Newsข่าวต่างประเทศ“ความมั่นคงทางพลังงาน” เครื่องมือทางการเมืองและเศรษฐกิจที่ทรงประสิทธิภาพในโลกปัจจุบัน

“ความมั่นคงทางพลังงาน” เครื่องมือทางการเมืองและเศรษฐกิจที่ทรงประสิทธิภาพในโลกปัจจุบัน

“ความมั่นคงทางพลังงาน” นิยามตรงตัวทั่วไป คือ การรักษาเสถียรภาพของระบบพลังงาน ซึ่งไม่ได้หมายความเพียงแค่ว่าจะต้องพึ่งพาตนเองในการผลิตกระแสไฟฟ้า หรือใช้วัตถุดิบภายในประเทศเพื่อการผลิตเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังหมายถึงการรักษาการพึ่งพิงการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากต่างประเทศ หรือการนำเข้าวัตถุดิบเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าภายในประเทศอย่างสม่ำเสมอ ในบริบททางเศรษฐกิจและการเมือง

 

ความมั่นคงทางพลังงานยังไม่ใช่เพียงแค่การผลิตกระแสไฟฟ้าให้เพียงพอกับความต้องการเท่านั้น แต่รวมถึงระดับราคาของไฟฟ้าจากการผลิตดังกล่าว และผลข้างเคียงต่าง ๆ จากการผลิตไฟฟ้า ทั้งในประเด็นสิ่งแวดล้อม สังคม เศรษฐกิจและเสถียรภาพในภาพรวม ซึ่งได้กลายเป็นข้อถกเถียงของสังคมมาอย่างยาวนาน

 

ไม่ว่าจะเป็นการผลิตกระแสไฟฟ้าที่ใช้กระบวนการผลิตและแหล่งวัตถุดิบที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในรูปแบบของแหล่งผลิตไฟฟ้าขนาดใหญ่ การผลิตกระแสไฟฟ้าที่เน้นการกระจายตามพื้นที่ต่าง ๆ และสามารถผลิตไฟฟ้าจากครัวเรือนหรืออาคารเพื่อพึ่งพาตนเอง การผลิตกระแสไฟฟ้าที่เน้นการผลิตที่มีต้นทุนต่ำและสามารถทำให้ต้นทุนราคาไฟฟ้ามีราคาถูก และส่งเสริมระบบเศรษฐกิจให้เติบโตไปได้ในระยะยาว

 

ทั้งนี้ในปัจจุบันสัดส่วนการผลิตกระแสไฟฟ้าของไทยมีทั้งการผลิตกระแสไฟฟ้าจากภาครัฐในรูปของรัฐวิสาหกิจ และการผลิตจากภาคเอกชนซึ่งมีบทบาทมากขึ้นในปัจจุบัน ต่างจากเดิมที่ภาครัฐจะมีบทบาทหลักในการผลิตกระแสไฟฟ้ามาโดยตลอดผ่านโรงไฟฟ้าของรัฐที่มีอยู่ภายในประเทศ

 

แต่เมื่อกระแสความคิดด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม เข้ามามีบทบาทในเรื่องพลังงานรวมทั้งการเกิดขึ้นของแนวคิดการต่อต้านการเกิดขึ้นของโรงไฟฟ้าของรัฐ ผ่านองค์กรภาคประชาสังคมต่าง ๆ ด้วยเหตุผลด้านสิ่งแวดล้อมและผลกระทบด้านสังคม จึงทำให้สัดส่วนการผลิตของรัฐลดลงเรื่อย ๆ ในขณะที่ภาคเอกชนมีแนวโน้มการผลิตกระแสไฟฟ้าสูงขึ้นจนมีบทบาทสำคัญในการผลิตกระแสไฟฟ้าภายในประเทศ

 

ประกอบกับเกิดการลงทุนธุรกิจโรงไฟฟ้าในประเทศเพื่อนบ้านโดยภาคเอกชน เพื่อนำกระแสไฟฟ้าเข้ามาในประเทศ  ซึ่งการลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าในประเทศเพื่อนบ้าน ไม่ว่าจะเป็นโรงไฟฟ้าจากพลังงานฟอสซิลหรือเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้า สามารถทำได้ง่ายกว่าการลงทุนภายในประเทศที่มีข้อจำกัดมากกว่า โดยเฉพาะการต้องเผชิญกับกระแสต่อต้านโรงไฟฟ้าใหม่ ๆ ในประเทศทั้งของภาครัฐและภาคเอกชน

