ของโลกรองจากประเทศญี่ปุ่น [1]
นี่นับว่าเป็นเรื่องที่น่าตระหนก เพราะตามที่ปรากฏในการ์ตูนมังงะญี่ปุ่น และมันหวาของเกาหลีหลายเรื่อง ที่เล่าถึงการรังแกกันในโรงเรียน จนเป็นเหตุให้มีนักเรียนบางคนฆ่าตัวตาย แต่ประเทศไทยที่ไม่มีการ์ตูนหรือสื่อลักษณะดังกล่าวเลยนั้น
กลับมีตัวเลขการกลั่นแกล้งในโรงเรียนที่น่าตระหนกไม่แพ้สองชาติที่กล่าวมาเลย
แท้จริงแล้ว สังคมไทยของเรากำลังวิกฤติในระดับไหนกัน ?
—-
ในประเทศไทยของเรา ระดับความตระหนักรู้ของสังคม ถึงปัญหาการกลั่นแกล้งรังแกนั้น ยังจำกัดอยู่ที่ในสถานศึกษา ในโรงเรียนเพียงเท่านั้น
ในขณะที่ในหลายประเทศนั้น ความตระหนักรู้ถึงปัญหาได้ขยายรวมไปจนถึงการกลั่นแกล้งในที่ทำงาน สถานประกอบการ และในสังคม
จากรายงานของ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักนายกรัฐมนตรี เผยแพร่เมื่อ พ.ศ. 2564 เรื่อง “มาตรการในการต่อต้านและการคุ้มครองบุคคลจากการถูกกลั่นแกล้งในสังคม” มีการกล่าวถึงสถานการณ์การรังแกกลั่นแกล้งในสังคมอเมริกา ยุโรป สวีเดน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และฟิลิปปินส์ พร้อมทั้งมาตรการแก้ไขในทางกฎหมายของแต่ละประเทศ [4]
ในสหภาพยุโรป สวีเดนถือเป็นประเทศที่มีความโดดเด่นในการจัดการกับปัญหาการดูหมิ่นเหยียดหยาม และการกลั่นแกล้ง ซึ่งถือว่าเป็นการ “ละเมิดสิทธิมนุษยชน” [4]
โดยสวีเดน มีการออกกฎหมายเฉพาะ เพื่อรับมือกับการกลั่นแกล้ง ดูหมิ่นเหยียดหยามโดยตรง อาทิเช่น the Non-Contact Orders Act (กฎหมายว่าด้วยการไม่สัมผัส) , Discrimination Act (กฎหมายว่าด้วยการเลือกปฏิบัติ) , Victimization at Work (กฎหมายว่าด้วยการทำให้เป็นเหยื่อในสถานที่ทำงาน) ในสวีเดน [4]
ซึ่งนี่ทำให้กระบวนการของสวีเดน ไม่จำเป็นต้องเสียเวลาในการตีความทางกฎหมาย เนื่องด้วยตัวกฎหมาย มีความชัดเจนในตัวเอง ทำให้สะดวกต่อการทำการศึกษาและทำความเข้าใจของบุคคลทั่วไปนั่นเอง
—-
ในประเทศไทยนั้น
น่าเสียดายที่ ณ ปัจจุบัน กฎหมายไทย ทำได้เพียงการอาศัยการตีความตามประมวลกฎหมายอาญา และประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งยังมีความคลุมเครือ และยังไม่เพียงพอ
ในประมวลกฎหมายอาญา เพียงครอบคลุมถึง “การหมิ่นประมาท” “การให้ข้อมูลอันเป็นเท็จ” “การกลั่นแกล้งข่มเหงรังแก คุกคาม หรือกระทำให้ได้รับความอับอาย” “ผิดฐานทำร้ายร่างกาย” [4]
แต่ปัญหาของกฎหมายเหล่านี้คือ ผู้เสียหาย (โจทก์ ผู้ฟ้อง) จะต้องพยายามสรรหาหลักฐานมาพิสูจน์ให้ได้ด้วยว่า ผู้กระทำ (จำเลย) นั้น หมายถึงตนเองจริงจริง
และมักจะถูกยกฟ้อง เมื่อผู้กระทำ แสดงออกโดยคลุมเครือ เพื่อเล่นแง่ เลี่ยงบาลี หลบเลี่ยงกฎหมายนั่นเอง [5]
จุดอ่อนใหญ่ที่สุดของกฎหมายไทยในปัจจุบันคือ โจทก์จะต้องเป็นผู้เสียหายจากการกระทำของจำเลย ทางใดทางหนึ่ง และการกระทำของจำเลยจะต้องถูกพิสูจน์ชัดว่า เป็นการระบุถึงบุคคลใดบุคคลหนึ่ง [6] จะเจ็บแค้นแทนกันมิได้
(ยกเว้น กรณีการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ที่ผู้เสียหายไม่มีสิทธิฟ้อง และผู้ฟ้องไม่ใช่ผู้เสียหาย)
