ต้องทำอย่างไร ? เมื่อเราบังเอิญพบร่าง “ผู้เสียชีวิต”
เมื่อหลายวันก่อนได้เกิดข่าวใหญ่โตขึ้นในประเทศไทยนั้นคือ กรณีพบร่างไร้ชีวิตของนักแสดงสาวชื่อดัง คุณ แตงโม นิดา ลอยอยู่หน้าโป๊ะ บริเวณ ณ จุดใกล้กับท่าเรือพิบูลสงคราม1 ซึ่งก็ตรงจุดเกิดเหจุที่พลัดตกจากเรือสปีดโบ็ทกลางแม่น้ำเจ้าพระยา จนจมน้ำเสียชีวิต ทำให้เกิดข่าวลือและทฤษฎีต่างๆนานา และข้อสงสัยมากมายที่มีต่อผู้ร่วมเดินทางไปในเรือลำนั้น เพราะคำให้การของผู้ร่วมเดินทางแต่ละคนพบว่ามีพิรุธ ข้อมูลไม่ตรงกับข้อเท็จจริงก็ดี รวมถึงพฤติกรรมที่น่าสงสัยไปตามตาละคน ทำให้ยิ่งน่าสงสัยว่าตกลงแล้วเกิดอะไรขึ้นกันแน่ในวันนั้น? แล้วใครคือผู้รับผิดชอบ? ซึ่งเมื่อไม่ทราบว่าใครพูดความจริง สิ่งที่จะทำให้รู้ความจริงนั้นก็คือต้องเอาถามกับศพเองหรือที่เรียกว่าการชันสูตรพลิกศพตามหลักนิติวิทยาศาสตร์ แต่ในความเป็นจริงหากต้องการหาผู้รับผิดชอบ แค่ชันสูตรนั้นไม่พอ มันต้องเป็นการชันสูตรพลิกศพตามหลักกฎหมายด้วย มิฉะนั้น ข้อมูลที่ได้มาอาจจะฟังไม่ขึ้นเมื่อไปถึงชั้นศาล
การชันสูตรพลิกศพนั้นถือว่ามีความสำคัญตามกฎหมาย โดยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา148 กำหนดไว้เลยว่าหากมีข้อเท็จจริงปรากฏหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าบุคคลใดตายโดยผิดธรรมชาติ เช่นการถูกผู้อื่นทำให้ตาย ตายโดยอุบัติเหตุหรือตายโดยยังมิปรากฏเหตุ ต้องจัดให้มีการชันสูตรพลิกศพ ซึ่งหากผู้เสียหายต้องการให้พนักงานอัยการดำเนินคดีให้ก็ต้องจัดให้มีการชันสูตรพลิกศพจนเสร็จก่อน มิฉะนั้นจะฟ้องไม่ได้ ตามมาตรา 129 และข้อควรระวังคือในการชันสูตรนั้นไม่ใช่ว่าใครที่มีความรู้เรื่องแพทย์หรือศพทำก็ได้ แต่ต้องให้พนักงานสอบสวนร่วมกับแพทย์ที่กำหนดไว้ตามกฎหมายใน มาตรา 150 เป็นผู้ทำด้วย
ในทางกฎหมายนั้นข้อมูลต่างๆที่ได้มาจากการชันสูตรพลิกศพ ถือว่าเป็นพยานผู้เชี่ยวชาญ (Expert) ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 243 ซึ่งทำให้จำต้องปฏิบัติให้ครบขั้นตอนทางกฎหมายมิฉะนั้นน้ำหนักในการรับฟังจะน้อยลง โดยขั้นตอนแรกนั้นก็มาจากการชันสูตรพลิกศพผู้ตายในสถานที่เกิดเหตุนั่นเอง
ในการชันสูตรพลิกศพสถานที่เกิดเหตุ ซึ่งหมายความรวมถึงสถานที่พบศพซึ่งตายโดยผิดธรรมชาติถือว่ามีความสำคัญมากที่สุดเพราะเป็นแหล่งรวมวัตถุพยานที่สำคัญต่างๆ ตามหลักการที่ว่าเมื่อสองวัตถุมากระทบกันมันจะต้องมีการแลกเปลี่ยนชิ้นส่วนเสมอ (Locard’s principle of interchange) การที่เก็บรักษาสถานที่เกิดเหตุอย่างดี จะทำให้สามารถเก็บและส่งต่อพยานหลักฐานต่างๆได้ถูกต้อง และได้ข้อมูลการชันสูตรพลิกศพที่ถูกต้องแม่นยำ (Chain of evidence) ข้อมูลที่ถูกต้องนั้นก็จะสามารถนำมาเชื่อมโยงและเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้น รวมทั้งสาเหตุการตายที่แท้จริงได้ถูกต้อง โดยมาตรา 150 วรรคแรก และมาตรา 150 ทวิ ก็ได้กำหนดให้การชันสูตรพลิกศพนั้นต้องทำทันที ณ ที่เกิดเหตุ และห้ามกระทำการใดๆกับศพหรือสภาพแวดล้อม ที่อาจทำให้ผลการชันสูตรพลิกศพหรือคดีเปลี่ยนไป เว้นแต่กรณีจำเป็น เช่น ศพอยู่กลางถนน แม่น้ำ
ดังนั้น หากมีกรณีแบบคุณแตงโมเกิดขึ้นแล้วผู้อ่านมีส่วนเกี่ยวข้องเป็นคนเจอศพ ก็ต้องจัดไม่ให้ผู้อื่น เช่น ไทยมุง หรือนักข่าวผู้หิวข่าว ผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องเข้าไปใกล้กับสถานที่เกิดเหตุ กันสถานที่ให้เรียบร้อย และรีบติดต่อตำรวจหรือเจ้าหน้าที่เพื่อให้ส่งคนมารีบชันสูตรพลิกศพโดยไว และไม่ขยับศพและทำอะไรกับสถานที่เกิดเหตุเป็นอันขาดนอกจากจำเป็นจริงๆ การละเลยเรื่องดังกล่าวอาจทำให้พยานหลักฐานบางอย่างถูกทำลายหรือความน่าเชื่อของพยานหลักฐานนั้นลดลง ซึ่งอาจมีผลทำให้ใช้อ้างอิงไม่ได้ในศาล นั่นเอง
นอกจากนี้ข้อควรระวังอีกอย่างคือ การฝ่าฝืนดังกล่าวก็มีโทษทางอาญาด้วย ตามมาตรา 150 ทวิ รวมทั้งประมวลกฎหมายอาญา มาตรา366/3 ซึ่งมีทั้งโทษจำคุก ปรับหลายหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับเลยทีเดียว
อ้างอิง :
[1] ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
[2] ประมวลกฎหมายอาญา
[3] คู่มือการดำเนินงานขึ้นสูตรพลิกศพ (ฉบับปรับปรุง พ.ศ.2561)