“ข้อความแชท” ใช้เป็นหลักฐานในคดีได้หรือไม่ ?
จากกรณีที่คุณแตงโม นิดา พัชรวีระพงษ์ ดาราสาวชื่อดัง หลังพลัดตกเรือกลางแม่น้ำเจ้าพระยาแล้วจมน้ำหายไป ช่วงค่ำวันที่ 24 ก.พ. ที่ผ่านมาก่อนจะมาพบร่างไร้วิญญาณของเธอ ในช่วงบ่ายวันที่ 26 ก.พ. และเรื่องราวการเสียชีวิตของเธอก็ยังคงเป็นปริศนามาจนถึงวันนี้ จนกระทั่งรายการโหนกระแสของสถานีโทรทัศน์ช่อง 3 ได้เชิญ ผู้ร่วมเหตุการณ์วันนั้นมาหลายคน เช่น ปอ ตนุภัทร, แอนนา ทีวีพูล ,คุณกระติก อิจศรินทร์ จุฑาสุขสวัสดิ์ ผู้จัดการส่วนตัวของ แตงโมเอง มาแถลงไข รวมทั้ง เปิดข้อความกับแตงโม ที่มีการชวนขึ้นเรือ โดยมีประเด็นสำคัญคือ การยืนยันในข้อเท็จจริงว่าแตงโมตกเรือเพราะมีการไปปัสสาวะที่ท้ายเรือ ถึงอย่างไรก็ดี หากมองในมุมของกฎหมาย ข้อความแชทนี้จะใช้ยืนยันข้อเท็จจริงนี้ได้หรือไม่? เท่าไหร่? เพียงใด?
ในกฎหมายนั้น สิ่งที่ใช้ยืนยันข้อเท็จจริงในคดีก็คือ พยานหลักฐาน ซึ่งข้อความแชทนั้นถือว่าเป็นข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ โดยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ มาตรา 11 นั้นยืนยันว่าสามารถนำมารับฟังเป็นพยานหลักฐานในกระบวนการพิจารณาตามกฎหมายทั้งคดีแพ่งและอาญาได้ ดังนั้นข้อความแชทจึงสามารถนำมาใช้เป็นพยานหลักฐานเพื่อพิสูจน์ความจริงในคดีนี้ได้
อย่างไรก็ดีศาลจะรับฟังได้ไหมและหากได้มีน้ำหนักแค่ไหนกัน?
การจะรู้ว่าพยานหลักฐานชิ้นใดรับฟังได้ไหม ขั้นแรกต้องดูก่อนว่าเป็นหลักฐานประเภทไหน ซึ่งตามกรณีข่าวแตงโม ข้อความแชทมีเนื้อหาที่เป็นการบอกเล่าเรื่องว่าเกิดอะไรขึ้นในคืนที่คุณแตงโมตกน้ำและถูกนำมาอ้างเพื่อพิสูจน์ความจริงถึงสาเหตุที่คุณแตงโมตกน้ำ ข้อความแชทจึงเป็นพยานบอกเล่า (Hearsay Witness) ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา226/3 วรรคแรก และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 95/1
เมื่อข้อความแชทเป็นพยานบอกเล่าแล้ว ตามกฎหมายนั้นกำหนดมิให้ศาลรับฟังพยานบอกเล่า เว้นแต่ (1) ตามสภาพ ลักษณะ แหล่งที่มา และข้อเท็จจริงแวดล้อมของพยานบอกเล่านั้นน่าเชื่อว่าจะพิสูจน์ความจริงได้ หรือ (2) มีเหตุจำเป็น เนื่องจากไม่สามารถนำบุคคลซึ่งเป็นผู้ที่ได้เห็น ได้ยิน หรือทราบข้อความเกี่ยวในเรื่องที่จะให้การเป็นพยานนั้นด้วยตนเองโดยตรงมาเป็นพยานได้ และมีเหตุผลสมควรเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมที่จะรับฟังพยานบอกเล่านั้น กล่าวคือ โดยหลักแล้วข้อความแชทนี้จะถูกห้ามรับฟังเป็นพยานหลักฐานในคดี เว้นแต่มีคุณค่าในเชิงพิสูจน์ความจริงสูง (probative value) เช่น เป็นส่วนหนึ่งในเหตุการณ์หรือเป็นคำบอกเล่าในระยะกระชั้นชิดกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งผู้เล่าไม่มีเวลาจะคิดแต่งเติมได้
และมีความจำเป็นที่ต้องฟังเพราะไม่สามารถนำบุคคลที่ได้เห็นเหตุการณ์จริงมาเป็นพยานได้ด้วยตนเองได้และพยานบอกเล่าดังกล่าวก็มีความน่าเชื่อถืออยู่ระดับหนึ่ง ซึ่งก็เป็นดุลพินิจของศาลที่จะรับฟัง
นอกจากนี้แม้รับฟังได้ แต่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227/1 ก็วางหลักในการชั่งน้ำหนักพยานนี้ว่า ต้องกระทำด้วยความระมัดระวัง และไม่ควรเชื่อพยานหลักฐานนั้นโดยลำพังเพื่อลงโทษจำเลย เว้นแต่จะมีเหตุผลอันหนักแน่น มีพฤติการณ์พิเศษแห่งคดี หรือมีพยานหลักฐานประกอบอื่นมาสนับสนุน
ดังนั้น จึงสรุปได้ว่า ข้อความแชทในกรณีดังกล่าวใช้อ้างเป็นพยานหลักฐานได้และก็อาจรับฟังได้ตามกฎหมายในฐานะพยานบอกเล่าหากศาลใช้ดุลพินิจให้รับฟังได้ แต่ตามกฎหมายนั้นถือว่ามีน้ำหนักน้อยกว่าพยานหลักฐานประเภทอื่นๆ เท่านั้นเอง
อ้างอิง :
[1] จรัญ ภักดีธนากุล, บทตัดพยานบอกเล่า
[2] เข็มชัย ชุติวงศ์, คำอธิบายกฎหมายลักษณะพยาน, สำนักพิมพ์นิติบรรณาการ (พิมพ์ครั้งที่8) 2551
[3] ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
[4] ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง