ค้นพบพลังงานใหม่ เปรียบเหมือนการพบขุมทรัพย์
มนุษย์ไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้เมื่อขาดพลังงาน
มันคงเป็นเรื่องที่มีผลกระทบกับเรามาก ๆ ถ้า หลอดไฟไม่มีกระแสไฟฟ้า หรือรถไม่มีน้ำมันให้เติม
และยิ่งวันเวลาผ่านไป “พลังงานก็จะยิ่งมีความหมายมากขึ้น” ทว่าพลังงานที่มนุษย์คุ้นเคยในปัจจุบันนี้ มาจากการพึ่งพิงทรัพยากรธรรมชาติที่ขุดได้ในแต่ละพื้นที่ ซึ่งเมื่อถึงวันนึงก็ต้องหมดไป จึงเป็นความจำเป็นของการแสวงหาแหล่งพลังงานใหม่ ๆ อยู่เสมอ แต่การค้นหาไม่ใช่ว่าจะทำกันได้ง่าย ๆ
ยกตัวอย่างการค้นหาแหล่งปิโตรเลียม ที่จะว่าไปแล้ว ก็เปรียบได้กับการค้นหาขุมทรัพย์ในยุคก่อน เพราะปิโตรเลียมส่วนใหญ่อยู่ใต้พื้นดินหรือใต้พื้นดินในทะเล การค้นพบในวิธีปกติธรรมดา แทบจะเป็นไปไม่ได้ หากแต่ต้องมีการสำรวจและขุดเจาะขึ้นมาเท่านั้น กระบวนการสำรวจค้นหาแหล่งปิโตรเลียมก็เต็มไปด้วยความยุ่งยากและซับซ้อน บนพื้นฐานการใช้เทคโนโลยีระดับสูงและเงินทุนจำนวนมหาศาล
เริ่มต้นด้วยการกางแผนที่มองความเป็นไปได้ว่าจะมีแหล่งพลังงาน เราจะเรียกว่าขั้นตอนการสำรวจหาปิโตรเลียม หลัก ๆ แล้วจะแบ่งเป็น 2 ส่วนดังนี้
ส่วนที่ 1 — การสำรวจทางธรณีวิทยา(Geological Exploration) เป็นการค้นหาโดยอาศัยภาพถ่ายทางอากาศหรือภาพถ่ายจากดาวเทียม เพื่อใช้ประกอบการคาดคะเนโครงสร้างของชั้นหินใต้พื้นดินแบบคร่าว ๆ จากนั้นนักธรณีวิทยาจะออกสำรวจพื้นที่ ตรวจสอบหินที่อยู่ตามพื้นดิน หน้าผา หรือในแหล่งน้ำทั่วบริเวณ เพื่อให้เกิดความเข้าใจลักษณะทางธรณีวิทยาของชั้นหินที่อยู่ลึกลงไปหลายกิโลเมตร โดยจะบันทึกข้อมูลทั้งหมดนี้ ส่งต่อสู่ขั้นตอนการสำรวจทางธรณีฟิสิกส์เพื่อยืนยันอีกชั้นหนึ่ง
ส่วนที่ 2 — การสำรวจทางธรณีฟิสิกส์ (Geophysical Exploration) ขั้นตอนการยืนยันหลังการสำรวจทางธรณีวิทยา ปัจจุบันมีหลายวิธีด้วยกัน แต่ที่นิยมใช้กันจะมี 2 วิธีคือ
1.การวัดค่าความไหวสะเทือน (Seismic Survey) เป็นการจุดระเบิดใต้พื้นดิน ให้เกิดคลื่น
ความไหวสะเทือนกระทบชั้นหินใต้ดินแล้วสะท้อนกลับมาสู่เครื่องรับสัญญาณโดยจะคำนวณหาความหนาและตำแหน่งของชั้นหิน
2.การวัดค่าความเข้มของสนามแม่เหล็ก (Electromagnetic Survey) เป็นการตรวจวัดค่าความเข้มของสนามแม่เหล็กโลกและค่าความโน้มถ่วง เพื่อช่วยในการกำหนดขอบเขตและรูปร่างของแอ่งตะกอนใต้ผิวโลกที่ลึกลงไป ว่ามีศักยภาพมากพอที่จะเป็นแหล่งผลิตปิโตรเลียมหรือไม่