ซึ่งนี่ มิได้คุ้มครองในกรณีที่มีการล้อเลียนคุณลักษณะบางประการ ที่เกิดขึ้นโดยความ “โชคร้าย” บางประการ อาทิ ความเจ็บป่วยทางกาย, ความพิการ
หรือความแตกต่างโดยกำเนิดเช่น เชื้อชาติ, สีผิว, ลักษณะทางพันธุกรรม
หรือสถานะทางสังคม เช่นอาชีพ หรือสถานะทางการเงิน
การเล่นละคร มุกตลก ที่ล้อเลียนความพิการทางกายของบุคคลบางคน ผู้กระทำ อาจจะกระทำโดยมิได้หมายถึงบุคคลใด ๆ ในสังคมเลย
แต่สร้างความเจ็บช้ำน้ำใจให้แก่ผู้ที่มีสภาพคล้ายคลึงกัน ทำให้เกิดความรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจ
ในกรณีนี้ คนเหล่านี้ ทำได้เพียงร้องตะโกน แต่กฎหมายและกระบวนการยุติธรรมของไทย ไม่สามารถช่วยเหลืออะไรพวกเขาได้เลยแม้แต่นิดเดียว
—-
ในออสเตรเลีย เป็นอีกประเทศหนึ่งที่มีความชัดเจนในการบังคับใช้กฎหมายต่อต้านการดูหมิ่นเหยียดหยาม โดยออสเตรเลีย เริ่มพัฒนามาจาก กฎหมายการเลือกปฏิบัติโดยสีผิว 1975 (Racial Discrimination Act 1975)[7]
จนปัจจุบันนั้น กฎหมายต่อต้านการเหยียดหยามของออสเตรเลียนั้น ไม่เพียงครอบคลุมไปถึงการเหยียดหยามลักษณะทางกายภาพ (สีผิว, รูปร่างหน้าตา, ส่วนสูง, ขนาดร่างกาย), อายุ, ความเจ็บป่วย, ความพิการ, เชื้อชาติ, อาชีพ, ลักษณะทางเพศเท่านั้น [8]
แม้แต่ความเชื่อในลัทธิศาสนา และการเมือง ก็ได้รับความคุ้มครองจากกฎหมายของออสเตรเลียด้วยเช่นกัน [8]
ดังนั้น สิ่งหนึ่งที่นักเรียนไทยในออสเตรเลียหน้าใหม่ จะถูกเตือนโดยรุ่นพี่ก็คือ ห้ามล้อกันเล่นว่า “ไอ้ลาว” เพราะอาจถูกคนลาวฟ้องร้องในข้อหาดูหมิ่นเหยียดหยามเชื้อชาติของเขาได้นั่นเอง
—-
บางที กรณีลาซาด้า อาจจะเป็นการส่งสัญญาณเตือนต่อสังคมว่า
ได้เวลาที่สังคมไทยจะหันมาตระหนักรู้ และต่อต้านพฤติกรรมการดูหมิ่นเหยียดหยาม ในทุกรูปแบบ ทุกระดับชั้นของสังคมได้แล้ว
และควรจะมีการผลักดันให้มีการส่งเสริมความตระหนักรู้ในเรื่องนี้ ตลอดจนมีการผลักดันกฎหมายเพื่อคุ้มครองผู้ถูกดูหมิ่นเหยียดหยามโดยเฉพาะ
ก่อนที่สังคมไทยที่เรารัก จะล่มสลายไปจากความสนุกบนความทุกข์ของผู้อื่น เพียงเพราะความเพิกเฉยไม่ตระหนักรู้ของพวกเรา
โดย ศิราวุธ ภุมมะกสิกร
อ้างอิง :
[1] พฤติกรรม บูลลี่ เด็กไทยติดอันดับ 2 ของโลก
[2] Bully: การละเมิดสิทธิเพียงเพราะความเคยชิน
[3] Thailand has the world’s 2nd highest percentage of children being bullied at schools
[4] มาตรการในการต่อต้านและการคุ้มครองบุคคลจากการถูกกลั่นแกล้งในสังคม
[5] ข้อต่อสู้คดีหมิ่นประมาท และ พรบ.คอมพิวเตอร์
[6] บทความกฎหมายน่ารู้: ความผิดฐานหมิ่นประมาทและความผิดฐานดูหมิ่น
[7] A quick guide to Australian discrimination laws
“สงครามนอกแบบ” ของสหรัฐอเมริกา ยุทธวิธีปั่นหัวประเทศเป้าหมายเพื่อผลประโยชน์ของตนโดยไม่จำกัดวิธีการ ทั้งใช้ทหารหรือไม่ใช้ทหารก็ได้
ศิราวุธ ภุมมะกสิกร
อดีตวิศวกรโครงการ ระดับผู้จัดการ จบปริญญาตรีวิศวกรรมเครื่องกล จาก พระจอมเกล้าธนบุรี และ โท ด้าน Advanced Manufacturing Engineering จาก University of South Australia มีความสนใจในเรื่องประวัติศาสตร์ การเมือง และสวัสดิการสังคม