ทำความเข้าใจ การเติบโตของธุรกิจในยุคปัจจุบัน อาจมาจากหลายช่องทางประกอบกัน กำไรของ ปตท. มาจากไหนบ้าง
หลายครั้งเวลาเราพูดถึงบริษัทชั้นนำของประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็น ซีพี, เซ็นทรัลฯ, ช้าง หรือ สิงห์ เรามักจะเห็นภาพผลิตภัณฑ์หรือบริการของพวกเขาที่เด่นๆ และเป็นที่จดจำเพียงไม่กี่อย่าง ตัวอย่างเช่น ซีพี ก็เป็นที่รู้กันในฐานะบริษัทที่ประกอบธุรกิจผลิตภัณฑ์อาหาร หรืออาจรวมถึงร้านค้าปลีกอย่าง เซเว่น-อีเลฟเว่น เข้าไปด้วย, ส่วนชื่อ เซ็นทรัลฯ ก็เป็นที่ทราบกันดีว่าทำธุรกิจห้างสรรพสินค้า, ช้างและสิงห์ ก็บริษัทธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นต้น แต่ในความเป็นจริงบริษัทต่าง ๆ เหล่านี้ยังคงประกอบธุรกิจอื่นอีกหลากหลายประเภท มากกว่าแค่ธุรกิจหลักที่เราคุ้นหน้าคุ้นตากัน
เรื่องนี้ไม่ใช่สิ่งที่แปลกประหลาดใดๆ เพราะเครือบริษัทใหญ่ทุกๆ แห่ง เมื่อถึงเวลาหนึ่งก็จะต้องมองหาช่องทางในการลงทุนกับธุรกิจอื่นๆ เพื่อนำรายได้มาสนับสนุนธุรกิจเดิมที่ดำเนินอยู่ และทำให้บริษัทตนเองนั้นมีความมั่นคงสืบต่อไป และนี่ก็ไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นกับกลุ่มธุรกิจในประเทศไทยเราเพียงอย่างเดียว แต่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้กับทุกๆ บริษัทชั้นนำทั่วโลก
ยกตัวอย่างให้เห็นอีกกรณีหนึ่งที่น่าสนใจ โนเกีย (Nokia) บริษัทระดับโลกที่เคยเป็นผู้นำแห่งตลาดโทรศัพท์มือถือ กลับมีต้นกำเนิดมาจากโรงงานผลิตเยื่อไม้และเศษกระดาษ (pulp mill) และต่อมาก็ได้ขยายไปทำกิจการอื่น ๆ เช่น ผลิตยางรถยนต์ และผลิตไฟฟ้า จนมาลงเอยที่การธุรกิจเครื่องใช้อิเล็กโทรนิกส์และโทรศัพท์มือถือ [1]
กลับมาที่ประเทศไทย บริษัทชั้นนำอีกบริษัทหนึ่งที่ยังไม่ได้กล่าวถึงก็เช่น บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ซึ่งก็เป็นอีกหนึ่งบริษัทสัญชาติไทยที่มีขนาดใหญ่ ประกอบธุรกิจมากกว่าหนึ่งประเภท และมีโครงสร้างที่ซับซ้อนเป็นอย่างมาก ไม่ได้ดำเนินกิจการน้ำมันเชื้อเพลิงและปิโตรเลียมเพียงอย่างเดียว แบรนด์ต่างๆ ที่เราอาจะคุ้นเคย เช่น ร้านกาแฟ Cafe Amazon หรือร้านโดนัท Daddy Dough ก็เป็นแบรนด์ที่อยู่ในเครือของปตท. หรืออย่างเช่นร้านไก่ทอด Texas ก็เป็นหนึ่งในธุรกิจในเครือปตท.ด้วย
และเป็นเรื่องธรรมดาสำหรับบริษัทที่มีโครงสร้างขนาดใหญ่ต่างๆ เหล่านี้ที่จะได้กำไรมาจากหลากหลายธุรกิจที่พวกเขาดำเนินกิจการ และไม่เพียงเท่านั้น ธุรกิจที่เป็น “ตัวชูธง” เป็นแบรนด์หรือเป็นผลิตภัณฑ์ที่ผู้คนคุ้นเคยกันมากกว่าตัวอื่นๆ นั้นกลับอาจจะเป็นตัวทำกำไรได้น้อยกว่าธุรกิจอื่นๆ ที่เป็นที่รู้จักน้อยกว่าก็เป็นได้