 

นอกจากนี้ยังพบอีกว่า ในช่วงระยะหลังนี้พลังงานทดแทนในประเทศเริ่มมีบทบาทมากขึ้น ซึ่งข้อจำกัดสำคัญของพลังงานทดแทนคือ การรักษาเสถียรภาพในการผลิตกระแสไฟฟ้า เพราะเมื่ออุณหภูมิ ความเข้มข้นของแสงและลม เปลี่ยนไป ประสิทธิผลของการผลิตกระแสไฟฟ้าจะเปลี่ยนแปลงไปด้วย ซึ่งย่อมเป็นการบั่นทอนเสถียรภาพความมั่นคงทางพลังงานโดยตรง

 

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือ พลังงานจากแผงแสงอาทิตย์ที่สามารถรับพลังงานในช่วงเวลากลางวัน พลังงานจากแผงลมที่รับพลังงานในช่วงที่กระแสลมแรง ซึ่งในช่วงเวลาที่ไม่สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ ถ้าไม่ได้ใช้พลังงานสำรองในส่วนนี้ก็ยังสามารถเข้ามาใช้พลังงานในระบบการผลิตกระแสไฟฟ้าหลัก ซึ่งจะเป็นเพิ่มระดับการใช้พลังงานสูงสุด

 

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในช่วงเวลาที่การผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนกลับได้ประสิทธิผลน้อย เพราะอยู่ในช่วงที่แสงแดดอ่อน หรือกระแสลมเบา และอยู่ในช่วงที่มีปริมาณการใช้กระแสไฟฟ้าในระบบเป็นจำนวนมากก็จะยิ่งเพิ่มระดับการใช้กระแสไฟฟ้าสูงสุดให้สูงขึ้นไปอีก ทั้งนี้ พลังงานทดแทนบางชนิด เช่น พลังงานจากคลื่น หรือพลังงานใต้พื้นพิภพ จะมีความคงที่ในการผลิตกระแสไฟฟ้ามากกว่า เนื่องจากมีปัจจัยแปรปรวนที่น้อยกว่า

 

ผลที่ตามมาคือ มาตรการการผลิตกระแสไฟฟ้าที่มีปริมาณการผลิตเกินและถูกนำมาเป็นกระแสไฟฟ้าสำรอง จึงต้องสำรองระดับกระแสไฟฟ้าในระดับที่สูงขึ้นจากระดับปกติมากขึ้นไปอีก ซึ่งในช่วงหลายสิบปีก่อนหน้านี้ การสำรองการผลิตกระแสไฟฟ้าอาจมีระดับการสำรองที่ไม่สูงมากนัก เพราะมักใช้กระแสไฟฟ้าจากระบบการผลิตกระแสไฟฟ้าหลัก และมีระดับการใช้พลังงานโดยเฉลี่ยที่เพิ่มขึ้นอย่างสม่ำเสมอ

 

แต่เมื่อพลังงานทดแทนเข้ามามีบทบาทในการผลิตกระแสไฟฟ้าในครัวเรือนมากขึ้น จึงเกิดบริบทที่ในช่วงเวลาหนึ่งระดับการใช้กระแสไฟฟ้าโดยเฉลี่ยจะมีการใช้กระแสไฟฟ้าในระบบน้อยลง เพราะมีการใช้กระแสไฟฟ้าผ่านแหล่งพลังงานทดแทน แต่เมื่อถึงช่วงเวลาหนึ่งที่การผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนยุติลงจากข้อจำกัดข้างต้น โดยมากแล้วจะมีการกลับเข้ามาใช้กระแสไฟฟ้าในระบบการผลิตกระแสไฟฟ้าหลักของประเทศ โดยเฉพาะในช่วงเวลากลางคืน

 

ส่งผลให้ระดับการใช้พลังงานสูงสุดสามารถเพิ่มขึ้นจากเดิมในช่วงระยะห่างที่กว้างขึ้นกว่าปกติ ทำให้มาตรการสำรองกระแสไฟฟ้าที่แต่เดิมสำรองในระดับหนึ่ง จำเป็นที่ต้องยกระดับการสำรองกระแสไฟฟ้าให้กว้างขึ้นตามระยะห่างที่กว้างขึ้น เพื่อเป็นการเผื่อและป้องกันไม่ให้เกิดการใช้กระแสไฟฟ้าเกินขีดจำกัดของระบบกระแสไฟฟ้า ซึ่งจะทำให้เกิดภาวะไฟฟ้าดับทั้งระบบการผลิตกระแสไฟฟ้าและทำให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจตามมาได้

