‘ความเท่าเทียม’ วาทะกรรมที่ ‘ผูกขาดมาตรฐานสังคม’ และทำลาย ‘ความหลากหลายของสังคม’
ความเท่าเทียม ที่มีความหมายอันลึกซึ้งในฐานะอุดมการณ์หนี่งของแนวคิดเสรีประชาธิปไตยที่มีจุดประสงค์ให้มนุษย์ทุกคนสามารถเข้าถึงโอกาสต่าง ๆ โดยมีข้อจำกัดน้อยที่สุด ผ่านกฎเกณฑ์ที่เอื้ออำนวยกับทุกกลุ่มคน และเมื่อถึงจุดหนึ่งก็จะพัฒนากลายเป็น ความยุติธรรมที่มนุษย์อยู่ในมาตรฐานเดียวกัน
และในบางครั้ง ความเท่าเทียม ก็ถูกใช้ในฐานะวาทกรรมหนึ่งในการยกระดับตนเองในบทบาทของผู้ด้อยโอกาสที่ต้องการเข้าถึงโอกาสใหม่ ๆ และสามารถต่อยอดคุณภาพชีวิตของตนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น
ซึ่งตรงนี้ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ดีในการเติมเต็มช่องว่างของโอกาสและยกระดับตนเองให้สูงขึ้น กล่าวได้ว่าเป็นข้อดีสำคัญของอุดมการณ์ความเท่าเทียมในการยกระดับคนด้อยโอกาสให้มีโอกาสในการผลักดันชีวิตให้ก้าวหน้า
ทว่า ความเท่าเทียม ก็สามารถถูกหยิบยกในฐานะวาทกรรมทางการเมืองที่ใช้ในการกดทับผู้อื่นให้ต่ำลงเท่าตนเอง หรืออาจยิ่งกว่า เพราะเพียงมองว่า ไม่เท่าเทียมเท่าตนเองบ้าง เหลื่อมล้ำบ้าง ไม่ยุติธรรมบ้าง จากเหตุผลสารพัด
และบ่อยครั้งที่การกดทับดังกล่าวก็เป็นการกลบปมด้อยของตนเอง
หรือที่ร้ายกว่านั้นคือเป็นการแสดงออกจากพฤติกรรมของความอิจฉาริษยาที่รับไม่ได้กับความดีกว่าของผู้อื่นเมื่อเทียบกับตนเอง
ตรงนี้ คือ จุดเริ่มต้นของการล้างผลาญใส่กันเพราะต้องการตอบสนองคุณค่าอุดมการณ์ของความเท่าเทียมที่กลายเป็นความเท่าเทียมแบบมาตรฐานเดียวและผูกขาดมาตรฐานดังกล่าว จนทำลายความหลากหลายของสังคมหมดสิ้น เพราะความหลากหลายในหลายเรื่องจะถูกมองว่า เป็นความไม่เท่าเทียม
และทุกอุดมการณ์ที่มีความเท่าเทียมอยู่ในทฤษฎีอุดมการณ์อะไรต่าง ๆ ก็มักจะใช้ไม่ได้จริง ก็ด้วยเรื่องความเท่าเทียมที่กลายเป็นมาตรฐานเดียวในการวัดสังคม ซึ่งสุดท้ายก็คือการสร้างความเหลื่อมล้ำในอีกรูปแบบหนึ่งที่เป็นการกีดกันความคิดหนึ่ง กลุ่มคนหนึ่ง ออกจากกรอบอุดมการณ์ที่ยึดถือ
ซึ่งยังไม่นับว่า ความเท่าเทียมก็ไม่ได้มีความหมายเดียวกับคำว่า “เสมอภาค” กลายเป็นความเหลื่อมล้ำในความเท่าเทียมอีกทีหนึ่งที่บุคคลหนึ่งสมควรได้รับสิทธิความเท่าเทียมมากกว่าอีกบุคคลหนึ่งด้วยเหตุผลนานานับประการอันนำไปสู่การปิดกั้นโอกาสในการขยับขยายคุณภาพชีวิตที่ควรจะเป็น
ในกรณีหนึ่งที่สามารถเข้าใจความเหลื่อมล้ำในความเท่าเทียมได้โดยง่าย คือ การแจกเงินให้ทุกคนอย่างเท่ากัน ซึ่งจุดแรกคือ จะเอาเงินจากไหน ผู้คนก็มักจะนำเสนอให้เอาเงินของคนรวยที่สุดที่มีเกินมาตรฐานรายได้ปกติของคนทั่วไปมาแบ่งกันผ่านกระบวนการต่าง ๆ เพราะมองว่าไม่เท่าเทียม เหลื่อมล้ำบ้าง อะไรบ้าง
แค่ตรงนี้ก็เหลื่อมล้ำแล้ว เพราะกลุ่มคนหลายกลุ่มทำงานหนักมากมายแต่กลับต้องถูกแบ่งให้คนอื่น ๆ เพราะจะได้เท่าเทียมกัน
แล้วแบบนี้จะทำงานหนักเพื่ออะไร ?