ต่อมาจะเริ่มลงลึกในเรื่องของการเจาะสำรวจ (Drilling Exploration) หลังการประเมินทางธรณีวิทยาและทางธรณีฟิสิกส์ ก็จะสามารถกำหนดโครงสร้างที่คาดว่าน่าจะเป็นแหล่งกักเก็บปิโตรเลียมได้
กระบวนการเจาะสำรวจก็จะแยกย่อยเข้าไปอีกเริ่มจาก แท่นเจาะ(Drilling Rig) – ที่องค์ประกอบของแท่นเจาะจะขึ้นอยู่กับระดับความยากในการขุดเจาะของแหล่งปิโตรเลียมแต่ละแห่งซึ่งจะไม่มีรูปแบบที่แน่นอนและตายตัว แบ่งเป็น 2 ประเภทหลักคือ
1.บนบก แท่นเจาะบนบกในแต่ละแห่งจะไม่ต่างกันมาก
2.ในทะเล แท่นเจาะในทะเลแต่ละที่ จะมีความแตกต่างกันตามความเหมาะสมของสภาพแวดล้อมทางทะเลที่ต่างกันไป
การขุดเจาะนั้น จะต้องมีการติดตั้งเครื่องขุด รวมถึงวางก้านเจาะซึ่งเป็นช่องทางลำเลียงปิโตรเลียมให้ไหลมาตามท่อยาวหลายเมตร นอกจากนี้ยังต้องมีการหยั่งธรณี และการป้องกันหลุมเจาะเพื่อป้องกันอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นกับแท่นเจาะ และท่อส่ง ตามมาตรการป้องกันหลุม
ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้เป็นเพียงขั้นตอนเท่านั้น ซึ่งแน่นอนว่าโดยกระบวนการทั้งหมด ต้องอาศัยการลงทุนมูลค่ามหาศาล โดยที่ยังไม่อาจคาดเดาผลลัพธ์ที่ได้จากการขุดว่าสุดท้ายแล้ว จะคุ้มค่ากับการลงทุนหรือไม่ ถ้าคุ้มค่าก็ดีไป แต่หากไม่แล้ว บริษัททางด้านพลังงานที่ลงทุนในด้านนี้ก็จะได้รับเพียงรางวัลปลอบใจคือความรู้ด้านทฤษฎีเท่านั้น แต่นั่นก็ไม่ส่งผลให้ผู้นำด้านพลังงานของแต่ละประเทศทั่วโลกหยุดค้นหาแหล่งพลังงานใหม่ ๆ เพื่อทุกคนในประเทศได้
นั่นเพราะทุกประเทศต่างเข้าใจดีว่า พลังงานคือส่วนสำคัญที่สุดส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนประเทศในทุกๆ ด้านอย่างแท้จริง
โดย : ภาสวิชญ์
Here We Go (92) วิกฤตหนัก ตกลงเศรษฐกิจไทยกำลังอยู่ในภาวะวิกฤต หรือเป็น ‘เพื่อไทย’ ที่กำลังวิกฤต
ศิราวุธ ภุมมะกสิกร
อดีตวิศวกรโครงการ ระดับผู้จัดการ จบปริญญาตรีวิศวกรรมเครื่องกล จาก พระจอมเกล้าธนบุรี และ โท ด้าน Advanced Manufacturing Engineering จาก University of South Australia มีความสนใจในเรื่องประวัติศาสตร์ การเมือง และสวัสดิการสังคม