 

ด้วยองค์ประกอบและรูปแบบการผลิตกระแสไฟฟ้าในลักษณะนี้ ต้องพึ่งพิงปัจจัยภายนอกเป็นอย่างมาก และมีต้นทุนการผลิตกระแสไฟฟ้าค่อนข้างสูง ทั้งวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้าที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ โรงไฟฟ้าหลายโรงตั้งอยู่นอกประเทศและมีบทบาทในการส่งกระแสไฟฟ้าเข้ามาในประเทศ รวมทั้งสัดส่วนการผลิตกระแสไฟฟ้าที่เอกชนมีบทบาทสูงในช่วงระยะหลังมานี้

 

อีกทั้งเมื่อราคาสินค้าพลังงานปรับสูงขึ้นจากสถานการณ์โลกที่ตึงเครียดและปัจจัยภายนอกอื่น ๆ ทำให้ต้นทุนการผลิตกระแสไฟฟ้าที่สูงอยู่แล้ว ยิ่งสูงขึ้นไปอีก จนกลายเป็นที่มาของค่าไฟฟ้าที่ทยอยปรับสูงขึ้นตามกลไกของตลาดโลก ตราบใดที่ไม่มีการแทรกแซงใด ๆ จากภาครัฐหรือภาคส่วนอื่นที่เกี่ยวข้อง

 

ท่ามกลางความตึงเครียดของสังคมโลกปัจจุบัน ประเด็นเรื่องความมั่นคงทางพลังงานเริ่มกลับมาได้รับความสำคัญอีกครั้ง โดยเฉพาะเมื่อบริบทความมั่นคงทางพลังงานเริ่มถูกสั่นคลอนครั้งใหญ่จากหลายสาเหตุ และเริ่มมีข้อกังขามากมายเกี่ยวกับการพึ่งพิงทางพลังงานจากประเทศอื่นที่ไม่ได้เป็นมิตร และการหวนคืนสู่การพึ่งพาตนเองในหลายเรื่อง โดยเฉพาะด้านพลังงานและปัจจัยพื้นฐานในชีวิตที่กลายเป็นประเด็นหลักในปัจจุบัน

 

ความมั่นคงทางพลังงานสามารถเป็นได้ทั้งเครื่องมือที่เป็นมิตรต่อการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจในรูปแบบของการใช้แหล่งพลังงานในราคาถูก หรือการหลบหลีกข้อจำกัดของประเทศคู่ค้าในการผลิตกระแสไฟฟ้าโดยตรงผ่านการนำเข้าจากประเทศรอบข้าง หรือการให้เอกชนร่วมผลิตกระแสไฟฟ้า และขณะเดียวกันยังสามารถใช้เป็นเครื่องมือต่อรองทางการเมืองทั้งในและต่างประเทศได้ในเวลาเดียวกัน

 

ดังนั้น ความมั่นคงทางพลังงานย่อมมีหลายความหมาย หลายความเข้าใจ แต่สิ่งที่ควรมีร่วมกันคือ ความเข้าใจในการรักษาเสถียรภาพในการผลิตกระแสไฟฟ้า ความเข้าใจถึงผลที่จะตามมาจากการตัดสินใจเลือกในวิธีการใดๆ ในการผลิตกระแสไฟฟ้า และความเข้าใจในบริบทโลกที่ส่งผลต่อต้นทุนสำคัญในชีวิตประจำวันอย่าง “ค่าไฟฟ้า” และค่าใช้จ่ายอื่นที่จะตามมา

 

“เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นในตอนนี้ คือ ผลพวงสำคัญจากรูปแบบการผลิตกระแสไฟฟ้าในอดีต และได้ส่งผลกระทบครั้งใหญ่มาจนถึงปัจจุบัน”

 

โดย ชย

อดีตวิศวกรโครงการ ระดับผู้จัดการ จบปริญญาตรีวิศวกรรมเครื่องกล จาก พระจอมเกล้าธนบุรี และ โท ด้าน Advanced Manufacturing Engineering จาก University of South Australia มีความสนใจในเรื่องประวัติศาสตร์ การเมือง และสวัสดิการสังคม

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า