ในเมื่อต้องแบ่งส่วนเกินให้คนอื่น ๆ ที่ไม่ได้ลงเงิน ลงแรงเท่ากับตนเอง
ในกฎเกณฑ์เดียวกัน ดังนั้นในสังคมที่มีการยัดเยียดแนวคิดความเท่าเทียมรุนแรงมาก ๆ อย่างในลัทธิคอมมิวนิสต์ จึงมักประสบปัญหาแรงจูงใจในการแข่งขันและการพัฒนาตนเองอยู่บ่อย ๆ
จุดต่อไปคือ การแบ่งให้ทุกคนโดยเท่ากัน แต่ความรู้ในการบริหารการจัดการใช้เงินมีไม่เหมือนกันในแต่ละคนที่ได้รับ ซึ่งเมื่อเวลาผ่านไป ก็จะมีบุคคลที่จะมีเงินมากขึ้น และก็จะมีบุคคลที่จะมีเงินน้อยลง แล้วก็กลายเป็นความไม่เท่าเทียมที่จะกลับมาเกิดขึ้นอีก
เพราะในความเป็นจริง การรับรู้อะไรมากกว่าคนอื่นก็คือการเข้าถึงโอกาสในการขยับขยายคุณภาพชีวิตให้ดียิ่งขึ้นอยู่แล้ว แม้ว่าจะมีตัวเงินเหมือนกันก็ตาม
สุดท้ายนี้ ความเท่าเทียม คือ สิ่งที่ดี เมื่อถูกเอาไปใช้ในบริบทที่เหมาะสม และไม่ได้ใช้เพื่อกดทับกลุ่มคนที่มีความสามารถมากกว่าตนให้ต้องตกต่ำหรือด้อยค่าตามตนเอง เพราะเข้าถึงความสามารถแบบนั้นไม่ได้
ซึ่งความเท่าเทียมที่ดีก็คือ ความยุติธรรมที่มีมาตรฐานที่ทุกคนเข้าถึงได้ เข้าใจได้ และรองรับความคิดสร้างสรรค์ การลงมือทำของมนุษย์ ในการผลักดันเป้าหมายชีวิต สิ่งเหล่านี้สุดท้ายแล้วย่อมเป็นที่ยอมรับในสังคมในฐานะคุณค่าอุดมการณ์ประชาธิปไตยที่เป็นพื้นที่ของทุกคนและไม่กดทับกลุ่มคนใด ๆ
โดย ชย
แนวคิดรัฐนำเศรษฐกิจ ที่ไม่ได้ใหม่ และเคยซ้ำเติมวิกฤตเศรษฐกิจโลกให้รุนแรงยิ่งขึ้น
จีน – รัสเซีย พันธมิตรทางการเมืองที่มีทั้งความแน่นแฟ้นและความขัดแย้งในตัวเอง
ศิราวุธ ภุมมะกสิกร
อดีตวิศวกรโครงการ ระดับผู้จัดการ จบปริญญาตรีวิศวกรรมเครื่องกล จาก พระจอมเกล้าธนบุรี และ โท ด้าน Advanced Manufacturing Engineering จาก University of South Australia มีความสนใจในเรื่องประวัติศาสตร์ การเมือง และสวัสดิการสังคม