Articlesชัยชนะสมัย 2 ของมาครง เมื่อคนฝรั่งเศสเบื่อทั้งซ้าย-ขวา แล้วมุ่งสู่การเมืองสายกลาง (Centrist)

ชัยชนะสมัย 2 ของมาครง เมื่อคนฝรั่งเศสเบื่อทั้งซ้าย-ขวา แล้วมุ่งสู่การเมืองสายกลาง (Centrist)

การเลือกตั้งฝรั่งเศสปี 2022 จบลงด้วยชัยชนะของ เอ็มมานูเอล มาครง (Emmanuel Macron) จากพรรค La République En Marche! พรรคสายกลาง (Centrist) ที่เพิ่งตั้งเมื่อปี 2016 โดยนายมาครง ก่อนจะชนะการเลือกตั้งในปี 2017 จนปัจจุบัน ทำให้มาครงได้เป็นประธานาธิบดีฝรั่งเศสติดต่อกัน 2 สมัยในรอบ 20 ปี

ขณะที่ Brooking Institution ซึ่งเป็นสถาบันคลังสมอง (Think Tank) อันดับหนึ่งของสหรัฐอเมริกา ได้ออกมาวิเคราะห์มาครงในคลิปชื่อ ‘The impatient pragmatist: Emmanuel Macron’s foreign policy’ หรือ ‘นักปฏิบัตินิยมผู้ใจร้อน/ไม่รีรอ : นโยบายต่างประเทศของเอ็มมานูเอล มาครง’

สาเหตุที่ Brooking วิเคราะห์บุคลิกภาพของมาครงว่า ‘ใจร้อน/ไม่รีรอ’ เพราะมาครงมองว่าการเปลี่ยนแปลงของสังคมและการเมืองในโลกนั้นมีพลวัตและขับเคลื่อนอย่างรวดเร็ว ซึ่งบังคับให้ฝรั่งเศสต้องปรับตัวในการรับมือกับทุกสิ่งทุกอย่าง

อีกด้านคือ มาครงเป็น ‘นักปฏิบัตินิยม’ เพราะมาครงปฏิเสธข้อจำกัดที่เกิดจากค่านิยมหรือธรรมเนียมความเชื่อทางการเมืองเดิมๆ ไม่ว่าจะเป็นการแบ่งขั้ว การตั้งตัวเป็นศัตรูกันระหว่างมหาอำนาจโลก หรือแม้แต่ธรรมเนียมของฝ่ายซ้าย-ขวาที่จะปฏิเสธอีกฝ่ายอย่างสุดตัว แม้ว่าบางอย่างของฝ่ายตรงข้ามจะดีแค่ไหนก็ตาม แต่มาครงจะมองหาความเป็นไปได้และพร้อมจะเข้าไปเสี่ยง เพื่อให้ได้มาซึ่งผลลัพธ์ที่ต้องการ

ท่าทีแบบนักปฏิบัตินิยมของมาครงเห็นได้ชัด ตั้งแต่ได้รับการเลือกในปี 2017 ด้านหนึ่งมาครงดำเนินนโยบายเชื่อมความสัมพันธ์กับประเทศต่างๆ และชูความร่วมมือแบบพหุภาคี (Multilateral) อีกด้านก็แสดงความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับผู้นำชาตินิยมอย่างโดนัลล์ ทรัมป์ด้วย

ขณะที่มาครงชูความร่วมมือลักษณะพหุภาคี ผ่านองค์กรอย่าง สหภาพยุโรป (EU) อีกด้านท่าทีของมาครงก็เป็นที่ชัดเจนว่าฝรั่งเศสและยุโรป จะไม่เป็น ‘ลูกน้อง’ ของสหรัฐอเมริกา และฝรั่งเศสจะไม่ฟังคำสั่งของใคร หากเรื่องนั้นขัดต่อประโยชน์ของชาวฝรั่งเศส

ท่าทีดังกล่าวนี้ไม่ใช่มีแต่เพียงมาครงเท่านั้น แต่ยังรวมถึงนาง แองเกล่า แมร์เคิล อดีตผู้นำเยอรมันนี ซึ่งประสานเสียงกับมาครง ในการยืดหยัดนำยุโรปให้มีอิสรภาพในการตัดสินใจด้วยตัวเอง โดยไม่ฟังคำสั่งหรือข้อเรียกร้องของสหรัฐอเมริกา