หากยกเอา ปตท. มาเป็นกรณีตัวอย่าง จากข้อมูลที่ปรากฏนั้น เราจะเห็นได้ว่ากำไรของบริษัท (ซึ่งเป็นคิดเพียง 5% ของรายได้ทั้งหมด) ในครึ่งปีแรกนั้น แบ่งได้ดังนี้ กลุ่มแรก คือกลุ่มที่เป็นธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับน้ำมันเชื้อเพลิงและปิโตรเลียมโดยตรง ซึ่งในส่วนของ บริษัท ปตท. นั้นมีสัดส่วนอยู่ที่ 24% ของกำไรทั้งหมด ต่อมาคือ บริษัท ปตท.สผ. (สำรวจและผลิตปิโตรเลียม) อยู่ที่ 31% และอีก 16% คือธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่น ในขณะที่อีกกลุ่มหนึ่งคือ ธุรกิจใหม่และบริษัทย่อยๆ รวมทั้งการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งมีสัดส่วนอยู่ที่ 17% และท้ายที่สุดคือกลุ่มธุรกิจน้ำมันและค้าปลีก (OR) ซึ่งดูแลสถานีบริการและร้านค้าต่างๆ นั้นอยู่ที่ 12% เท่านั้น โดยเฉพาะถ้าหากคิดเทียบกับรายได้เฉพาะในส่วนธุรกิจน้ำมันและค้าปลีกนั้น กำไรจริงๆ จะอยู่ที่ 4% เท่านั้น [2]
ปตท. จึงเป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนที่การเติบโตและที่มาของผลกำไร มาจากหลายภาคส่วนธุรกิจและการลงทุนที่ประกอบกัน และไม่ได้พึ่งพิงอยู่กับการขายน้ำมันเพียงอย่างเดียว ดังที่ปรากฏจากข้อมูลก่อนหน้า จะเห็นได้ว่า ทั้งที่เป็นบริษัทประกอบกิจการน้ำมัน แต่ ปตท. กลับได้กำไรจากการค้าขายน้ำมันในสัดส่วนเพียงไม่กี่
เปอร์เซนต์เท่านั้น ไม่เพียงเท่านั้น ตัวเลขดังกล่าวนี้ยังไม่ได้เป็นการแบ่งระหว่างการค้าปลีกน้ำมันและการค้าปลีกของร้านค้าอื่นๆ ด้วยซ้ำ ซึ่งถ้าแจกแจงต่อไป ก็จะยิ่งเห็นได้ชัดว่า กำไรของ ปตท. นั้นไม่ได้มาจากน้ำมันเป็นหลัก แต่เป็นการรวมกันของธุรกิจอื่นๆ ทั้งหมด
นี่เป็นเพียงตัวอย่างของบริษัทชั้นนำเพียงแห่งเดียวเท่านั้นที่เรายกขึ้นมาแจกแจงให้เห็นว่าการดำเนินการของพวกเขานั้น ไม่ได้จำกัดอยู่แต่เพียงธุรกิจเดียวหรือสินค้าเพียงแบรนด์เดียว เครือบริษัทชั้นนำสัญชาติไทยอื่นๆ ก็เช่นเดียวกัน พวกเขาก็ไม่ได้ดำเนินกิจการและได้กำไรจากธุรกิจประเภทเดียว พวกเขาต้องลงทุนและพัฒนาธุรกิจให้หลากหลายและทันกับยุคสมัย หากกลับมายกตัวอย่างของ ปตท. ก็ยังมีการเริ่มขยายไปดำเนินกิจการด้านอื่นๆ ที่กำลังเริ่มมีความสำคัญต่อการพัฒนาของสังคม-เศรษฐกิจของประเทศ และรวมทั้งด้านสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตของคนไทยด้วย ยกตัวอย่างเช่น ธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้า, ธุรกิจด้านวิทยาศาสตร์เพื่อชีวิต เช่น ธุรกิจยา ธุรกิจอาหารเพื่อสุขภาพ ธุรกิจอุปกรณ์และการวินิจฉัยทางการแพทย์ เป็นต้น ซึ่งทั้งหมดก็ตัวอย่างของการที่บริษัทต่างๆ นั้นต้องพัฒนาธุรกิจด้านต่างๆ เพื่อให้ตอบรับความต้องการของผู้บริโภคและตลาดที่เติบโตและเปลี่ยนแปลงไปอยู่เรื่อยๆ นั่นเอง
# TheStructureArticle
#กำไร #ปตท
เปิดปม “เหมืองทองอัครา” ไทยเสียค่าโง่จากการใช้ ม.44 ของพลเอกประยุทธ์จริงหรือ?
‘ยุโรปไม่ใช่ศูนย์กลางของโลก’ เมื่อผู้นำต่างประเทศตั้งคำถามต่อมหาอำนาจ และเหตุใดที่ไทยยังคงปิดตาเดินตามตะวันตก?
ศิราวุธ ภุมมะกสิกร
อดีตวิศวกรโครงการ ระดับผู้จัดการ จบปริญญาตรีวิศวกรรมเครื่องกล จาก พระจอมเกล้าธนบุรี และ โท ด้าน Advanced Manufacturing Engineering จาก University of South Australia มีความสนใจในเรื่องประวัติศาสตร์ การเมือง และสวัสดิการสังคม