ทั้งนี้เพราะแนวคิดของพวกปฏิบัตินิยมและพรรคสายกลางอย่างมาครง จะมองหาทุกช่องทางที่ทำให้เกิด ‘ความเป็นไปได้’ (Possibilities) เพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชน ด้วยการเปิดทุกประตูที่ทำได้ และลองทุกวิถีทางที่จะแก้ไขปัญหาต่างๆ

ด้วยท่าทีแบบ ‘ปฏิบัตินิยม’ (Pragmatism) ซึ่งต่างกับพวก ‘อุดมการณ์นิยม’ (Ideologist) แบบแบ่งค่ายและปฏิเสธอีกฝ่ายอย่างสิ้นเชิง จึงทำให้มาครงเลือกนโยบายที่ดีของฝ่ายซ้าย-ขวา มาใช้ได้อย่างไม่เขินอายอะไรทั้งสิ้น

ในขณะที่ฝ่ายซ้ายจะไม่ยอมรับท่าที วิธีคิด และนโยบายของฝ่ายขวา และฝ่ายขวาก็ไม่ยอมรับนโยบายของฝ่ายซ้าย ด้วยเหตุผลว่า ‘ขัดต่ออุดมการณ์’

แต่พวกปฏิบัตินิยมหรือพรรคสายกลาง จะมองว่าทำไมต้องเลือกเดินอย่างใดอย่างหนึ่ง ในเมื่อปัญหาทั้งหมด ล้วนแต่เป็นปัญหาของประชาชนในประเทศ แทบที่จะมานั่งแบ่งข้างทางอุดมการณ์ ทำไมไม่นำเอาข้อดีและวิธีการของแต่ละฝ่ายมาปรับใช้เพื่อแก้ปัญหาให้กับประชาชน

ขณะที่ฝ่ายขวากังวลเรื่องปัญหาผู้อพยพและค่าครองชีพ ส่วนฝ่ายซ้ายกังวลเรื่องการเพิ่มบริการสาธารณสุขและการส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศ มาครงก็รับนโยบายที่ดีของทั้งสองฝ่าย และมองว่าสิ่งเหล่านั้นสะท้อนปัญหาของคนฝรั่งเศสในแต่ละภาคส่วน

ทันทีที่การเลือกตั้งปี 2022 สิ้นสุด แม้พรรคฝ่ายขวาจัดของมารีน เลอ เปน จะฝ่ายพ่ายแพ้ แต่พรรคของเลอเปนกลับคะแนนเสียงสูงเป็นประวัติศาสตร์ที่ 12 ล้านเสียง ซึ่งสะท้อนความไม่พอใจปัญหาผู้อพยพและค่าครองชีพของคนฝรั่งเศสที่พุ่งสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

มาครงจึงออกมาให้สัมภาษณ์ว่า เขาเห็นความไม่พอใจในปัญหาดังกล่าวของคนฝรั่งเศสที่ไม่ได้ลงคะแนนให้เขา และเขาสัญญาว่าเขาจะดูปัญหานี้อย่างแน่นอน เพราะเขาไม่ใช่ประธานาธิบดีของขั้วอำนาจหรือฝ่ายการเมืองใดฝ่ายการเมืองหนึ่ง แต่เป็นประธานาธิบดีของคนฝรั่งเศสทุกคน

วันนี้ผลการเลือกตั้งที่ออกมา แสดงให้เห็นแล้วว่า คนฝรั่งเศสเริ่มหันเข้าสู่พรรคสายกลางมากขึ้น หลายคนไม่ได้ชอบมาครงเท่าไร โดยเฉพาะฝ่ายซ้ายและขวา แต่เมื่อมาครงสามารถครองเสียงส่วนใหญ่ของคนตรงกลางได้ เมื่อต้องเลือกประธานาธิบดีในรอบที่สอง ฝ่ายขวาก็มองว่าลงคะแนนให้สายกลาง ดีกว่าไปลงให้ฝ่ายซ้าย ในขณะที่ฝ่ายซ้ายก็มองว่าลงให้สายกลาง ดีกว่าไปลงในฝ่ายขวา

สุดท้ายคงต้องติดตามกันต่อไปว่านอกจากฝรั่งเศสแล้ว แนวโน้มทางการเมืองที่ผู้คนเริ่มเบื่อกับพวกสุดโต่ง ทั้งซ้าย-ขวา และมุ่งเข้าหาพรรคสายกลาง จะเกิดขึ้นในที่ใดบนโลกใบนี้อีกบ้าง

โดย กิตติธัช ชัยประสิทธิ์

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า